Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สำรวจการจัดการ "ขยะอาหาร" อย่างยั่งยืน ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเอเชีย

สำรวจการจัดการ "ขยะอาหาร" อย่างยั่งยืน ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเอเชีย

25 ก.พ. 68
00:05 น.
|
9
แชร์

สำรวจมาตรการ การบริหาร การจัดการ "ขยะอาหาร" อย่างยั่งยืน ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในแถบเอเชีย

ขยะอาหาร หมายถึง การทิ้งอาหารหรือสิ่งที่ใช้แทนอาหารซึ่งสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ในปัจจุบันโลกของเราทิ้ง "ขยะอาหาร" ถึงปีละ 1.3 พันล้านตัน ซึ่งการทิ้งอาหารมาจากหลายสาเหตุ เช่น กินเหลือ ผลิตมาเกินความต้องการ ผลิตมาแล้วไม่ได้มาตรฐาน เช่น ขนาด รูปทรง หรือสี อาหารหมดอายุ ฯลฯ ก่อให้เกิดขยะอาหารจำนวนมหาศาล และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบเป็นลูกโซ่

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศในแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทย คือ อุุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิด "ขยะอาหาร" จึงได้เริ่มมีการแก้ปัญหานี้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการใช้เทคโนโลยี การออกกฎหมาย การสร้างจิตสำนึก และนี่คือมาตรการการบริหาร การจัดการ "ขยะอาหาร" อย่างยั่งยืน ในอุุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในแถบเอเชีย

ประเทศญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะอาหารโดยตั้งเป้าหมายการลดขยะอาหารลง 50% ภายในปี 2030 รวมทั้งมีการออกกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ได้แก่

1. Food Recycling Law มีเจตนารมย์เพื่อสนับสนุนการลดขยะอาหารและการรีไซเคิลขยะอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหารและจุปเปอร์มาร์เก็ตต้องนำขยะอาหารกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ทำเป็นปุ๋ยหรือเป็นพลังงาน

2. The Food Loss Reduction Promotion Act พระราชบัญญัติส่งเสริมการลดการสูญเสียอาหาร โดยได้มีการประกาศบังคับใช้ในปี 2019 เนื่องจากญี่ปุ่นนำเข้าอาหารเป็นจำนวนมากและต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นส่วนใหญ่ กฎหมายจึงกำหนดให้การลดขยะอาหารที่หลีกเลี่ยงได้เป็นประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง และควรสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการไม่ทิ้งอาหาร

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นและองค์กรท้องถิ่นได้จัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดขอะอาหารในภาคการท่องเที่ยว เช่น โครงการ Mottainai Campaign" ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและภาคเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร ซึ่งมีการจัดทำป้ายและสื่อโฆษณาเพื่อส่งเสริมการลดขยะอาหาร และส่งเสริมให้ลูกค้าสั่งอาหารในปริมาณที่พอดีเพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งขยะอาหาร รวมทั้งรัฐบาลยังได้ร่วมมือกับโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวในการจัดงานสัมมนาและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการลดขยะอาหารและการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้กับประชาชน

ขณะที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร และผู้ให้บริการการท่องเที่ยวถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้น กล่าวคือผู้ประกอบการทั้งโรงแรมและร้านอาหารได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยลดปริมาณขยะอาหาร เช่น การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณอาหารที่เหลือใช้ในแต่ละวัน เพื่อปรับปริมาณการสั่งวัตถุดิบให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ขณะที่โรงแรมและร้านอาหารบางแห่งนำแนวทาง "Zero Waste" มาปรับใช้เพื่อลดปริมาณขยะอาหารให้เหลือน้อยที่สุดผ่านการคัดแยกขยะและการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับองค์กรการกุศลต่าง ๆ

ประเทศเกาหลีใต้

ปัญหาขยะอาหารในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มาจากครัวเรือนและร้านอาหาร องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เผยว่า คนเกาหลีใต้ทิ้งขยะอาหารถึง 130 กิโลกรัมต่อคนต่อปี รัฐบาลเกาหลีใต้จึงดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อให้มีการรีไซเคิลขยะอาหาร เริ่มจากในปี 2548 รัฐบาลห้ามทิ้งขยะในพื้นที่ฝังกลบ ต่อมาปี 2556 ได้สั่งห้ามทิ้งน้ำขยะหลังจากแยกเศษขยะออกไปแล้วลงทะเล พร้อมกับบังคับให้มีการรีไซเคิลอาหารด้วยการใช้ถุงชนิดย่อยสลายได้ โดยครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 4 คนต้องจ่ายค่าถุงรายเดือนจำนวน 6 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อสนับสนุนให้ครัวเรือนทำปุ๋ยหมัก และรัฐบาลอนุญาตให้นำขยะอาหารที่รีไซเคิลแล้วไปใช้เป็นปุ๋ย และส่วนหนึ่งใช้เป็นอาหารสัตว์

การเก็บค่าถุงสามารถจัดเก็บได้ถึง 60% ของต้นทุนการทำโครงการ ส่งผลให้ปริมาณขยะอาหารที่รีไซเคิลเพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 2538 เป็น 90.2% ในปี 2549 และเพิ่มเป็น 95% ในปัจจุบัน เฉพาะในกรุงโซลสามารถลดปริมาณขยะลงได้ 400 ตันต่อวัน ส่งผลให้กรุงโซลจากเดิมที่เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยกลิ่นขยะ กลายเป็นเมืองที่มีโครงการจัดการกับการรีไซเคิลขยะดีที่สุดในโลก

ระบบ "ถังขยะอัจฉริยะ" (Smart Food Waste Bins) ถังขยะเหล่านี้ติดตั้งเครื่องชั่งน้ำหนักและระบบ RFID (Radio-Frequency Identification) ประชาชนต้องใช้บัตรประจำตัวแตะเพื่อเปิดถัง และระบบจะบันทึกปริมาณขยะอาหารที่ทิ้ง มีการเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณขยะที่ทิ้ง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนลดการทิ้งขยะอาหาร ระบบการจ่ายเงินเท่ากับขยะอาหารที่รีไซเคิลด้วยการใช้เครื่อง ส่งผลให้ขยะอาหารในกรุงโซลลดลง 47,000 ตันใน 6 ปี นอกจากนี้ได้มีการเรียกร้องให้ชาวเมืองลดน้ำหนักขยะที่จะนำไปทิ้งด้วยการลดความชื้นของขยะลง ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ชาวเมืองจ่ายเงินค่ารีไซเคิลขยะลดลงเพราะขยะอาหารส่วนใหญ่มีน้ำผสมถึง 80% แต่ยังประหยัดงบให้กับภาครัฐถึง 8.4 ล้านดอลลาร์ในการใช้จ่ายเก็บขยะใน 6 ปีนั้นเช่นกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังรณรงค์ให้ประชาชนปรับนิสัยการกิน เช่น เปลี่ยนไปกินอาหารจานเดียวเหมือนกับในประเทศอื่นๆ หรือลดจำนวนจานเครื่องเคียงลง

เขตบริหารพิเศษฮ่องกง

รัฐบาลฮ่องกงกำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบต่อคนให้เหลือ 0% ภายในปี 2035 โดยในปี 2013 รัฐบาลได้ออกนโยบายและมาตรการสำคัญหลายโครงการเพื่อลลลดปริมาณขยะอาหารไม่ว่าจะเป็นโครงการ "A Food Wise Hong Kong Campaign" ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมในเดือนพฤษภาคม 2556 เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการกินอาหารอย่างชาญฉลาดและลดปริมาณขยะอาหาร รวมทั้งเพื่อปลูกฝังการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชุมชนเพื่อหลีกเลี่ยงและลดการเกิดขยะอาหารที่แหล่งกำเนิด

นอกจากนี้ยังมีนโยบาย "Waste Blueprint for Hong Kong 2035" ที่ส่งเสริมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การรีไซเคิลขยะอาหาร ด้วยการนำขยะอาหารไปผลิตเป็นปุ๋ยหรือพลังงานชีวภาพ รวมทั้งมีนโยบายเพื่อส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้และการฝึกอบรมให้กับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการเพื่อให้มีความรู้ในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันภาคเอกชนของฮ่องกงเองโดยเฉพาะโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีส่วนช่วยให้นโยบายของรัฐบาลสามารถดำเนินการไปได้ ตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการขยะอาหารของโรงแรมในเครือ Hong Kong and Shanghai Hotels มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง สำหรับขยะอาหารที่เกิดจากการให้บริการภายโรงแรมก็ถูกนำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ และศูนย์การค้าและร้านอาหารต่าง ๆ ในฮ่องกงได้เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการขยะอาหาร เช่น เครื่องบดขยะอาหารและการนำขยะอาหารไปแปรรูปเป็นพลังงาน โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น Ocean Park และ Disneyland Hong Kong ที่มีการจัดทำโครงการรีไซเคิลขยขยะอาหารและใช้วิธีการแปรรูปขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งโครงการ "Food Angel- Food Rescue& Food Assistance Program''' ที่เชื่อมโยงระหว่างร้านอาหารโรงแรม และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับผู้ต้อยโอกาสในชุมชน ซึ่งช่วยลดปริมาณการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็นและยังสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในหลายด้าน รวมถึงการจัดการขยะอาหารโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปริมาณขยะอาหารมากขึ้น รัฐบาลและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอาหารเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว รัฐบาลสิงคโปรได้กำหนดนโยบายผ่านกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ เช่น

กฎหมายการจัดการขยะอาหาร หรือ Resource Sustainability Act" ซึ่งบังคับให้ธุรกิจที่สร้างขยะอาหารจำนวนมาก เช่น โรงแรมและร้านอาหาร ต้องติดตั้งระบบจัดการขยะอาหารโดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

กฎหมาย "Good Samaritan Food Donation Bill" ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริจาคอาหารส่วนเกินจากความรับผิดชอบทางกฎหมายในกรณีที่ที่มีผลกระทบต่อผู้รับบริจาค"

Zero Waste Masterplan 2019 เป็นแผนแม่บทที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนสิงคโปร์ให้เป็นสังคมที่ปราศจากขยะโดยนโยบายสำคัญเกี่ยวกับขยะอาหารประกอบด้วย การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีจัดการขยะ เช่น ระบบรีไซเคิลขยะอาหารและการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน (Waste-to-Energy) รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โรงงานบำบัดขยยะ Tuas Nexus ที่เป็นหนึ่งในโครงการรีไซเคิลพลังงานจากขยะของสิงคโปร์

Sustainable Singapore Blueprint (SSB): แนวทางที่รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและลดปริมาณขยะ โดยมีการสนับสนุนให้ธุรกิจในภาคท่องเที่ยวเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการขยะอาหาร

นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์และภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น "Love Your Food" ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักในเรื่องของการบริโภคอาหารอย่างพอดี และส่งเสริมให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งยังมีการจัดประชุมและสัมมนาเพื่อให้ความรู้กับภาคเอกชนและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับแนวทางการจัดการขยะอาหาร ขณะที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมขนาดใหญ่ Marina Bay Sands และ Resorts World Sentosa ได้ดำเนินโครงการลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางทั้งการบริหารจัดการวัตถุดิบในห้องครัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับองค์กรการกุศล รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อแปรรูปขยะอาหาร ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ

นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าและศูนย์อาหารหลายแห่งในสิงคโปร์ยังเข้าร่วมโครงการของรัฐบาลเพื่อการจัดการขยะอาหารด้วยการติดตั้งระบบแยกขยะ และนำขยะอาหารไปผลิตเป็นพลังงาน ตัวอย่างเช่น Jewel Changi Airport มีการใช้ระบบการจัดการขยะที่ช่วยลดปริมาณการฝังกลบขยะโดยใช้การแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน

ประเทศมาเลเซีย

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในแหล่งสร้างขยะอาหารจำนวนมากของประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น เกาะลังกาวี กัวลาลัมเปอร์ และปีนัง ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และได้กำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนภายใต้แผนพัฒนาประเทศ เช่น National Solid Waste Management Policy ซึ่งมีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะที่นำไปยังฝังกลบและเพิ่มการรึไซเคิลขยะให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย Malaysia's Roadmap Towards Zero Single-Use Plastics 2018-2030 ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อการส่งเสริมให้ลดการใช้พลาสติกและ

บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะสามารถช่วยลลดปริมาณขยะในภาคการท่องเที่ยวได้รวมทั้งยังมีแผนงาน the Circular Economy Blueprint for Solid Waste in Malaysia (2025-2035) ที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณการฝังกลบขยะให้เหลือศูนย์ในปี 2035

ขณะที่ภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมาเลเซียทั้งโรงแรมและร้านอาหารหลายแห่งในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น เกาะลังกาวี กัวลาลัมเปอร์ปีนัง ได้เริ่มนำระบบแยกขยะมาใช้เพื่อลดปริมาณขยะที่ส่งไปฝังกลบและเพิ่มการรีไซเคิล เช่นเดียวกับธุรกิจถิ่นอีกหลายแห่งได้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เช่น Food Aid Foundation และ Kecharia Food Bank ที่มุ่งเน้นการนำอาหารส่วนเกินที่ยังสามารถทานได้ไปแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้แทนที่จะทิ้งให้เป็นขยะอาหาร

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการจัดการขยยะอาหารในมาเลเซีย คือ การสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และการเพิ่มการตระหนักรู้ของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการขยะ เช่น ระบบรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ และการจัดตั้งศูนย์แปรรูปขยะอาหารในระดับท้องถิ่นก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้แนวทางการลดปริมาณขยะอาหารได้สำเร็จ

ประเทศเวียดนาม

การจัดการขยะอาหารในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเวียดนามยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์หรือมาเลเซีย ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนามได้เริ่มนำกลยุทธ์ต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อลดปัญหาขยะอาหารของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอาหาร เช่น Vietnam National Strategy on Environmental Protection to 2030 ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการลดขยะและการรีไซเคิล รวมถึงขยะอาหารในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยรัฐบาลเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการบำบัดขยะและการนำขายะอาหารกลับมาใช้ใหม่ และมุ่งหวังที่จะลดปริมาณขยะที่ถูกฝังกลบและเพิ่มการรึไซเคิลขยะให้เป็นพลังงานมากขึ้น

นอกจากนี้ เวียดนามยังเข้าร่วมกับโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น ASEAN Tourism Strategic Plan ซึ่งมีการระบุถึงความสำคัญของการจัดการขยะอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูง เช่น ฮาลองเบย์และเมืองโฮจิมินห์

ภาคเอกชนในเวียดนามเอง โดยเฉพาะโรงแรมและภัตตาคารที่ตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ได้ริเริ่มนโยบายการจัดการขยะอาหารตั้งแต่การวางแผนการใช้วัตถุดิบในครัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดปริมาณการก่อขยะอาหาร รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแยกขยะอาหารเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ขณะที่บางโรงแรมมีการจัดทำโครงการความร่วมมือกับองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อบริจาคอาหารที่เหลือจาการผลิตไปยังองค์กรการกุศลในชุมชนต่าง ๆ"

ถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายและโครงการต่าง ๆ แต่การจัดการขยะอาหารในเวียดนามยังคงมีความท้าทายหลายประการ เช่น การขาดระบบรีไซเคิลและการจัดการขยะที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ การลงทุนในเทคโนโลยีการจัดการขยะยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกับประเทศไทย นอกจากนี้ การขาดการสร้างความตระหนักในวงกว้างเกี่ยวกับความสำคัญของการลดขยยะอาหารยังคงเป็นปัญหาสำคัญ

การจัดการขยะอาหารในญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม จะพบว่าแนวทางการดำเนินการส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการและประชาชนเพื่อให้เห็นความสำคัญของการป้องกันและลดปริมาณขยะอาหารให้เหลือน้อยที่สุด หรือ Zero food waste นอกจากนี้ในแต่ละประเทศมีกฎหมายและนโยบายที่ชัดเจนในการลดปริมาณการฝังกลบขยะอาหาร รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการอาหาร

ส่วนประเทศไทย รัฐบาลควรมีนโยบายเพื่อจัดการปัญหาขยะอาหารให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งควรมีนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนให้มีการนำเทคโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การรีไซเคิลขยะอาหาร สนับสนุนงบประมาณให้กับส่วนท้องถิ่นเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการกำจัดขยะอาหารหรือขยะอินทรีย์ด้วยวิธีการอื่นแทนเพื่อลดการฝังกลบขยะ

แม้ว่าปัญหาขยะอาหารส่วนหนึ่งจะเกิดจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะขยะอาหารที่เกิดจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในโรงแรมและเข้าใช้บริการร้านอาหาร จึงทำให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการบริหารจัดการเพื่อลดปริมาณขยะอาหาร แต่ทว่าการลดปริมาณปัญหาขยะอาหารเหล่านี้จะสัมฤทธิ์ผลได้ ถ้าทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ ไม่เพียงแค่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่ต้องท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ภาคประชาชนเองก็ต้องร่วมแรงร่วมใจเช่นกัน

Advertisement

แชร์
สำรวจการจัดการ "ขยะอาหาร" อย่างยั่งยืน ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเอเชีย