เปิด ราคาที่ดิน กรุงเทพฯ 2565 หลังโควิด ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะที่สำรวจราคาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ไว้ว่าการ “แข่งเดือด” ของการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้เป็นเครื่องชี้ว่าราคาที่ดินจะขยับ ทั้งนี้เพราะในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 แทบจะไม่ค่อยมีการเปิดตัวเลย การเปิดตัวในไตรมาสที่ 4 จึงเป็นเพียงการเปิดชดเชยโครงการที่ควรจะเปิดในช่วงก่อนหน้านี้
จะเห็นได้ว่าอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่เดือนพฤศจิกายนทำสถิตินิวไฮ โดยเปิดตัวถึง 49 โครงการ จำนวน 11,051 หน่วย มูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 54,071 ล้านบาท แต่คาดเดือนธันวาคม จะเปิดตัวน้อยลง โดยรวมแล้วในปี 2564 ดร.โสภณคาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการทั้งหมดประมาณ 60,000 หน่วย รวมมูลค่าประมาณ 270,000 ล้านบาท ตกเป็นเงินหน่วยละ 4.5 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เปิดตัวประมาณ 73,000 หน่วย ยังถือว่าเปิดตัวลดลงไปถึง 18% ในปี 2565 สถานการณ์น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่โดยที่การท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังจำกัด โอกาสที่จะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก คงยังไม่เกิดขึ้น
ส่วนราคาที่ดินก็ยังขยับตัวมากสวนทางกับการหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัยโดยราคาที่ดินในปี 2564 คาดว่าขยับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 ราว 4.7% แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงปี 2562-2563 ที่เพิ่มขึ้น 6.5% ทั้งนี้ในปี 2563 ผู้ประกอบการยอมลดราคาที่อยู่อาศัยในมือลงไปประมาณ 7% เพื่อเป็นการระบายสินค้าคงค้างให้ขายออกไปให้ได้ ส่วนในปี 2564 ราคาที่ดินก็ยังจะเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่า ทั้งนี้เพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวในช่วงนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันตลาดที่อยู่อาศัยก็ยังไม่ได้ดีขึ้น ราคาที่ดินจึงยังเพิ่มขึ้นน้อยไปด้วย
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในปี 2565 ราคาที่ดินก็คงจะขยับตัวสูงขึ้นอีก เพราะการเปิดใช้งานจริงของรถไฟฟ้า ย่อมส่งผลให้มีการขยับตัวของราคาที่ดินที่ชัดเจนกว่าเดิม ยิ่งกว่านั้นสถาบันต่างๆ ล้วนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัว ดังนั้นราคาที่ดินในปี 2565 น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 โดย ดร.โสภณคาดว่าราคาที่ดินในปี 2565 น่าจะเพิ่มขึ้นถึง 5%ทั้งนี้เป็นอานิสงส์จากรถไฟฟ้าเป็นหลัก แม้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวนักก็ตาม
สำหรับทำเลที่ดินที่มีราคาสูงสุด ก็คือพื้นที่บริเวณสยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิต มีราคาตารางวาละ 3,300,000 บาทต่อตารางวา ถ้าปูด้วยธนบัตรใบละ 1,000 บาท ต้องปูถึงราว 9 ชั้น รองลงมาเป็นถนนวิทยุ ซึ่งเป็นแหล่งสำนักงาน โรงแรมคุณภาพ จะเห็นได้ว่าสีลมที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน กลับมีราคาต่ำกว่าย่านสุขุมวิท-ไทมสแควร์ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจบันเทิงและที่อยู่อาศัยราคาแพง นอกจากนี้เยาวราชซึ่งเคยเป็นศูนย์ธุรกิจในอดีต ก็มีราคาไม่ค่อยสูงมากนักเพราะที่ผ่านมายังไม่มีรถไฟฟ้า สำหรับในรายละเอียดเป็นดังนี้:
อันดับที่ ทำเล ราคาต่อตารางวา
1 สยาม-ชิดลม-เพลินจิต 3,300,000 บาท
2 วิทยุ 2,750,000 บาท
3 สุขุมวิท-ไทมสแควร์ 2,730,000 บาท
4 สุขุมวิท 21 อโศก 2,500,000 บาท
5 สีลม 2,500,000 บาท
6 สาทร 2,200,000 บาท
7 เยาวราช 1,750,000 บาท
8 สุขุมวิท-เอกมัย 1,700,000 บาท
9 พญาไท 1,550,000 บาท
10 พระรามสี่ (บ่อนไก่) 1,550,000 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สาวร้องสื่อ แท็งก์น้ำลุงตู่ โผล่ในที่ดิน ยื่นค้านนาน 5 ปี ไม่คืบ แถมโดนชาวบ้านด่าไร้น้ำใจ
- ภาษีที่ดิน กลับมาเก็บ 100% ปี 65 คลังแจงเหตุกระทบรายได้ท้องถิ่น
- ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พ.ร.ฎ.อัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปีภาษี 2565
อ้างอิง https://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement5263.htm