หมอเฉลิมชัย เผย 8 เหตุผลที่ทำให้เบาใจเรื่อง ฝีดาษลิง แต่ยังต้องเฝ้าระวัง

28 พ.ค. 65

กระทรวงสาะารณสุขไทย รายงานยังไม่พบผู้ติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" หมอเฉลิมชัย เผย 8 เหตุผล ที่ทำให้พอจะเบาใจเรื่องฝีดาษลิง

 

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.65 กระทรวงสาะารณสุขไทย รายงานสถานการณ์กาารแพร่ระบาดของโรค "ฝีดาษลิง" พบว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคนี้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 พ.ค.2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 344 คน (เพิ่มขึ้น 35 คน) โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 120 คน อังกฤษ 77 คน โปรตุเกส 49 คน แคนาดา 26 คน และเยอรมนี 13 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดโรค อยู่ในกลุ่มอายุ 20-59 ปี

 

อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่พบรายงานติดเชื้อฝีดาษลิงจากผู้ที่เดินทางเข้ามา

 

ทางด้านของ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง 8 เหตุผล ที่ทำให้พอจะเบาใจเรื่องฝีดาษลิงได้ โดยระบุว่า

 

1. การติดต่อ ฝีดาษลิงติดต่อได้ไม่ง่ายนัก มักจะติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงต่อสัตว์นำโรค ทานเนื้อสัตว์ดิบ หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยตรง ยังไม่มีการยืนยันทางวิชาการว่าสามารถติดต่อผ่านทางอากาศได้เช่นเดียวกับ โควิด-19

 

2. ความรุนแรง ฝีดาษลิงมีความรุนแรงน้อยกว่าฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษมาก ประมาณ 3-30 เท่าคือ มีอัตราการเสียชีวิตที่ 1-10% ในขณะที่ฝีดาษคนเสียชีวิตมากถึง 30%

 

3. การตรวจพบผู้ติดเชื้อ สามารถ ตรวจพบได้ง่าย เพราะมีอาการที่ชัดเจนคือ จะมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองปรากฏขึ้นที่ผิวหนัง ทั้งบริเวณใบหน้าและแขนขา ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสผู้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าโควิด

 

4.ชุดตรวจหาการติดเชื้อ ขณะนี้มีการพัฒนาชุดตรวจหาไวรัสก่อโรค ฝีดาษลิง สำเร็จแล้วในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยก็มีการพัฒนาชุดตรวจไวรัสดังกล่าวสำเร็จแล้วเช่นกัน

 

5. วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรค พบว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษคน หรือที่เรียกว่าปลูกฝี สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ด้วยในระดับอย่างน้อย 85% นอกจากนั้นขณะนี้ก็มีวัคซีนใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ป้องกันทั้งฝีดาษคนและฝีดาษลิงแล้ว อีกประการหนึ่งก็คือ ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการปลูกฝีเดิม แม้ผ่านไปหลาย 10 ปี ก็ยังอยู่ในระดับสูงมากพอที่จะป้องกันได้

 

6. ยารักษา ขณะนี้มียารักษาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านไวรัสในกลุ่มของฝีดาษคนและฝีดาษลิง ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

 

7. การกลายพันธุ์ ไวรัสก่อโรค ฝีดาษลิง กลายพันธุ์ยากกว่าโควิดมาก ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงก็ยังเป็นสายพันธุ์เดิม เนื่องจากเป็นไวรัสสารพันธุกรรมคู่หรือดีเอ็นเอ (DNA) กลายพันธุ์ยากกว่าไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิดที่เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยวหรืออาร์เอ็นเอ (RNA)

 

8. ผู้ติดเชื้อ ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ยังไม่พบผู้ติดฝีดาษลิง และได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อดูแลเรื่องฝีดาษลิง รวมทั้งมีการคัดกรองที่สนามบินแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถเบาใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ควรจะประมาท เพราะโรคติดต่อจากไวรัส ไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็ตาม มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ที่มนุษย์พึงจะต้องระมัดระวังตัวอยู่เสมอ

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส