ไทยพบผู้ติดเชื้อ ฝีดาษลิง 1 ราย เปลี่ยนเครื่องไปต่างประเทศ แสดงอาการหลังถึงที่ประเทศออสเตรเลีย เฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิด 12 ราย
วันนี้ (30 พ.ค.65) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง ว่า จากการตรวจสอบที่สนามบินเราพบ มีชาวต่างชาติ 1 รายที่บินมาจากประเทศทางยุโรป โดยเดินทางเข้ามา และแวะพักเครื่องระหว่างทางในประเทศไทย หรือทรานซิท เพื่อต่อไปยังประเทศออสเตรเลีย
โดยทรานซิทประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่มีอาการ แต่ไปพบอาการที่ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้น รายนี้ในส่วนของผู้สัมผัสใกล้ชิดยังไม่สัมผัสเสี่ยงสูง แต่ก็มีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ที่เป็นผู้โดยสารเครื่องบินและลูกเรือรวม 12 คน ซึ่งติดตามแล้ว 7 วันยังไม่มีอาการ โดยต้องติดตามต่อไปให้ครบ 21 วัน” นพ.จักรรัฐ กล่าว
เมื่อถามว่าการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดในผู้ป่วยที่มาทรานซิทในประเทศไทย นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการ และมาทรานซิทในไทยไม่นาน ซึ่งระหว่างนั้นไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับใคร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอด ดังนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิดก็จะไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งตอนนี้ไม่มีอาการใดๆ อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ก็สามารถไปทำงานได้ตามปกติ หากมีอาการให้รีบแจ้ง แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกกัก 21 วันที่บ้าน
“โดยการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอยู่บนเครื่องบิน เนื่องจากผู้ป่วยที่เดินทางไปออสเตรเลียอีกหลายวันจึงพบเชื้อ ยังดีที่ผู้ป่วยนั่งในชั้น Business class นั่งห่างกันพอสมควร ซึ่งการติดเชื้อไม่ง่าย ต้องใกล้ชิดจริงๆ ถ้าอยู่ห่างๆ ไม่ค่อย เพราะเชื้อไม่ได้ลอยไปเอง อย่างเหตุการณ์ในยุโรป จะมีการใกล้ชิด กอดจูบ ดังนั้น โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยในระยะที่ป่วยด้วย” นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จากการสอบสวนนักท่องเที่ยวไอรแลนด์ 3 รายที่มีผื่นตุ่มหนองนั้น พบว่าเป็นพี่น้องกัน รายที่ 1 เพศชาย อายุ 30 ปี รายที่ 2 เพศชายอายุ 27 ปี และรายที่ 3 เพศชายอายุ 20 ปี ผลสอบสวนโรค ผู้ป่วยรายที่ 1 มีอาชีพแพทย์ วันที่ 21 พ.ค.เริ่มมีผื่นที่แขนซ้าย อีก 2 วันถัดมาเริ่มมีไข้ 38.9 องศา รัยาคลินิกเอกชนจ.ภูเก็ต ผู้ป่วยรายที่ 2 อาชีพนักแสดง วันที่ 21 พ.ค.65 เริ่มมีผื่นที่หลัง ด้านขวาและคอ รับประทานยา และอาการไม่ดีขึ้น
ส่วนรายที่ 3 เป็นนักศึกษา วันที่ 22 พ.ค.เริ่มมีผื่นที่รักแร้ซ้าย รับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น โดยทั้งหมดคลุกคลีใกล้ชิดกันตลอดเวลาที่อยู่ในไทย แต่ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษวานร ที่ไอร์แลนด์ แต่เมื่ออยู่ไทยมีการแบ่งกันใช้อุปกรณ์ชกมวย กระสอบทรายร่วมกันในยิมเดียวกัน และมีประวัติเพศสัมผัสกับหญิงไทย อย่างไรก็ตาม พบผู้ป่วยสงสัยเพิ่มเติม 2 รายที่ยิมเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้งหมด 5 รายไม่พบฝีดาษวานร เป็นเชื้อเริม
นพ.จักรรัฐ กล่าวย้ำว่า สำหรับคนที่ไปร่วมงานเฟสติวัลในต่างประเทศ หรือร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หากมีอาการและมาพบแพทย์ขอให้แจ้งแพทย์ด้วยว่า มีประวัติร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนไทยที่เดินทางกลับมานั้น หากเราไม่ได้ร่วมกิจกรรมเสี่ยง และยังปฏิบัติตัวตามมาตรการส่วนบุคคล ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะป้องกันโควิด และฝีดาษวานร และโรคอื่นๆได้ ซึ่งคนไทยที่จะเดินไปต่างประเทศก็เช่นกัน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ไม่ร่วมกิจกรรมเสี่ยงก็จะป้องกันได้