“วุฒิสภา” ยื้อทำประชามติแก้ รธน. ตั้ง กมธ.ศึกษาก่อน 30 วัน

21 พ.ย. 65

“วุฒิสภา” ตั้ง กมธ.ศึกษาทำประชามติแก้ รธน. พร้อมเลือกตั้ง "วันชัย" เตือน ดึงเกมเตรียมตกเป็นจำเลยสังคม "กิตติศักดิ์" ค้านมีผลเสียมากกว่า

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภาที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วนของสภาผู้แทนราษฎร ที่ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชน ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับในวันเดียวกันกับวันเลือกตั้งส.ส. ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ

โดยมีในการประชุมดังกล่าวมี ส.ว.อภิปรายทั้งเห็นด้วย และคัดค้านญัตติดังกล่าว  สำหรับ ส.ว.ที่เห็นด้วย อาทิ นายมณเทียณ บญตัน ส.ว. อภิปรายว่า ในยามใดที่มีความขัดแย้งสูง การยกร่างรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นตัวกระตุ้น ทำให้ประชาชนที่เห็นต่างหันมาเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็น ดังนั้นควรลดความตึงเครียดทางการเมือง แก้โดยคำนึงถึงความพอดี ไม่ให้รัฐธรรมนูญอายุสั้น

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ถ้าครม.ทำตามที่รัฐสภาเสนอ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาไม่น้อย 5-6 เดือน กว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ รัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระในเดือน มี.ค. 66 แม้เราจะมีมติเห็นชอบวันนี้ ก็ไม่ทันต่อการตัดสินใจของ ครม.ชุดนี้ ต่อให้มีรัฐบาลรักษาการณ์ก็คงไม่มีใครเอาเรื่องใหญ่มาตัดสินใจ หากประวิงให้ล่าช้าจะเสียโอกาส ยิ่งเสียไปกันใหญ่ ตอนแก้รัฐธรรมนูญ เราก็บอกว่าแก้ไม่ได้ต้องไปทำประชามติ พอศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ทำประชามติ แล้วเขาเสนอให้ทำประชามติ หากคัดค้านส.ว.จะกลายเป็นจำเลยสังคม

นายวันชัย อภิปรายว่า ส.ว.ชุดเราจะหมดวาระเดือน พ.ค. 67 แต่ถ้านับหลังเลือกตั้ง ส.ส.ในเดือน พ.ค.66 เราจะเหลือเพียง 1 ปี ถ้าไม่ร่วมไม้ร่วมมือกัน ไม่มีทางแก้เสร็จทันสมัย ส.ว.ชุดนี้ อีกทั้ง ส.ว.ชุดนี้ ยังมีสิทธิ์โหวตนายกฯ ภายใน 1 ปี เมื่อเรามีสิทธิ์ มีโอกาสร่วมแก้ไข และผลักดัน จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญอยู่มือของพวกเรา เราจะมีอำนาจต่อรอง และมีอำนาจเสนอประเด็นต่างๆ ที่เราต้องการ ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ในที่สุดต้องถูกแก้แน่นอนดูจากเสียงของ ส.ส.ทั้งหมดแล้ว เขาตั้งธงแก้ทั้งฉบับชัดเจน เพียงแต่จะแก้ในยุค ส.ว.ชุดเรา หรือ ส.ว.ชุดหน้า หากปี 67 หมดยุคเรา เราก็จะได้แต่นั่งตาปริบๆ เพราะยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญจะด้วยเหตุผลกลใด หรือการดึงเกม เราจึงไม่ควรคัดค้านการแก้ไข และควรเร่งให้เกิดการแก้ไข

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นเหตุผลกับการขัดขวางการตัดสินใจโดยตรงเบื้องต้นของประชาชน และเป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 64 พวกเราเคารพประชามติมาตลอด เราชื่นชมรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามาจาก 16 ล้านเสียง จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่เคารพการทำประชามติอีกครั้ง ถ้าเลือกได้อยากให้เป็นการแก้ไขรายมาตรา แต่นี่ใจเขาใจเรา ส.ส.มีความเห็นมาแบบนี้ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ใช่ของใหม่ในประเทศ จึงไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะไม่สนับสนุนหรือ คัดค้านประชาชน

ขณะที่ ส.ว.อภิปรายคัดค้านญัตติดังกล่าว อาทิ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่มีฉบับไหนดี 100 % แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไปทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง ผลเสียมากกว่าผลดี ทำวันเดียวกันประชาชนอาจจะสับสน เป็นข้ออ้างของบางพรรคใดพรรคหนึ่งที่จะใช้ในการหาเสียง หากหารือกันแล้วพร้อมที่จะแก้ ตนมองว่ามีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ทำประชามติก่อนการเลือกตั้ง  หรือทำมติหลังการเลือกตั้ง แต่ตนมองว่าน่าจะเกิดหลังการเลือกตั้ง ให้รัฐบาลชุดต่อไปมีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ เมื่อแก้ไขเสร็จคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี และจัดการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าทำมติก่อนการเลือกตั้งคิดว่าเวลาที่เหลือไม่น่าพอ เหตุผลที่ว่าประหยัดงบประมาณ ไม่น่าใช่ จัดทำประชามติเป็นการลงทุนในระบอบประธิปไตย จะเสียเงินเท่าไหร่ก็ถือว่าคุ้มค่า ถ้าเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง

ส่วนนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ตนไม่ค่อยเห็นด้วยกับเหตุผลที่ท่านเสนอเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ควรมีการแก้ไข ซึ่งมีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่ต้องทำใหม่ เช่น ประเด็นการบัญญัติว่านายกฯต้องมีวาระ 8 ปี ทำให้เกิดวิกฤตความเป็นผู้นำประเทศ ตนไม่ได้พูดถึงตัวนายกฯปัจจุบัน แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ หากบ้านเมืองไปเจอคนดีมีความรู้ความสามารถสร้างความเจริญให้ประเทศได้ เขาจะถูกจำกัดด้วยระยะเวลา 8 ปี ถ้ามีคนดี 8 ปีก็ไม่จำเป็น ตนยังมีความกังวลในเนื้อหาบางส่วน ซึ่งญัตติที่เสนอมา เราต้องให้ ส.ว.ยืนอยู่บนความชอบธรรมในหลักการ

ต่อมาเวลา 12.10 น. การอภิปรายของ ส.ว.ผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณากรณีสภาฯ มีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้ครม.ดำเนินการมายังวุฒิสภา ตามข้อบังคับข้อที่ 77 เพื่อให้ ส.ว.ศึกษารายละเอียดแล้วนำข้อมูลมาพิจารณาว่าจะโหวตเห็นด้วยกับญัตติหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศชาติ ทำให้นายกิตติศักดิ์เห็นด้วยที่ตั้งกมธ. เพราะจะใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงโหวตไปก่อนคงไม่เหมาะสม และไม่เป็นที่ข้อครหาว่า นักการเมืองจะเอาข้อได้เปรียบเหล่านี้ไปขยำปนเปในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีเร็วๆ นี้ ตนคิดว่าการตั้ง กมธ.เหมาะสม

ด้านนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. คัดค้านญัตติขอตั้งกมธ.ของนายสมชาย ระบุว่า ตนมาอยู่ที่นี่ 3 ปี กว่า ทุกคนที่อยู่ในห้องประชุมนี้ รู้อะไรทะลุปรุโปร่งหมดแล้วรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่เห็นเหตุผลใดที่จะต้องไปศึกษา ศึกษาก็คือยื้อรัฐธรรมนูญ ยื้อประชามติ ถ้าท่านยื้อแบบนี้นะ ไอ้โครงการ ส.ว.พบประชาชน พี่น้องประชาชนทั่วประเทศฟังไว้ คราวต่อไปถ้าโครงการ ส.ว.พบประชาชน ท่านก็ลองถามคนที่ลงไปว่า แล้ววันนี้ตั้งทำไม ไปยื้อทำไม ตนว่า ส.ว.เขารู้กันหมดแล้ว รัฐธรรมนูญ 279 มาตราฉบับนี้ ไม่ต้องไปศึกษาให้เสียเวลาเปล่าๆ ไม่ต้องไปศึกษาแล้ว

จากนั้นเวลา 12.30 น. พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานส.ว.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ขอมติที่ประชุม ส.ว.ว่าจะเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.สามัญศึกษาฯหรือไม่ ผลปรากฎว่า ที่ประชุม ส.ว.เห็นชอบกับญัตติดังกล่าวด้วยคะแนน 151 ต่อ 26 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง โดยคณะกมธ.สามัญฯคณะนี้ มีจำนวน 26 คน และใช้เวลาพิจารณา 30 วัน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส