เตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน เช็คคุณสมบัติก่อนจับใบดำใบแดง ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง และหากไม่ไปตามหมายเรียกจะมีความผิดหรือไม่
เริ่มแล้วสำหรับฤดูการเกณฑ์ทหารปี 2566 ที่ชายไทยอายุตั้งแต่ 21 ปีบริบูรณ์จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน โดยในปีนี้กองทัพบกประกาศทำการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป จนกว่าการตรวจเลือกฯ จะแล้วเสร็จ แต่ไม่เกิน วันที่ 20 เมษายน 2566 เว้นวันที่ 6 เมษายน 2566 (วันจักรี) และวันที่ 13 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2566 (วันสงกรานต์)
คุณสมบัติเกณฑ์ทหาร 2566
ผู้ที่อยู่ในกำหนดเรียกไปเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหาร กองประจำการ ประจำปี 2566 มีรายละเอียดดังนี้
- เป็นชายสัญชาติไทย เกิด พ.ศ. 2545 ซึ่งมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์
- คนที่เกิด พ.ศ. 2537 ถึง พ.ศ. 2544 ซึ่งมีอายุ 22 - 29 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
- ผู้ที่มีผลการตรวจเลือกฯ ยังไม่แล้วเสร็จทุกกรณีให้ไปเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายเรียกเข้ารับ ราชการทหาร (แบบ สด.35)
- ผู้ที่พำนักพักอาศัยอยู่ต่างประเทศหรือบุคคลที่มีสองสัญชาติ แต่ยังคงมีสัญชาติไทย และมีอายุในกำหนดที่จะเข้ารับการตรวจเลือกฯ ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
เอกสารการเกณฑ์ทหาร
ในวันตรวจเลือกฯ ขอให้ผู้ที่จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการ ทหารกองประจำการ ต้องนำเอกสารมาแสดง ดังนี้
- ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
- บัตรประจำตัวประชาชน
- หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)
- ใบสำคัญความเห็นแพทย์ หรือประวัติการรักษา (ถ้ามี)
- ประกาศนียบัตร หรือหลักฐานการศึกษา (สำหรับผู้ที่ สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าขึ้นไป)
- หนังสือสำคัญแสดงวิทยฐานะของ ผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหาร ชั้นปีที่ 1 หรือชั้นปีที่ 2 หรือหนังสือรับรองดังกล่าว ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร ไปแสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกด้วย
ทั้งนี้ผู้ที่หลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่ไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารหรือไม่ไปเข้ารับการตรวจเลือกฯ ตามกำหนดในหมายเรียกเข้ารับราชการทหารหรือไป แต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือกฯ หรือไม่อยู่จนการตรวจเลือกฯ จะแล้วเสร็จ ให้ถือว่ามีความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมายต่อไป
น้ำหนัก ขนาดร่างกายเกณฑ์ทหาร
การส่งคนเข้ากองประจำการ คณะกรรมการตรวจเลือกจะคัดเลือกคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ดี น้ำหนักตามเกณฑ์ มีขนาดรอบตัว ตั้งแต่ 76 เซนติเมตรขึ้นไปในเวลาหายใจออก และมีขนาดสูงตั้งแต่ 1 เมตร 46 เซนติเมตรขึ้นไป
แต่จะคัดเลือกคนที่มีขนาดสูงตั้งแต่ 1 เมตร 60 เซนติเมตรขึ้นไปก่อน ถ้ามีจำนวนมากกว่าที่ทางราชการต้องการก็ให้ทำการจับสลาก เพื่อกำหนดคนเข้ากองประจำการต่อไป
ทั้งนี้ในระหว่างการตรวจร่างกายหรือวัดขนาด หากผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ เห็นว่าการตรวจหรือ การวัดขนาดร่างกายของคณะกรรมการตรวจเลือกดำเนินการไม่ถูกต้องหรือไม่ยุติธรรม ซึ่งไม่ตรงกับลักษณะของตนเองหรือมีข้อสงสัยประการใด ก็ให้สามารถคัดค้านหรือสอบถามในขณะนั้นได้ทันที เพื่อให้คณะกรรมการ ตรวจเลือกพิจารณาตรวจหรือวัดขนาดร่างกายใหม่ หากไม่มีการคัดค้านให้ถือว่ายอมรับผลการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจเลือก
อย่างไรก็ตามบุคคลที่คณะกรรมการตรวจเลือกกำหนดให้เข้ากองประจำการเห็นว่า คณะกรรมการตรวจเลือก ตัดสินไม่ถูกต้องหรือไม่ยุติธรรม ก็ให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการชั้นสูงได้ ณ สำนักงานสัสดีจังหวัดท้องที่ที่ตนเข้ารับการตรวจเลือกฯ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2566 เพื่อให้คณะกรรมการชั้นสูงพิจารณาตัดสินใหม่ ซึ่งคำตัดสินของคณะกรรมการชั้นสูงให้ถือเป็นที่สุด
ขั้นตอนการขอผ่อนผันเกณฑ์ทหาร
นักศึกษาชายที่เกิดปี พ.ศ.2545 ที่ไม่ได้เรียน นศท., นศท. ที่ไม่จบการศึกษา ชั้นปีที่ 3 และนักศึกษาที่ย้ายมาจากสถานศึกษาอื่น ๆ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ที่มีความประสงค์ยื่นเรื่องการขอผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารฯ ให้ส่งเอกสารตั้งแต่บัดนี้ -25 พฤศจิกายน 2565 นี้เท่านั้นที่งานสวัสดิการนักศึกษา ซึ่งประกอบด้วย
- สำเนาใบสำคัญทหารกองเกิน (สด. 9) (ด้านหน้า-หลัง)
- สำเนาหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (สด. 35) (ด้านหน้า-หลัง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาบัตรประจำตัวนักศึกษา
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกใบทั้งด้านหน้า-หลัง ยื่นภายในวันที่กำหนดเท่านั้น หากพ้นวันที่ดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยฯ จะไม่ดำเนินการให้
คนที่ได้รับการผ่อนผัน
ทางราชการจะยกเว้นให้แก่บุคคลบางประเภทไม่ต้องไปเข้ารับราชการเกณฑ์ทหารแล้วยังผ่อนผันให้แก่บุคคลบางประเภทเช่นกัน มีรายละเอียดดังนี้
1.ผ่อนผันให้แก่บุคคลบางประเภทไม่ต้องไปตรวจเลือกเป็นการผ่อนผันให้เฉพาะคราว (มาตรา ๒๗) ได้แก่
1.1 ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วนให้ไปราชการอันสำคัญยิ่ง หรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวง9
1.2 ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการหรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรบหรือการสงคราม อันเป็นอุปกรณ์ในการรบหรือการสงครามและอยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม
1.3 บุคคลซึ่งกำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม
1.4 นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ
1.5 เกิดเหตุสุดวิสัย เช่น ทหารกองเกินเดินทางไปเข้ารับการตรวจเลือก ประสพอุบัติเหตุ รถคว่ำหรือเรือล่มระหว่างเดินทาง จนไปเข้ารับการตรวจเลือกไม่ได้เช่นนี้
1.6 ไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น ซึ่งต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือ อายุ 22 - 29 ปีบริบูรณ์ถ้าได้รับหมายเรียกและไม่สามารถจะไปตามหมายนั้นได้เพราะไม่มีค่าพาหนะหรือจะไปไม่ทัน เมื่อนายอำเภอนั้นสอบสวนได้ความจริงก็จะรับเข้าตรวจเลือกตามระเบียบ
1.7 ป่วยไม่สามารถเข้ารับการตรวจเลือกได้
2. ผ่อนผันให้แก่บุคคลบางประเภทในกรณีที่มีคนพอ (มาตรา 29) ได้แก่
2.1 บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบิดาหรือมารดาซึ่งไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ หรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู
2.2 บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรซึ่งมารดาตาย หรือไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ และบุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงพี่หรือน้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาซึ่งบิดามารดาตาย ทั้งนี้เมื่อบุตรหรือพี่น้องนั้นหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู
2.3 บุคคลที่อยู่ในระหว่างการศึกษาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 73 (พ.ศ.2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗
3. การผ่อนผันให้แก่ผู้ที่ถูกเป็นทหารเพื่อลาศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ไม่ได้รับการผ่อนผัน เมื่อไปตรวจเลือกทหารและถูกเข้ากองประจำการ จะมีสิทธิได้รับการผ่อนผันให้ลาศึกษาต่อได้เฉพาะหลักสูตรสาขาวิชาและในสถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่เท่านั้น ถ้าสำเร็จการศึกษาหรือต้องออกจากสถานศึกษานั้น ๆ หรือมีอายุครบ 26 ปีบริบูรณ์แล้ว ก็ให้กลับเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการตามสังกัด
4. การผ่อนผันให้แก่แพทย์ที่ถูกเป็นทหารเข้ารับราชการทหารกองประจำการจะผ่อนผันให้แก่แพทย์ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้น 1 สาขาเวชกรรม ซึ่งจบการศึกษาแล้ว และต้องรับราชการชดใช้ทุนให้แก่ทางราชการ เมื่อถูกเข้ากองประจำการจะผ่อนผันให้รับราชการในกองประจำการน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยให้ลาพักรอการปลด เพื่อไปรับราชการชดใช้ทุนตามสัญญา