สมโภชพญาศรีสัตตนาคราชยิ่งใหญ่ “ไผ่หลิว มิสแกรนด์ 2023” และ “ชมพู่ พรพรรณ” กัปตันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย หน่อเนื้อลูกนครพนม นำนางรำกว่า 1 พันคนรำบวงสรวงอย่างงดงาม
วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่ริมแม่น้ำโขงถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม โดยจังหวัดนครพนมได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดพิธีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) โดยถือเอาวันที่ 7 เดือน 7 คือวันที่ 7-13 กรกฎาคม รวม 7 วัน 7 คืน เป็นวันสมโภชประจำทุกปีเพื่อส่งเสริมสนับสนุนและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ตลอดจนความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคที่คอยดูแลปกปักษ์รักษาผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขงรวมถึงองค์พระธาตุพนมมาตั้งแต่อดีต อีกทั้งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม
ฤกษ์งามยามดีเวลา 15.00 น. นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราชประกอบพิธีบวงสรวงบอกกล่าวแก่องค์พญานาค จากนั้นพราหมณ์อ่านโองการอัญเชิญเทพบูชาฤกษ์และก็มาเข้าสู่พิธีสงฆ์ถือเป็นการเปิดงานสมโภชองค์พญาศรีสัตตนาคราชประจำปี 2566 อย่างเป็นทางการ
ต่อจากนั้นเวลาประมาณ 17.30 น. ได้ตั้งขบวนแห่เครื่องบูชาบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 (นิตโย) โดยมีนักท่องเที่ยวประชาชนมาจับจองพื้นที่รอชมพิธีแห่อย่างเนืองแน่น สำหรับปีนี้ได้มีความแตกต่างเกิดขึ้นกล่าวคือไม่มีการจ้างศิลปินดาราชื่อดังมาเป็นนางรำเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา แต่เปิดรับผู้มีชื่อเสียงที่มีความศรัทธาต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราชมาร่วมรำ ซึ่งได้นางรำที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวนครพนมโดยกำเนิดคือ น้องไผ่หลิว-กมลวลัย ประจักษ์รัตนกุล มิสแกรนด์นครพนม 2023 และมือเซตตัวเก่งของไทย น้องชมพู่-พรพรรณ เกิดปราชญ์ กัปตันวอลเลย์บอลทีมชาติไทย เป็นนางรำบวงสรวงต้นร่วมกับนางรำทั้ง 12 อำเภอ จำนวน 9 ชนเผ่า ประกอบด้วย 1.ไทญ้อ (ย้อ) 2.ไทยแสก 3.ผู้ไทย (ภูไท) 4.เผ่ากะเลิง 5.ไทยข่า 6.ไทยกวน 7.เผ่าไทยโส้ 8.ไทยอีสาน 9.ไทยตาด และ 2 เชื้อชาติ ได้แก่ 1.จีน 2.เวียดนาม ตลอดจนพี่น้องชาว สปป.ลาว และประชาชนจังหวัดต่างๆ ที่ยื่นความจำนงร่วมรำบวงสรวงโดยในการรำปีนี้ยังมีการประพันธ์เพลงรำบวงสรวงขึ้นมาใหม่ด้วย
ทั้งนี้ การรำบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชของชาวจังหวัดนครพนมมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นเพื่อแสดงให้ประชาชนทั่วไป ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมได้เห็นถึงความงดงามของศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขงการแสดงวงดนตรีพื้นเมือง มหกรรมซุ้มอาหารโรงทาน และการจำหน่ายสินค้าดีสินค้าเด่นของแต่ละชุมชน
นอกจากนี้เวลาประมาณ 20.30 น. มีการแสดงบินโดรนจากสถาบันพระปกเกล้าจำนวน 500 ลำ เหนือกลางลำแม่น้ำโขงที่ได้แปรอักษรและภาพสัญลักษณ์สำคัญต่างๆ ของจังหวัดนครพนม ซึ่งจัดให้มีการแสดงบินโดรนด้วยกันทั้งสิ้น 2 วัน ขณะเดียวกันก็ยังมีการแสดงโขนที่เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย มีความสง่างามอลังการและอ่อนช้อยของท่วงท่ารำตามแบบละครในมาจัดแสดงให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับชมศึกษาและเรียนรู้ศิลปะที่เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่พร้อมก้าวไปสู่สายตานานาชาติ
พญาศรีสัตตนาคราชประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำโขงมีทั้งหมด 7 เศียร สร้างด้วยทองเหลืองทั้งองค์สูง 10.90 เมตร น้ำหนักรวม 9 ตัน ถือเป็นพญานาคหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่เหมือนที่ใด เพราะที่พระศอมีสร้อยสังวาลย์ที่นำเอาสัญลักษณ์เหนือซุ้มประตูองค์พระธาตุพนมมาสวมคล้องไว้ แสดงถึงพญานาคที่มีความผูกพันเชื่อมโยงพิทักษ์ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมตามตำนานที่กล่าวขานสืบมานานชั่วอสงไขย