รมช.คลัง เผยเลื่อนถกอนุฯ เงินดิจิทัล เหตุยังมีหลายเรื่องหาข้อสรุปไม่ได้ ปัดเอี่ยวเสียงวิจารณ์ ยังไม่ชัดรัศมีการใช้เงิน-แหล่งที่มาเงิน ได้ใช้แน่ 1 ก.พ.67 แอปฯเป๋าตัง ดีแต่เป็นคนละเงื่อนไขกับโครงการ จำเป็นต้องทำแอปฯใหม่ใช้งบไม่เยอะ
วันที่ 19 ต.ค. ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้มีการเลื่อนประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยจะมีการนัดประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เนื่องจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องมาปรึกษาว่าหลายประเด็นยังไม่ได้ข้อสรุปเพียงพอที่จะนำมาหาข้อสรุปกันในที่ประชุม จึงบอกให้เลื่อนการประชุม และส่วนไหนที่ค้างคาให้ประชุมเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนที่สุด ยืนยันว่าทั้งหมดยังอยู่ในกรอบเวลาเดิมไม่ล่าช้าอย่างแน่นอน
และยืนยันว่าการเลื่อนประชุมครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับที่มีหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าว โดยมีการนำข้อคิดเห็นต่างๆมาพิจารณาทั้งหมด เช่น เรื่องรัศมีการใช้เงิน 4 กิโลเมตร ได้มีการตัดออกตั้งแต่การประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนมาพิจารณา 3 ตัวเลือก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในรัศมีอำเภอ ตำบล หรือในจังหวัดแทน หลักการต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระจายตัวไม่อยู่แค่ในเฉพาะตัวเมืองเท่านั้น จึงมีความจำเป็นในการกำหนดพื้นที่ใช้เพื่อให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
ส่วนประชาชนบางส่วนที่สะท้อนถึงความยากลำบาก ที่ต้องเดินทางกลับไปใช้เงินที่ภูมิลำเนา นายจุลพันธ์ กล่าวว่าส่วนตัวเข้าใจและรับฟัง เราพยายามทำให้เสร็จในช่วงปีใหม่ (2567) เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางกลับไปใช้เงินที่บ้าน นอกจากนี้ในกลุ่มที่อาจจะเข้าไม่ถึง ได้มีการพิจารณาในกรณีจำเป็น และได้รับการยกเว้น เช่น ผู้ป่วยติดเตียง เราจะมีกลไกรองรับข้อจำกัดในส่วนนี้ แต่จะต้องมีการยืนยันตัวตน รวมถึงสามารถตรวจสอบได้
ส่วนเรื่องกลไกการยื่นตรวจสอบถือว่าเป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลสามารถทำได้ ภายใต้กรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะร้องเรียนผ่านช่องทางไหน ถือว่าเป็นสิ่งดีที่ได้รับการตรวจสอบเพื่อที่จะได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุม ทั้งนี้ยืนยันว่าเราทำภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่มีช่องทางในการทุจริตคอรัปชั่น เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ ถูกควบคุมโดยบัตรประชาชน ไม่มีใครที่จะเอาเงินส่วนนี้ไปได้ จึงขอยืนยันในเรื่องของความโปร่งใส และเมื่อกระบวนการไปถึงการตรวจสอบ ก็พร้อมที่จะจะชี้แจงในรายละเอียดต่างๆ
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะเกิดการฟอกเงิน โดยการนำเงินไปใช้แลกเงินดิจิทัลในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง นายจุลพันธ์ ระบุว่า หากใครยอมแลกกับเงิน 7,000-8,000 บาท ถือว่าขาดทุน ที่ผ่านมานโยบายของรัฐก็มีการดำเนินการในลักษณะนี้ แต่ก็มีการดำเนินการทางกฎหมายเช่นเดียวกัน โดยเงินดิจิทัลมีระบบบล็อกเชนที่จะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
นอกจากนี้ รมช.คลัง ยังระบุว่าส่วนแหล่งที่มาของเงินขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ต้องรอการประชุมของคณะอนุกรรมการฯครั้งถัดไป ซึ่งตัวเลือกแหล่งเงินมีหลากหลาย อาจจะไม่ใช่ทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง แต่อาจจะเป็นหลายทางเลือกแบบผสมผสาน และยังไม่สามารถตอบได้การกู้เงินจากธนาคารออมสิน เป็นตัวเลือกหนึ่งของรัฐบาลหรือไม่
ส่วนกรณีที่จะต้องมีการจัดทำแอปพลิเคชั่นใหม่ขึ้นมารองรับโครงการนี้ นายจุลพันธ์ ระบุว่า ไม่ใช่ว่าแอปเป๋าตังไม่ดี ซึ่งแอปฯของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นแอปฯที่ดีและบรรลุวัตถุประสงค์นั้นๆ และโครงการนี้ก็มีวัตถุของตัวเองรวมถึงมีข้อจำกัดที่แตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องของการมองไกลไปถึงซุปเปอร์แอปฯ ที่จะเป็นก้าวถัดไปในกระบวนการพัฒนาต่อยอด
ดังนั้นความเป็นเจ้าของแอปฯจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งข้อมูลต่างๆจะต้องเป็นของรัฐบาล เพื่อเราจะได้มีการพัฒนาต่อยอดในมิติต่างๆ อย่างครบถ้วน ส่วนค่าจัดทำแอปฯใช้งบประมาณไม่มาก โดยตนไม่รู้ว่าตัวเลข 12,000 ล้านบาทมาจากไหน โดยมอบหมายให้สมาคมธนาคารของรัฐช่วยกันดูและผลิตแอปฯสำหรับโครงการดังกล่าวนี้ แต่การพัฒนาต่อยอดในขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพราะจะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมกับยืนยันว่าประชาชนจะได้ใช้เงินดิจิทัลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 แน่นอน แต่สุดท้ายจะทันหรือไม่มี หรือเกิดข้อจำกัดอะไรขึ้น ที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถไปแลกกับความเร็ว ความปลอดภัย และหากไม่ทันจริงๆก็พร้อมที่จะไปกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าหากต้องเลื่อนโครงการนี้จริงนั้นไม่เกี่ยวกับการหาแหล่งเงินทุนไม่ได้.