สส.กทม. พรรคก้าวไกล ลุกถามถามแนวทางยกเลิกภาษี ผ้าอนามัย ก.คลังรับลูก จ่อดึงออกจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง แถมสวัสดิการแจกฟรีให้หญิงไทย
วันที่ 26 ต.ค. 66 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนาย ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานประชุม น.ส.ภัสริน รามวงศ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามทั่วไป เรื่องแนวทางการยกเลิกภาษี ผ้าอนามัย ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง โดยนายเศรษฐา มอบหมายให้นาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
น.ส.ภัสริน กล่าวว่า ผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของคนมีประจำเดือน โดยประเทศไทยมีผู้หญิงจำนวนมากที่เผชิญภาวะการขาดแคลน ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ เนื่องจากมีราคาที่สูงเกินไป
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้หญิงมีประจำเดือน 1 คน จะมีประจำเดือนร่วม 40 ปี แต่ละคนมีจำนวนวันประจำเดือนมาแตกต่างกัน อยู่ที่ 3-7 วัน ซึ่งต้องใช้ผ้าอนามัยประมาณ 4 แผ่นต่อวัน เมื่อคิดรวมแล้วผู้มีประจำเดือน 1 คน จะเสียค่าใช้จ่ายซื้อผ้าอนามัยต่อเดือนประมาณ 150-300 บาท และตลอดช่วงชีวิตที่มีประจำเดือน จะต้องเสียค่าใช้จ่าย 67,200-134,400 บาท
น.ส.ภัสริน กล่าวต่อว่า ฉะนั้นการยกเลิกภาษี ผ้าอนามัยหรือการแจก ผ้าอนามัยฟรี จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในหลายประเทศมีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีแล้ว จึงขอถามถึงอัตราภาษีนำเข้า สำหรับ ผ้าอนามัยทั้งแบบธรรมดาและแบบสอดจากต่างประเทศว่ามีอัตราการเสียภาษีร้อยละเท่าใด และรัฐบาลจะมีแนวทางการยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผ้าอนามัย หรือแนวทางอื่นๆ เช่น การสนับสนุนผ้าอนามัยฟรีให้กับประชาชนหรือไม่
ด้านนายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า แนวทางการยกเลิกภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีศุลกากร ต้องยอมรับว่า ผ้าอนามัยแบบสอดหรือธรรมดา ถูกกำหนดโดย พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา จึงถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เช่นนั้น และคงเป็นภาระของสภาฯ พิจารณาแก้ไข และครม. ก็จะรับเรื่องไว้เช่นกัน ว่ากฎหมายฉบับใดที่ล้าหลังและจำเป็นต้องแก้ เพื่อให้ทันสมัยและเหมาะสม
เรื่องผ้าอนามัยเป็นความจำเป็น ไม่ใช่เราจะเลือกได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ผ้าอนามัยไม่ได้อยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นหมวดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และเก็บภาษีศุลกากรแค่ 10% นอกจากนี้ ยังเป็นสินค้าที่มีการควบคุมโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ โดยเรามีมูลค่านำเข้าผ้าอนามัยอยู่ที่ 80 ล้านบาท แต่เป็นมูลค่านำเข้าที่ต้องชำระอากร เฉลี่ยปีละ 1.6 ล้านบาท ถือว่าผลกระทบจากการนำเข้ามีค่อนข้างน้อยในเรื่องภาษีอากร ภาษีศุลกากร
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการปรับลดอากรต่างๆ เรากำลังเจรจาขอ FTA เพิ่มเติมเพื่อหารายละเอียด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงอื่น ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จะไปเจรจาปรับลดภาษีอากรขาเข้ากับประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม
สำหรับแนวทางการยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ ผ้าอนามัย ได้สั่งการไปยังอธิบดีกรมศุลกากรให้ไปศึกษาข้อมูลแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่ หากอธิบดีส่งข้อมูลมา ตนจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการอย่างไร จะยกเลิกภาษีได้หรือไม่
นอกจากนี้ยังพูดคุยกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมวสาธารณสุข ถึงเรื่องดังกล่าว เพราะแม้จะมีการลดภาษี แต่ไม่ได้การันตีว่าจะเข้าถึงผ้าอนามัยให้กับสตรีทุกคนได้ หากภาครัฐ สามารถปรับแก้เรื่องความจำเป็น ดึงออกมาจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอางได้ และนำเข้าไปอยู่ในเรื่องความจำเป็นของชีวิตผู้หญิง เราก็จะดำเนินการให้มีสวัสดิการผ้าอนามัยสำหรับสตรีทุกคนได้