อย่าพลาดชม! ปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาบางส่วน" ช่วงเช้าวันออกพรรษา 29 ต.ค. 66
27 ต.ค. 2566 เฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” โพสต์ข้อความระบุว่า วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ซึ่งตรงกับดวงจันทร์เต็มดวงในเช้าวันออกพรรษา จะเกิดปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาบางส่วน" ในช่วงเช้ามืด สังเกตได้บริเวณทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แปซิฟิก แอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย อาร์กติก แอนตาร์กติกา สำหรับประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 01:01 - 05:26 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทพมหานคร) ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 01:01 น. แสงสว่างของดวงจันทร์จะลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก
จนกระทั่งเวลาประมาณ 02:35 น. ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์เต็มดวงจะค่อย ๆ เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 03:14 น. ประมาณร้อยละ 6 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 03:52 น. รวมเวลาเกิดจันทรุปราคาบางส่วนนาน 1 ชั่วโมง 17 นาที จากนั้นดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกอีกครั้ง และสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาโดยสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 05:26 น.
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดเฉพาะวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือในช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ กรณีที่ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า จันทรุปราคาเต็มดวง หากเคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกบางส่วน เรียกว่า จันทรุปราคาบางส่วน และเคลื่อนผ่านเฉพาะส่วนที่เป็นเงามัวของโลก เรียกว่า จันทรุปราคาเงามัว ซึ่งสังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก
สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่จะสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยครั้งถัดไป เป็น "จันทรุปราคาเต็มดวง" ในคืนวันที่ 7 ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน 2568