ธนกร ค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน. ชี้มีผลต่อความมั่นคงประเทศ ถามคนชงกฎหมายนี้ หวังนิรโทษกรรมล้างคดีความที่ถูก กอ.รมน.ฟ้องหรือไม่
วันที่ 1 พ.ย. 66 นาย ธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พรรคก้าวไกล เชิญชวนประชาชนแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน.ว่า
เรื่องนี้ตนขอคัดค้าน ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องรักษาความมั่นคงภายในประเทศ จากภัยคุกคามต่างๆ เช่น การก่อความไม่สงบ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นต้น หากยุบ กอ.รมน. ไป อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ได้
โดยการทำงานของ กอ.รมน.ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 ได้บูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตอบสนอง นโยบายรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และแก้ปัญหาให้ประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ กอ.รมน.คือหน่วยงานประสานการทำงานในลักษณะองค์กรผสม 3 ฝ่าย คือ พลเรือน ตำรวจ ทหาร มี 6 ศูนย์ประสานการปฏิบัติ ได้แก่
ศูนย์ 1 รับผิดชอบด้านยาเสพติด
ศูนย์ 2 รับผิดชอบด้านแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
ศูนย์ 3 รับผิดชอบด้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
ศูนย์ 4 รับผิดชอบด้านความมั่นคงพิเศษ
ศูนย์ 5 รับผิดชอบด้านความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ คือจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศูนย์ 6 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและการส่งเสริมสถาบัน
“หากยุบ กอ.รมน. ไป อาจทำให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานแยกส่วนกัน ประสิทธิภาพการบูรณาการ การประสานงานด้านต่างๆ ลดลง ผมเห็นด้วยกับนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนาย สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่ไม่มีแนวคิดจะยุบ กอ.รมน. แต่จะปรับแนวทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพให้มีการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อช่วยพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น” นาย ธนกร กล่าว
เมื่อถามว่า การล่ารายชื่อของ พรรคก้าวไกลจะมีผลต่อการยื่นร่างกฏหมายนี้ต่อสภาฯหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า การเสนอกฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อยื่นวาระเข้าสภาฯแล้ว ก็ถือเป็นสิทธิ์ของ สส. ที่จะพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน ตนเชื่อว่าทุกคนจะยึดหลักประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน มากกว่าพวกพ้อง หรือ รรคใดพรรคหนึ่ง
“ผู้ที่สนับสนุนให้ยุบ กอ.รมน. เขาอาจมองว่า กอ.รมน. มีอำนาจมากเกินไปอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การให้เหตุผลเหล่านี้ อาจมีเรื่องอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาตัวผู้ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.เอง รวมถึงพรรคดังกล่าวนั้น ถูก กอ.รมน.แจ้งความเอาผิดในคดีความมั่นคง มาวันนี้จึงเสนอกฎหมายเพื่อให้ยุบหน่วยงานที่เป็นคู่กรณีของตนเองหรือไม่ ขอฝากประชาชนติดตามข่าวสารอย่างมีข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อจะได้ทราบถึงที่มาที่ไปและเหตุผลของการขับเคลื่อนล่ารายชื่อในการยื่นกฎหมายดังกล่าวในครั้งนี้” นายธนกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายธนกร ยังย้ำว่า การตัดสินใจว่าจะยุบ กอ.รมน. หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งควรพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และการทำงานเพื่อประชาชนเป็นสำคัญ