สุทิน เตรียมเซ็นตั้ง กก.ศึกษาซื้อเรือดำน้ำ 24 ม.ค.นี้ ทาบ วิโรจน์ ร่วมคณะ คาดไม่เกิน 2 เดือนชัดเจน ด้าน วิโรจน์ เมินหวั่นทำลายหลักการตรวจสอบ
วันที่ 23 ม.ค. 67 ที่ศูนย์ราชการจ.ระนอง นาย สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม.สัญจร ถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษา เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ส่งตอบกลับมาแล้ว ทำให้เราพอทราบแนวทางและได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับกองทัพ ประเทศ และประชาชน จึงคิดว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ เป็นเรื่องที่ดีที่มีหลายคนมาช่วยกันคิด
คณะกรรมการชุดนี้จะมี 13-15 คน ซึ่งจะมาจากหลายฝ่าย มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารมว.กลาโหม เป็นประธาน นอกจากนี้จะมีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกฯ และเป็นผู้ที่สนใจเรื่องนี้มานาน สามารถนำข้อมูลไปรายงานให้นายกฯ ทราบได้ และยังมีตัวแทนจากสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ อัยการสูงสุด (อสส.) กองทัพเรือ คาดว่าจะเป็นผบ.ทร. ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ที่จะมาช่วยดูเรื่องการเงินและงบประมาณ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์
นอกจากนี้เราได้เชิญตัวแทนจากฝ่ายค้านคือ นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนใดคนหนึ่งมาร่วมด้วย ทั้งนี้ตนจะลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวในวันที่ 24 ม.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า อสส.ได้ตอบคำถามมาของกองทัพอย่างไรบ้าง นายสุทิน กล่าวว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้ โดยให้ออกเป็นมติ ครม. จึงจะใช้เป็นเรือดำน้ำจากประเทศจีน หรือจะใช้เรือยี่ห้ออื่น หรือจะข้ามไปเป็นใช้เรือฟริเกตก็ได้ โดยต้องออกเป็นมติ ครม.ดังนั้นคณะกรรมการที่ศึกษาเสร็จแล้ว จะต้องเสนอรายงานต่อรมว.กลาโหม ก่อนที่รมว.กลาโหม จะเสนอครม.พิจารณา โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีเวลาศึกษา 30 วัน
เมื่อถามว่า เมื่อมีการศึกษาแล้ว และผ่านที่ประชุมครม.จะดำเนินการให้จบและเห็นความชัดเจนได้ภายใน 2 เดือนหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ถ้าศึกษาเสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้นคงใช้เวลาไม่นาน ภายใน 2 เดือนก็น่าจะเห็นแนวทาง
ผู้สื่อข่าวถามว่านอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว จะเปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ส่งตัวแทนมาร่วมได้หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ก็ให้ส่งมา แต่คิดว่าตัวแทนจากพรรคก้าวไกลก็น่าจะเพียงพอ เพราะเขามีความสนใจเรื่องนี้อยู่
เมื่อถามว่านายวิโรจน์ ได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้แล้วหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา
ต่อมาที่รัฐสภา นายวิโรจน์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล เรามี กมธ.ความมั่นคงของนายรังสิมันต์อยู่แล้ว ที่ผ่านมารัฐมนตรีให้ความร่วมมือ ในการตรวจสอบถ่วงดุล ก็เพียงแค่ให้ข้อมูลเปิดเผย รายละเอียดสัญญา และตอบคำถามที่ กมธ.สงสัย อะไรที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศ และเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ แต่เราต้องอย่าลืมหลักการการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ ต้องไม่เข้าไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร เพราะความรับผิดชอบในการตัดสินใจ ยังอยู่ในอำนาจของ รมว.กลาโหม
สิ่งที่ต้องกังวล คือจะเอาความเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติ ไปอ้างอิงในการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ถ้าอยู่ลักษณะเช่นนั้น จะทำลายหลักการตรวจสอบ และถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยทันที ดังนั้นในความรู้สึกของตนกับนายสุทินเข้าใจกัน ไม่ได้มีปัญหา แต่อยากจะรักษาหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และอยากให้เป็นหน้าที่ของ กมธ.การทหาร หรือกมธ.ความมั่นคง แต่ตนคงตอบแทนนายรังสิมันต์ไม่ได้
ส่วน กมธ.การทหารของตน อยากให้อยู่ในบทบาทของ กมธ.การทหาร และกระทรวงกลาโหมมากกว่า ดีกว่าให้เป็นนายวิโรจน์ คนใดคนหนึ่ง
เมื่อถามว่า จะไม่เข้าร่วมใช่หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า คิดว่าคงจะมีโอกาสหารือกับนายสุทิน ในช่วงเดือน ก.พ. ซึ่งวันนี้คงต้องคุยในรายละเอียดก่อน แต่เจตนาที่พยายามจะคลี่คลายหาทางออก ให้เป็นประโยชน์กับเงินภาษีของประชาชน ก็เป็นดำริที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีการข้อตกลงร่วมกัน ในการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกระทรวงกลาโหม และ กมธ.การทหาร เพื่อให้ทำงานกันอย่างแนบแน่นมากขึ้น ไม่ใช่ว่าส่งเอกสารหรือขอหนังสืออะไรไปแล้ว ไม่เคยได้รับอย่างที่เคยเป็นมา
ถ้าจะทำงานอย่างไร้รอยต่อมากขึ้น ถ้าเราสงสัยแล้วท่านชี้แจง เปิดเผยรายละเอียดเป็นสาธารณะ อะไรที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เข้าอกเข้าใจกัน ตรงนั้นจะทำให้เราทำงานได้อย่างเข้าใจ
เมื่อถามถึง นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตอบรับเข้าร่วมแล้ว มองว่าเป็นบทบาทที่เหมาะสมหรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า มองว่าเป็นการตัดสินใจของนายยุทธพงศ์ ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นคนที่มีข้อมูลเรื่องเรือดำน้ำ และน่าจะช่วยงานนายสุทิน ได้พอสมควร ไม่ว่านายยุทธพงศ์จะตัดสินใจด้วยเหตุผลใด ตนก็เคารพการตัดสินใจของนายยุทธพงศ์
เมื่อถามว่า จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคก่อนจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า คงจะหารือกันในหมู่ สส. มากกว่า เพราะเป็นเรื่องอำนาจนิติบัญญัติ