สนธิญา ร้องขอ กกต.พ่วงคำสั่งให้ 44 สส.ก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ยันหลักฐานชัด ล้อคำร้องสมัยบิ๊กตู่ วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี
วันที่ 15 มี.ค. 67 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นาย สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พรรคก้าวไกล ยุติการปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด
กรณีที่ กกต.ส่งเรื่องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยยุบ พรรคก้าวไกล กรณีใช้การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง
นายสนธิญา กล่าวว่า วันนี้มาเรียกร้องให้ กกต.ส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พรรคก้าวไกลหยุดการปฏิบัติหน้าที่จนกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุม กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ ส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหาร พรรคก้าวไกล แต่เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 93 ระบุว่า กกต.นายทะเบียนพรรคการเมือง หรืออัยการสูงสุด สามารถส่งคำร้องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค และสามารถพ่วงเรื่องขอให้พรรคการเมืองที่ถูกร้องยุติการดำเนินการใดๆ ไปก่อน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พร้อมพ่วงขอให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
นายสนธิญา กล่าวว่า โดย สส. 44 คน ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็มีส่วนร่วมส่งคำร้องกรณี พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน ซึ่งศาลก็มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ดังนั้นเมื่อ กกต.จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบ พรรคก้าวไกลก็ขอให้เสนอเรื่องให้ พรรคก้าวไกลยุติการดำเนินการใดๆ ไปจนกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยถึงที่สุด
“วันนี้ที่มายื่น เพราะผมต้องการอยากให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น ในเมื่อคุณยื่นเรื่องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ครบวาระ 8 ปีหรือไม่ ท่านก็บอกศาลว่าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ วันนี้เมื่อ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำของ พรรคก้าวไกลเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองยุบพรรค รวมถึงตัดสิทธิทางการเมือง ก็สมควรที่จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พรรคการเมือง โดยเฉพาะ พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำการใดๆ ไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด” นายสนธิญา กล่าว
เมื่อถามว่า มีกระแสจากพรรคก้าวไกลระบุว่าการยุบพรรคใช้กระบวนการรวดเร็วกว่ากระบวนการพิจารณายุบพรรคภูมิใจไทยกรณีรับเงินบริจาค นายสนธิญา กล่าวว่า กรณีการยุบ พรรคก้าวไกลที่ กกต.ส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เห็นว่าศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยกรณีการชุมนุมเรียกร้อง 10 ข้อของกลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 64 โดย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้ยุติการกระทำใดๆ อันเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อีกทั้งเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา และในกรณีนี้ที่ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ส่วนหนึ่งก็ได้อ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ด้วย
นายสนธิญากล่าวว่า อีกทั้งพรรคก้าวไกลไม่ได้แสดงเจตนาในขณะนี้เลยว่าพร้อมที่จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการกระทำอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ซึ่งมีผลผูกพันทุกองค์กร จึงเชื่อมั่นว่าหากพรรคก้าวไกล แสดงพฤติกรรม หรือท่าทียอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และพร้อมที่จะแก้ไขลดเพดานการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เชื่อว่าจะไม่มีการยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งข้อเท็จจริงในประเด็นนี้มีความชัดเจนในทุกอณูของคำวินิจฉัย โดยอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง และรวมถึงหลักฐานการกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นของพรรคก้าวไกล
เมื่อถามว่า กรณีที่นักวิชาการมองว่าการยุบพรรคก้าวไกลก็จะไม่จบ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวทำงานการเมืองอย่างต่อเนื่อง นายสนธิญา กล่าวว่า การที่ พรรคก้าวไกลถูกยุบเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่มีใครกลั่นแกล้งหากพรรคก้าวไกลไม่ดำเนินการก็จะไม่มีผู้มาร้อง และผู้ที่มาร้องก็มีหลักฐานและเหตุผลประกอบให้ กกต.พิจารณา อีกทั้งการร้องยุบพรรคการเมืองไม่ได้ร้องเป็นครั้งแรก
ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ กกต.และ ศาลรัฐธรรมนูญให้เข้าใจว่ากระบวนการเหล่านั้นเป็นไปตามกฎหมาย ตราบใดที่ พรรคก้าวไกลยังดำเนินการขัดกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญก็จะถูกยุบ หรือตัดสิทธิทางการเมืองไปเรื่อยๆ