ดรามาสนั่น งานล้างป่าช้าชาวมอแกน โวยไม่ได้เป็นศพไร้ญาติ ล่าสุดมูลนิธิแจงชาวมอแกนเป็นฝ่ายร้องขอเอง เพราะไม่มีที่ฝังศพแล้ว
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เมื่อเพจระนองนิวส์โพสต์ภาพการล้างป่าช้า โดยระบุว่า “มหากุศลสามัคคีเก็บศพไร้ญาติระนองมูลนิธิระนองสงเคราะห์พ้งไล้จั๊บอิ๊กเซียวเกาะ พร้อมสมาคมและมูลนิธิต่างๆจากทั่วประเทศร่วมบำเพ็ญกุศลมหาสามัคคีเก็บศพไร้ญาติ (ล้างป่าช้า) ครั้งที่ 6 จังหวัดระนอง
โดยระบุจำนวนที่เก็บศพได้ 4 ครั้ง 65 ร่างและระบุว่า ก่อนจะนำมาประกอบพิธีทางศาสนาสวดอภิธรรมกระดูก ในทุกค่ำคืนตลอด 49 วัน ณ ศาลเจ้าพ้งไล้จั๊บอิ๊กเซียวเกาะ
เพจยังระบุหมายเหตุว่า “ปล.โดยพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินการเก็บกระดูกใน จ.ระนอง นั้นเป็นพื้นที่ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นๆเป็นผู้ร้องขอให้ทางมูลนิธิระนองสงเคราะห์ เข้าดำเนินการจัดเก็บไปบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณที่วายชนม์ โดยถูกต้องตามขั้นตอน”
ทั้งนี้หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีการระบุว่าศพเหล่านี้เป็นสุสานของชาวมอแกน มีป้ายชื่อปักไม่ได้เป็นศพไร้ญาติแต่อย่างใด ญาติพี่น้องต่างเสียใจ เพราะเป็นแค่ชาวเกาะ ไม่สามารถทำอะไรไ ด้ทำให้มีการเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวอย่างหนัก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น.ที่มูลนิธิระนองสงเคราะห์พ้งไล้จั๊บอิ๊กเซียวเกาะ ได้เปิดแถลงข่าวทำความเข้าใจถึงข่าวดรามา พร้อมแสดงหนังสือเอกสารที่มีการร้องขอจากตัวแทนพี่น้องชาวมอแกน บ้านเกาะเหลา ที่ขอให้ทางมูลนิธิระนองสงเคราะห์ไปทำพิธีล้างป่าช้า เพื่อให้มีพื้นที่ในการฝังศพรายต่อไป และหนังสือขออนุญาตไปทางอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะระนอง เพื่อไปทำพิธีล้างป่าช้าให้กับชาวมอแกน
โดยนายมนัส สุขวาณิชวิชัย รองประธานมูลนิธิระนองสงเคราะห์ ได้เปิดเผยว่า การล้างป่าช้าครั้งแรก ทำเมื่อปี 2521 ก็ 46 ปีแล้ว ปัจจุบันครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 6 ตั้งแต่ 23 มีนาคม 2567 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เป็นเวลา 49 วัน ในการล้างป่าช้าครั้งนี้ ได้ทำที่สุสานหินดาด วัดป่าช้าเกาะเหลา และเกาะกระทะ ที่ได้รับการร้องขอจากตัวแทนชาวบ้านมอแกน เนื่องจากพื้นที่ในเกาะเต็ม จึงไปดำเนินการขุดเพื่อที่จะให้อนาคตจะได้มีการดำเนินการฝังศพต่อไป
ทางมูลนิธิมีความบริสุทธิ์ใจในการล้างป่าช้าครั้งนี้ โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง การดำเนินการได้มีการประชุมประชาคมชาวบ้านชาวมอแกน ที่ศาลเจ้าพ้งไล้จั๊บอิ๊กเซียวเกาะมูลนิธิระนองสงเคราะห์ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 โดยการสอบถามความสมัครใจกับชาวบ้าน ว่าเราจะไปดำเนินการขุดที่เกาะเหลา และเกาะกระทะ มีความคิดเห็นอย่างไร ชาวบ้านก็ยกมือมีความยินยอม โดยมีเอกสารยินยอมให้ขุดจากญาติของผู้เสียชีวิตครั้งนี้ และแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า ท่านใดลูกหลานท่านใด ที่ไม่ประสงค์ให้ขุดก็ให้ทำเครื่องหมายที่หลุมไว้ เป็นที่สังเกตเพื่อที่คณะทำงานล้างป่าช้า จะไม่ดำเนินการขุดให้อันนี้เป็นขั้นต้นที่ชี้แจงไป
ด้าน นางเนาวนิตย์ แจ่มพิศ ตัวแทนชาวมอแกนเกาะเหลา กล่าวว่า ปัญหาของชาวมอแกน โดยชาวมอแกน มีอยู่สามเกาะ คือเกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม ซึ่งมีสุสานอยู่สองพื้นที่ คือเกาะเหลา เกาะกระทะ ที่เกาะกระทะไม่มีบ้านคนอยู่ เป็นแค่สุสานของชาวมอแกน ส่วนเกาะเหลาก็จะมีชาวมอแกน และมีสุสานอยู่ด้านหลัง และเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา ก็มีการล้างป่าช้าไปแล้วหนึ่งครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง สำหรับที่ฝังศพของชาวมอแกน ที่เกาะกระทะ ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆเหมือนฝาชีครอบกับข้าว มีพื้นที่น้อย หลังมีศพผู้เสียชีวิตก็หาที่ฝังศพยากมาก ต้องยกขึ้นไปบนยอดเขา เพื่อที่จะฝังศพ เพราะพื้นที่เต็มเป็นอุปสรรค จึงได้คุยกับชาวมอแกนหลายๆ คนว่าจะทำอย่างไร
จึงได้ประสานให้ทางมูลนิธิไปชี้แจงให้ชาวมอแกนรับทราบ หลังจากลงพื้นที่ชี้แจงทุกคนก็ไม่มีปัญหา แต่ทางมูลนิธิก็ยังแจ้งให้กับทางชาวมอแกนทราบว่า หากศพใดไม่ต้องการให้ขุด ก็ให้ทำสัญลักษณ์เอาไว้ว่าหลุมนี้ไม่ให้ขุด ที่มีการชี้แจงจนเข้าใจทั้งสองเกาะแล้ว และมีการลงลายมือเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้
ส่วนผู้ร้องเรียนทางสื่อออนไลน์ เขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่หลายสิบปีแล้ว และคงไม่เข้าใจกระบวนการที่ทำกันมา ในฐานะที่อยู่กับชาวมอแกนมา 20 กว่าปี ยืนยันนายแดง คนที่คอมเมนต์ในโซเชียล แม่เขายังมีชีวิตอยู่ ส่วนพ่อที่เสียชีวิต เป็นพ่อบุญธรรม เขาคงไม่เข้าใจกระบวนการ แต่คนที่อยู่ในพื้นที่เข้าใจ.