"อธิบดีกรมราชทัณฑ์" เฉลยสาเหตุที่แพทย์ไม่สามารถบังคับ "บุ้ง" กินอาหารได้

16 พ.ค. 67

"อธิบดีกรมราชทัณฑ์" เตรียมไล่กล้องวงจรปิดไทม์ไลน์ "บุ้ง" เสียชีวิต ย้ำชัดโน้มน้าวกลับมาทานข้าวอย่างถึงที่สุด แต่ไม่สามารถขัดขวางอุดมการณ์ได้

 

จากกรณีที่ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง กลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง เกิดอาการวูบหมดสติและหัวใจหยุดเต้นในระหว่างการนอนพักรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนแพทย์พิจารณาส่งตัวเข้ารับการรักษาโดยด่วนที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ ต่อมาแพทย์ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ โดยอัตราชีพจรของบุ้งได้หยุดเต้นในเวลา 11.22 น. ของวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามที่มีการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ (16 พ.ค.) นายสหการณ์ เพ็ชร์นรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า สำหรับผลการชันสูตรพลิกศพของ น.ส.เนติพร หรือบุ้ง ล่าสุดทางกรมราชทัณฑ์ ยังไม่ได้รับมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์แต่อย่างใด โดยทางกรมราชทัณฑ์ได้มีการประสานอย่างต่อเนื่องกับแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เนื่องจากทราบว่ามีกระบวนการพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการตัดเอาชิ้นส่วนอวัยวะ ชิ้นเนื้อเยื่อเพื่อเข้าตรวจสอบภายในห้องแล็บ ถือเป็นกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปวิเคราะห์และประมวลผล คาดว่าอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

ส่วนกรณีที่มีรายงานว่าทางโรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีการนำเอาสารคัดหลังและเลือดไปตรวจสอบนั้น ตรงส่วนนี้ขึ้นอยู่กับทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ว่าจะมีการประสานขอความร่วมมือ ขอรับการสนับสนุนกับสถานพยาบาลแห่งใดสำหรับการตรวจเพิ่มเติมหรือไม่

นายสหการณ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับผลการตรวจชันสูตรพลิกศพจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หากมีการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทางกรมราชทัณฑ์ก็จะได้รับทราบในทุกรายการ คาดว่าอาจใช้เวลาไม่ถึงเดือน หรืออาจจะใช้เวลาประมาณ 15 วันก็จะได้รับทราบผล

ส่วนผลที่เจะได้รับทราบ อาทิ ค่าตับ ค่าไต ภาวะของกระเพาะอาหาร เส้นเลือดต่างๆภายในร่างกาย เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเจ้าตัวมีโรคกระเพาะร่วมด้วยหรือไม่ก่อนที่จะมีการเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ผลการชันสูตรพลิกศพจะช่วยคลี่คลายข้อสงสัยในทุกประเด็นได้ และทางกรมราชทัณฑ์จะมีการแถลงชี้แจงเพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อมูลครบถ้วน

"นอกจากนี้ ตนได้รับรายงานมาว่ากระบวนการช่วยชีวิตบุ้งนั้น ทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาของแพทย์ทุกประการ  เนื่องจากเวลามีผู้ต้องขังป่วยเข้ามาที่เรือนจำหรือทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ประจำจุดก็มีหน้าที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และมีการประสานกับแพทย์ประจำเรือนจำเข้าไปทำการตรวจเลือด วัดค่าความดันโลหิต ตรวจค่าออกซิเจนปลายนิ้วมือ เพื่อที่จะดูว่าผู้ป่วยรายนั้น ๆ มีอาการอย่างไรบ้าง มีสภาวะวิกฤติหรือไม่ เพื่อจะได้มีแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้อง"

นายสหการณ์ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนกรณีของ น.ส.เนติพร หรือบุ้ง ที่ผ่านมาไม่พบว่ามีอาการที่บ่งชี้ถึงการจะเกิดภาวะวูบหมดสติอย่างกระทันหัน เนื่องจากค่าออกซิเจนและค่าความดันมีความปกติ

ขณะเดียวกันในเช้าวันที่ 14 พ.ค. ก่อนที่บุ้งจะเสียชีวิต พบว่ามีการพูดคุยปกติกับ น.ส.ทานตะวัน บนเตียงผู้ป่วย อีกทั้งจากที่ได้รับรายงาน บุ้ง ได้มีการรับประทานตามปกติ ตามหลักโภชนาการ เช่น อาหารอ่อน (สำหรับผู้ป่วยพักฟื้น) นม และอาหารเสริม แต่เราก็ไม่ได้บังคับ หากเจ้าตัวจะรับประทานก็หยิบทานได้ แต่ถ้าไม่ทาน เราก็ไปบังคับไม่ได้ แต่ได้มีการแนะนำโน้มน้าวว่าควรรับประทาน

แต่ก็ต้องยอมรับว่าจากเหตุการณ์ที่ บุ้ง ได้มีการอดอาหารและน้ำมาเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ร่างกายขาดวิตามิน เกลือแร่ ส่งผลต่อระบบร่างกายโดยรวมได้ แต่บุ้ง ก็ได้ปฏิเสธชัดเจนถึงการรับสารอาหารและวิตามินทางหลอดเลือด

เมื่อถามว่าก่อนบุ้งจะเกิดการวูบหมดสติจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้มีอาการปวดท้อง ปวดโรคกระเพาะ หรือปวดลักษณะคล้ายไส้ติ่งมาก่อนหรือไม่ นายสหการณ์ อธิบายว่า ตามที่ได้รับรายงานทราบว่าในลักษณะที่บุคคลใดมีการอดอาหารมาเป็นระยะเวลานาน น้ำย่อยภายในกระเพาะหากออกมาแล้วไม่ได้ย่อยอาหารก็จะย่อยกระเพาะตัวเอง ซึ่งทางแพทย์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ได้มีการให้บุ้งทานยาลดกรดเกินในกระเพาะอาหารแล้ว เป็นการรักษาตามอาการ

ส่วน น.ส.ทานตะวัน ตอนนี้ได้กลับมารับประทานอาหารตามปกติแล้ว และอยู่ในการดูแลของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เพื่อให้มีขวัญกำลังใจที่ดี ส่วนนายแฟรงค์ ณัฐนนท์ (ผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง) ก็ได้กลับมารับประทานอาหารเช่นเดียวกัน และปัจจุบันอยู่ในการดูแลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

ส่วนประเด็นคำถามว่า ทางกรมราชทัณฑ์ มีแนวทางอย่างไร หากหลังจากนี้จะมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองรายอื่นๆประกาศอดอาหารและน้ำ แล้วเสี่ยงต่อภาวะอันตรายถึงแก่ชีวิต นายสหการณ์ บอกว่า คนอดอาหารนั้น ร่างกายจะขาดสารอาหารและเกลือแร่ ซึ่งระยะเวลาการอดอาหารและน้ำ ในทางการแพทย์แล้วจะมีเวลากำหนดอยู่ว่าร่างกายมนุษย์สามารถอดได้ประมาณกี่วัน หากไม่รับประทาน ร่างกายจะเกิดผลเสียอย่างไร เสี่ยงต่อการเผชิญภาวะพิการในระยะยาวได้ หรือหากไม่เสียชีวิตก็อาจจะมีสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม

ส่วนสิ่งสำคัญที่ทางกรมราชทัณฑ์จะป้องกันอย่างไรนั้น ตอบแบบตรงไปตรงมาก็คือเราจะต้องรักษาตามอาการและติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็จะต้องโน้มน้าวให้กลับมารับประทานอาหารหรืออย่างน้อยก็รับวิตามินและเกลือแร่ แต่ถ้าเจ้าตัวยังคงปฏิเสธยึดมั่นในเจตนารมณ์อุดมการณ์ เราก็คงจะต้องรักษาไปตามอาการ และพร้อมให้ความช่วยเหลือทันทีหากพบภาวะวิกฤตเกิดขึ้น ยืนยันว่าแม้ผู้ต้องขังจะประกาศอดอาหารและน้ำ แต่เราก็ไม่ได้มีการละเลยปล่อยปละไม่ดูแลรักษา

นายสหการณ์ อธิบายด้วยว่า ส่วนกรณีที่สังคมตั้งข้อสงสัยกันว่าทำไมทางแพทย์ถึงไม่บังคับให้ผู้อดอาหารรับประทานอาหารนั้น อยากเรียนว่ามันมีกฎปฏิญญาโตเกียว ประมาณปี ค.ศ. 1975 และ 1991 กำหนดไว้เลยว่าแพทย์ ไม่มีหน้าที่ หรือว่าแพทย์ จะต้องไม่ไปบังคับให้อาหารแก่ผู้ถูกคุมขัง และการกระทำใด ๆ จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้อดอาหารประท้วงเพื่อดำรงไว้ซึ่งเจตจำนงเสรี หากแพทย์ไปบังคับรับประทานอาหารจะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่ทั้งนี้เราก็พยายามนำสิ่งเหล่านี้มาสู่มาตรฐานสำหรับผู้อดอาหารโดยเป็นการโน้มน้าวก่อน แต่ถ้าโน้มน้าวแล้วเขาไม่ยินยอมก็ต้องมีการลงชื่อลงนามอดอาหาร แต่เราก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยหรือละทิ้งคนกลุ่มนี้ ก็ดูแลรักษาตามอาการ เพื่อไม่ให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่บางสิ่งบางอย่างก็อยู่เหนือการควบคุม

นายสหการณ์ ระบุด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการออกข่าวแจกสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงในทุกประเด็นข้อสงสัย และต้องขออภัยสื่อมวลชนทุกท่านจากการแถลงข่าววานนี้ (15 พ.ค.) เนื่องจากผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ (นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์) ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของเคสหรือเจ้าของไข้ของบุ้งโดยตรง จึงอาจยังตอบรายละเอียดเชิงลึกไม่ได้ แต่วันนี้ตนจะไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดภายในห้องผู้ป่วยของบุ้งและตะวันทุกจุดเวลา เพื่อดูว่าในช่วงเวลาการเกิดเหตุ บุ้งมีอาการอย่างไร และตะวัน อยู่จุดไหนอย่างไร แล้วจะได้นำมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านเอกสารเพื่อให้เกิดการคลายข้อสงสัยทั้งหมด

ทั้งนี้ นายสหการณ์ ปิดท้ายว่า แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอย่างกะทันหัน เนื่องจากในช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้มีการให้การรักษาดูแลอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การรับตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง พอเจ้าตัวมีการอดอาหารและน้ำและเกิดภาวะทางสุขภาพ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ได้มีการส่งตัวไปเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จากนั้นอาการไม่ดีขึ้น จึงส่งตัวไปที่โรงพยาบาลแม่ข่าย คือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และเมื่อแพทย์มีดุลพินิจว่าอาการไม่น่ากังวล และเพียงพอที่จะส่งกลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตามเดิม เราก็ได้มีการรับตัวและดูแลปฎิบัติตามปกติ เราทำหน้าที่ทุกอย่างให้เขาอยู่ใกล้แพทย์ที่สุดเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แต่ในเรื่องอุดมการณ์ของเขา เราคงไปขัดขวางไม่ได้ อีกทั้งบุ้งได้มีการเซ็นเอกสารปฏิเสธไม่รับการรับประทานอาหาร เกลือแร่ และวิตามิน

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส