การโกงเงินภาษี หนึ่งในการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

3 มิ.ย. 67

การโกงเงินภาษี หนึ่งในการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบ แต่ว่าหลายคนอาจจะไม่ทราบว่ามีหนึ่งรูปแบบที่สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก นั่นก็คือการโกงเงินภาษี ซึ่งความเสียหายสูงถึง 4,900 ล้านบาท เม็ดเงินมหาศาลขนาดนี้ทำกันเป็นขบวนการแน่นอน มีการร่วมมือกันทั้งรัฐและเอกชน

SPOTLIGHT Anti Corruption บทความนี้ จะพาทุกคนดูขบวนการโกงเงินคืนภาษีกันคะว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร และจะหาแนวทางอะไรป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำได้อีก

มหกรรมโกงภาษี VAT ทำรัฐเสียหายเป็นหมื่นล้าน

ต้องเรียกว่าเป็นมหกรรมการโกงภาษีเลยก็ว่าได้ เพราะการแถลงข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 เกี่ยวกับการดำเนินคดีทุจริตการขอคืนภาษี และการฟอกเงิน ที่DSI รับมาดำเนินการ 4 คดีมีมูลค่าความเสียหายรวมกันสูงกว่า 10,000 ล้านบาท  ซึ่งนี่คือเม็ดเงินที่รัฐต้องสูญเสียไป เพราะฝีมือขบวนการทุจริตที่เจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมมือกันกับเอกชน

การโกงเงินภาษี หนึ่งในการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

1ใน 4 คดีที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด คือ คดีที่ 58/2566 เป็นการทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่กว่า  4,915ล้านบาท ซึ่ง DSI มีความเห็นควรสั่งฟ้องทุกข้อหาแล้ว

ลักษณะวิธีการทุจริตที่สร้างความเสียหายได้มหาศาลขนาดนี้ เนื่องจากภาคธุรกิจเอกชนรายนี้ ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกแร่เหล็ก มีการตั้งบริษัทขึ้นมา 30-40 บริษัท เพื่อทำการทุจริต

ทั้งนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดจากการซื้อขาย ดังนั้นเมื่อตอนยื่นภาษีส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ เอกชนมีการยื่นภาษีให้สรรพากรในราคาที่ต่ำ แต่เมื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกลับสำแดงในอัตราที่สูงกว่า โดยมีหลักฐานสำคัญในการเอาผิดคือ เอกสารการยื่นภาษี  เอกสารการซื้อขายที่พบว่าเป็นเอกสารเท็จ ไม่ได้มีการซื้อขายหรือส่งออกสินค้ากันจริง

ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ที่ใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบ วิเคราะห์และให้คืนภาษีก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีส่วนรู้เห็น มีส่วนร่วมในการทุจริต เพราะได้ส่วนแบ่งจากภาษีมูลค่าที่เอกชนได้คืนไปนั่นเอง โดยเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด บ่งบอกชัดเจน ถึงการมีส่วนร่วมในการโกงภาษี

คดีนี้ DSI ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร

การโกงเงินภาษี หนึ่งในการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

ทำการทุจริตเป็นขบวนการ ทั้งเอกชนและภาครัฐ

กรณีของการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2566 นั้นถือว่ากระทำต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายมีเจ้าหน้าที่รัฐฯในสังกัดเดียวกันส่งข้อมูลการทุจริตให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ และพบว่าผู้กระทำความผิดในฝั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ อยู่ในตำแหน่งระดับสูงด้วยที่ยอมร่วมมือทุจริตกับภาคเอกชน และแต่ละเคสที่เกิดขึ้นล้วนสร้างความเสีบหายให้กับรัฐเป็นหลักพันล้านบาททั้งสิ้น

การโกงเงินภาษี หนึ่งในการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

สิ่งที่ทาง ป.ป.ช. ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทุจริตขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ คือ การตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อเสนอแนะไปยัง ครม.โดยมีความเห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับระบบการตรวจสอบที่ต้องรัดกุมมากขึ้น เช่น กรมศุลกากร เดิมทีมีการสุ่มตรวจสินค้าในสัดส่วนประมาณ 3% จากจำนวนสินค้าที่แจ้งในเอกสาร  ก็ควรเพิ่มสัดส่วนการตรวจให้สูงกว่า 3% โดยเน้นไปที่สินค้าที่มูลค่าสูง หรือ เป็นที่ต้องการของตลาด  รวมถึงให้ผู้ตรวจสอบที่มีความชำนาญการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย เพื่อลดโอกาสในทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

... ชี้ว่าการโกงภาษีมีหลายรูปแบบ แต่ที่พบบ่อยคือเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเปลี่ยนชื่อเช็คใช้คืนเงินภาษี

การโกงภาษียังมีหลายรูปแบบข้อมูลจากรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. นายเอกชัย เกษมสุขธวัช พบว่า กรณีโกงภาษีที่พบบ่อยคือรูปแบบเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตไม่ยอมคืนเงินภาษีให้กับผู้ที่จะต้องได้ภาษีคืน แต่กลับมีการโอนเงินภาษีที่ต้องคืนไปยังบัญชีของเจ้าหน้าที่รัฐ

การโกงเงินภาษี หนึ่งในการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

โดยช่องว่างสำคัญ คือ ระบบการตรวจสอบชื่อและเช็คที่ต้องคืนถูกตั้งคำถามว่า ทำไมถึงสามารถเปลี่ยนชื่อ เช็คเหล่านั้นได้ สะท้อนถึงการใช้ความไว้วางใจของเจ้าหน้าที่ ทำให้ระบบที่อาจจะดีอยู่แล้วเกิดความหย่อนยาน

พฤติกรรมการโกงคืนภาษีของเจ้าหน้าที่รัฐจึงถือเป็นบทเรียนสำคัญให้ผู้มีอำนาจ ต้องถ่วงดุลพัฒนาและวางระบบให้ดีขึ้นรวมถึงการตรวจสอบให้มากขึ้น 

ไทยขาดการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ

ปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาค้าขายหรือลงทุนในประเทศไทย หากการคอร์รัปชั่นยังหนักหน่วงจะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศไปอย่างน่าเสียดาย

การโกงเงินภาษี หนึ่งในการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

แม้ดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2566 พบว่า คะแนนของประเทศไทยแย่ลง ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศซึ่งผู้ประเมินมองว่า ไทยขาดการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง มุมมองของคุณนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มองอีกมุมว่าแม้อันดับประเทศไทยจะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่คนไทยในปัจจุบันตื่นตัวและตระหนักเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างจิตสำนึกต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ทุจริตโกงเงินคืนภาษีสร้างความเสียให้ภาครัฐกว่าแสนล้านบาท

จากข้อมูลที่เล่ามา จะเห็นได้ว่า กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับภาคเอกชนกระทำการทุจริตโกงเงินขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มูลค่ากว่า 4,900 ล้านบาทนั้น กระทำกันอย่างเป็นขบวนการ เริ่มจากภาคเอกชนจัดตั้งบริษัท มากถึง 30-40 บริษัท และบุคคลใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วมและมี การปลอมแปลงเอกสารนำเข้าและส่งออกสินค้า แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพื่อนำเอกสารปลอมมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น

ถือการสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล ทำให้ภาครัฐได้รับความเสียหายรวมแล้วเป็นระดับหลายแสนล้านบาทเลยทีเดียว 

ดังนั้น ภาครัฐควรจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการคืนภาษี เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนได้ และการจัดทำเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด  และหากมีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยตรวจสอบ เพิ่มจำนวนการตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในร้องเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

advertisement

ข่าวยอดนิยม