สส.พัทลุง แนะรัฐบาลหนุนท้องถิ่น จัดการแหล่งน้ำของตัวเอง แก้โลกร้อน

24 มิ.ย. 67

สส.พัทลุง ชี้ โลกร้อนกระทบไทยหนัก แนะรัฐบาลหนุนท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารจัดการแหล่งน้ำของตัวเอง 

วันที่ 24 มิ.ย. 67 ในเวทีเสวนา การจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคอีสาน โครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน จ.อุดรธานี นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลายคนคงแปลกใจที่ตอนนี้เข้าหน้าฝนแล้ว ทำไมฝ่ายค้านจึงมาพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องเรียนว่าเรื่องของโลกร้อนไม่ได้หมายความแค่ความร้อน แต่มันคือโลกที่รวนมากขึ้น ฝนตกน้อยเกินไปหรือมากเกินไป แปรปรวนมากยิ่งขึ้นจนไม่สามารถบริหารจัดการแบบเดิม ๆ ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคอีสานหลายปีที่ผ่านมา มีทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ยิ่งเกษตรกรยิ่งได้รับผลกระทบมาก ต้นเหตุการจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นในระดับโลก มาจากทั้งภาคอุตสาหกรรม คมนาคม และภาคเกษตร มีการประเมินกันว่าขณะนี้โลกร้อนเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส ผลกระทบเห็นชัดเจนคือเรื่องความร้อน ไฟป่า ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน ความร้อนในทะเล ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หลายพื้นที่ชายฝั่งกระทบอย่างมาก 

สส.พัทลุง แนะรัฐบาลหนุนท้องถิ่น จัดการแหล่งน้ำของตัวเอง แก้โลกร้อน

“แม้ว่าไทยเองมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก แต่ปัญหาคือเราเป็นประเทศลำดับ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน และมีการคาดการณ์ว่าจะกระทบเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของโลก ดังนั้น เมื่อเราเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ก็ต้องมีมาตรการรับมือมากกว่านี้ ต้องปรับตัวให้ได้ เพราะผลกระทบมีแต่จะรุนแรงขึ้นในอนาคตต ต้องให้สำคัญกับเรื่องนี้ ยิ่งพี่น้องภาคอีสานเรื่องน้ำได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ก็ยังมีปัญหาทั้งงบประมาณ ทั้งการกระจายอำนาจที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมากนัก สิ่งที่เราอยากเสนอต่อรัฐบาลคือต้องสนับสนุนให้มีการกักเก็บน้ำให้มากขึ้นในท้องถิ่นหรือหนึ่งตำบลหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่” 

สส.พัทลุง แนะรัฐบาลหนุนท้องถิ่น จัดการแหล่งน้ำของตัวเอง แก้โลกร้อน

นายร่มธรรม กล่าวต่อว่า เมื่อมาดูเรื่องการบริหารจัดการและงบประมาณของรัฐบาล จะเห็นว่าไม่ได้สัดส่วนกับปัญหาที่มีและไม่สะท้อนว่าให้ความสำคัญกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย แม้จะตั้งเป้าหมายระดับโลกว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 0 ในปี 2065 และเคยแถลงนโยบายชัดเจนต่อสภาว่าจะลดผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในความเป็นจริง เราได้รับการประเมินจากองค์กรระดับโลกว่าเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีนโยบายรับมือโลกร้อนได้แย่ที่สุด และตั้งงบประมาณน้อยมาก อย่างงบ 68 ที่เพิ่งผ่านสภา มีงบประมาณแค่แสนล้านบาทจาก 3.7 ล้านล้านบาท เป็นงบที่ไม่ได้สัดส่วนกับปัญหาที่มีอยู่จริง หรือแม้จะมีการตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ก็มีงบแค่ 600 ล้านบาท เท่านั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับงานที่ต้องทำ สิ่งที่เป็นจริงมีแค่คำสัญญาว่าจะลดแต่ไม่มีรูปธรรมของการแก้ปัญหาเกิดขึ้น 

สส.พัทลุง แนะรัฐบาลหนุนท้องถิ่น จัดการแหล่งน้ำของตัวเอง แก้โลกร้อน

ทั้งนี้ ในส่วนของฝ่ายค้านมีความพยายามผลักดันเรื่องนี้ผ่านกลไกของสภา เช่น การมีกรรมาธิการชุดต่าง ๆ เพื่อศึกษาการจัดการน้ำและการรับมือกับโลกร้อน รวมถึงกำลังผลักดันกฎหมายสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 

“สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาล ควรให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อรับมือโลกร้อนให้ได้มากที่สุด ซึ่งทำได้โดยการให้ประชาชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันภาครัฐต้องพุ่งเป้าที่พลังงานทดแทนมากที่สุด ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างให้ประชาชนสามารถขายพลังงานทดแทนกลับไปให้ภาครัฐได้ สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว และต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวระดับชุมชน และอีกเรื่องที่สำคัญมากคือการบริหารจัดการน้ำต้องให้ความสำคัญกับท้องถิ่นต้องมีแหล่งน้ำระดับชุมชน หมายความว่าจะต้องมีงบไปให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเพื่อปรับตัวได้ เพราะท้องถิ่นเขารู้บริบท รู้ปัญหาของตัวเองดี ต้องสนับสนุนและมีแผนกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการรับมือให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้” นายร่มธรรม กล่าว

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส