ย้อนรอย เหตุช้างป่านับร้อยตัวบุกชุมชน สะท้อนภาพแหล่งอาหารป่าทับลานไม่เพียงพอ

9 ก.ค. 67

ย้อนรอยข่าว ช้างนับร้อยตัวหลุดเข้ามาในเขตชุมชน สะท้อนภาพอุทยานแห่งชาติทับลานไม่เหมือนเดิม สัตว์ใหญ่ถูกผลักไปอยู่ข้างใน ต้องเสี่ยงตาย ไร้บ้าน แหล่งอาหารไม่มี

จากกรณีประชาชนและเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติได้แสดงจุดยืนคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 2.65 แสนไร่ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ขณะที่บางส่วนเกรงว่าที่ดินที่ถูกจัดสรรจะหลุดไปถึงมือนายทุน สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีช้างหลุดเข้ามาหากินและอยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าชุมชนเขาประดู่ ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งห่างจากแหล่งชุมชนเพียง 4 กิโลเมตร

หลังได้รับแจ้งทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้นำโดรนจับภาพความร้อนมาช่วยบินหาโขลงช้าง เพื่อที่จะทราบจำนวนช้างที่หลุดออกมา แล้วจึงพบว่ามีช้างหลับอยู่ในเขตป่าชุมชนจำนวนกว่า 100 ตัว ช้างเหล่านี้ออกมาหาอาหารในเวลากลางคืน และได้สร้างความเสียหายในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไปแล้วหลายสิบไร่ ผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงทั้ง ข้าว อ้อย และข้าวโพด ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานคาดว่าเป็นเพราะประชากรช้างเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งทำให้แหล่งอาหารในป่าไม่เพียงพอจึงอาจส่งผลให้ช้างเหล่านี้ลงมาหาอาหารนอกเขตอุทยานฯ

เรื่องนี้ แม้จะนับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำอย่างยิ่งที่มีฝูงช้างนับร้อยมารวมตัวกัน ซึ่งปกติแล้วโขลงช้างจะมีจำนวนแค่ 20-30 ตัว ถือได้ว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดที่เคยพบเจอ แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนนั่นคือ แหล่งอาหารของช้างไม่เพียงพอ

412011010_673489034899758_642

ชาวบ้าน-จนท.อช.ทับลาน เฮ! ช้างป่ากว่า 100 ตัว กลับเข้าอุทยานฯ สำเร็จ

รศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า แต่ก่อนนั้นเราเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “ดงพญาไฟ” ก่อน พ.ศ. 2496 เคยเป็นป่าไม้ถาวรมาก่อน ในอดีตนั้นสัตว์ป่าเคยอยู่ในพื้นที่ด้านนอกที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับสัตว์ป่ามากกว่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ราบ แต่ในปัจจุบันนั้นความเจริญได้ผลักให้สัตว์ป่าเข้าไปอยู่พื้นที่ด้านในซึ่งมีสภาพแวดล้อมแย่กว่าเนื่องจากเต็มไปด้วยภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองเพียง 20% ที่รับผิดชอบโดยกรมอุทยานฯ มีพื้นที่ราบเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ และในพื้นที่ราบ 7 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ในทางกลับกันพื้นที่ของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่ใช้ได้มีเพียงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งป่ายังมีสภาพเป็นเกาะแก่ง สร้างความท้าทายต่อการผสมพันธุ์และวิวัฒนาการในอนาคต

ป่าเสื่อมโทรมส่วนใหญ่เหมาะกับการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า เนื่องจากต้องการพื้นที่ราบเพื่อความสะดวกต่อการหาอาหารอีกทั้งหญ้า พุ่มไม้ ที่ขึ้นในบริเวณนี้เป็นโปรตีนชั้นดีของสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ ทุกตารางเมตรที่เป็นพื้นที่ราบนั้นล้วนมีความสำคัญแก่การอยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ต้องการระบบนิเวศที่หลากหลาย

นอกจากนี้ ถนนทางหลวงหมายเลข 304 ก็ทำให้สภาพพื้นที่ในบางส่วนที่เป็นของ ส.ป.ก.เปลี่ยนแปลงไป หากมีสภาพป่าที่ลดน้อยลง ความเจริญที่มากขึ้น สัตว์ป่าที่ขาดความหลากหลาย ก็อาจจะเสี่ยงถูกถอดถอนจากมรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การยูเนสโก

การที่พื้นที่ทางเกษตรกรรม ถูกประกาศทับซ้อนพื้นที่หากินของสัตว์ป่า จะส่งผลกระทบจากช้างป่าอย่างแน่นอน การเชื่อมโยงของผืนป่าจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องไปขบคิดว่าจะทำให้อนุรักษ์และการพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม