ระดมปัญญาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

10 ก.ค. 67

"ความเหลื่อมล้ำ" ปัญหาสำคัญฉุดรั้งอนาคตการศึกษาเด็กไทย หลายภาคส่วนระดมสมองแก้กับดักนี้ ข้อเสนอแนะแบ่งได้ 3 ประเด็นหลัก

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากภาคเครือข่าย 4 ภูมิภาค ขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยให้ยั่งยืน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเหล่านี้ กลับมาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สามารถจำแนกได้ 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

ประเด็นที่ 1 หลักประกันโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา หรือการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ โดยมุ่งหวังให้รายได้ในอนาคตของเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวสูงกว่ารายได้ของครอบครัวในปัจจุบัน เพื่อลดปัญหาความยากจนข้ามรุ่นในระยะยาว

 สรุปแนวทางสำคัญจากการระดมความคิดเห็นได้ ดังนี้

  1. การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลาง ในการชี้เป้าผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส สำหรับการติดตามช่วยเหลือ
  2. การทำงานด้านกฎหมาย ปรับลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษา และการทำให้กฎหมายต่าง ๆ เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดกระบวนการดูแลเด็กและเยาวชน
  3. การจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม สอดคล้องตามความต้องการและเพียงพอตามบริบทของโรงเรียน มีกระบวนการแลกเปลี่ยนแบ่งปันทรัพยากรระหว่างสถานศึกษา และมหาวิทยาลัยในพื้นที่โดยไม่ต้องรอหน่วยงานส่วนกลาง

311463614_5981987798492563_77

ประเด็นที่ 2 การศึกษาเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และมีทางเลือกสำหรับทุกคน ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาที่ตรงตามความถนัดและความต้องการ เช่น การสร้างหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับเด็กนอกระบบ การออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้อาชีพ เรียนแล้วทำงานได้จริง หรือหารายได้ระหว่างเรียน การเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้กับผู้ประกอบการในชุมชน

สรุปแนวทางสำคัญจากการระดมความคิดเห็น ได้ดังนี้

  1. การจัดการศึกษาที่ไร้รอยต่อของทุกช่วงวัย หลักสูตรและการเรียนรู้ของกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลาย ตอบโจทย์เด็กและเยาวชน และต้องเชื่อมโยงตั้งแต่วัยเด็กที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาในแต่ละช่วง จนไปถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
  2. การมีธนาคารหน่วยกิต (credit bank) และการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ในหลายมิติ รองรับความยืดหยุ่นและหลากหลาย ตามรูปแบบการจัดการศึกษา เช่น ให้สถานประกอบการร่วมประเมินผล มีการเทียบโอนประสบการณ์จากการทำงานการเรียนรู้หลักสูตรจากศูนย์ฝึกอาชีพและทักษะการใช้ชีวิตในชุมชน สามารถนำไปเทียบโอนหน่วยกิตกับระบบการศึกษาได้
  3. โรงเรียน ชุมชน และครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้เข้าสู่ระบบการศึกษา การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสม พื้นที่แสดงศักยภาพ รวมถึงการมีพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่เด็กในชุมชน

ประเด็นที่ 3 การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาประสบความสำร็จและยั่งยืน ด้วยการกระจายการเป็นเจ้าของในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา และการร่วมแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาเชิงลึกในระดับพื้นที่

สรุปแนวทางสำคัญจากการระดมความคิดเห็นได้ดังนี้

  1. การกระจายความเป็นเจ้าของและการกระจายอำนาจทางการศึกษาในระดับพื้นที่ สนับสนุนให้พื้นที่ทั้งระดับจังหวัด และระดับโรงเรียนมีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของร่วมในการจัดการศึกษา
  2. การสร้างการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน ด้วยการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีในพื้นที่ชุมชน รวมถึงคนในซุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร สร้างระบบรองรับการศึกษาในรูปแบบการเรียนรู้นอกห้องเรียน และมีกลไกส่งต่อความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  3. การปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายด้านการศึกษา เพื่อลดอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการกระจายความเป็นเจ้าของในการจัดการศึกษา และการบริหารทรัพยากรและงบประมาณในระดับท้องถิ่นให้ยืดหยุ่นเหมาะสม

advertisement

ข่าวยอดนิยม