เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นป่า "ชาน้ำมัน" คืนความอุมสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ ยกระดับชีวิตชาวบ้านอย่างยั่งยืน

17 ก.ค. 67

บ้านเก่าหลังคาใหม่ โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน โอกาสที่ชาวบ้านรอคอยมาทั้งชีวิต มีที่ทำกิน มีรายได้ โดยไม่ต้องทำลายผืนป่า

ท่ามกลางภูเขาซับซ้อนในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีหมู่บ้านเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ นั่นคือ บ้านปางมะหัน และบ้านปูนะ ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จากเดิมที่ประสบปัญหาตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรง บ้างลักลอบค้าไม้ บ้างก็เผาป่าทำไร่เลื่อนลอย แต่วันนี้คือบ้านที่แสนอบอุ่นของ "อาและ อ่วยแม" มีพืชพรรณธรรมชาติอันเขียวชอุ่ม มีแหล่งน้ำไหลผ่านหมู่บ้านตลอดปีแม้ยามหน้าแล้ง

1721118517329

1721120875929

"อาและ" เผยว่า ตนเป็นพี่คนโต ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชาวบ้านแถวนี้ไม่มีสิทธิทำกิน ไม่รู้จะไปหาตรงไหน ไม่รู้จะไปพึ่งใคร ชาวบ้านขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีความรู้ ถ้าไม่ทำไร่เลื่อนลอยก็จะไม่มีกิน ดอยที่อยู่แถวนี้ปลูกฝิ่นทั้งหมด ใครอยากเผาก็เผาเลย ไม่สนใจ กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปหมด ไม่มีน้ำ ปลูกฝิ่นแล้วก็เผา เผา 5 ไร่ แต่ลุกลามไป 20-30 ไร่ วนไปซ้ำมาทุกปี จนกระทั่งป่าเกิดการเสื่อมโทรมอย่างหนัก ไม่มีพื้นที่ใหม่ๆ หากจะปลูกพืชก็ต้องไปหาแหล่งใหม่

1721117804167

1721118850111

ธรรมชาติที่เคยให้คุณก็กลับให้โทษอย่างแสนสาหัส ภูเขาโล่งเตียน ผืนดินแห้งผาก ลำธารแห้งขอด น้ำสำรองไม่พอใช้ ในเวลานั้นดูเหมือนว่าไม่มีทางออกใดๆ นอกจากรอให้ฝนตก ที่นี่เปรียบเสมือนภาพสะท้อนปัญหาเรื้อรังของการตัดไม้ทำลายป่าของอีกหลายพื้นที่ในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เมื่อไร้พื้นที่ดินดี เพาะปลูกไม่ขึ้น ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ชาวบ้านยุคนั้นต้องขุดเผือก ขุดมันกินแทนอาหาร เคราะห์ซ้ำจากการเป็นพื้นที่ธุรกันดาร กรรมซัดจากปัญหาภัยแล้งที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ชาวบ้านต้องเลือกระหว่างละทิ้งถิ่นฐานหรือไม่ก็อดตาย

1721118474155

ฝิ่นเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกของชาวบ้านบนดอยสูงมาอย่างยาวนาน จนมีคำพูดติดปากว่า "ถ้าไม่ปลูกฝิ่นก็อดตาย" หลายหน่วยงานพยายามเข้ามากอบกู้วิกฤติ" แต่ประสบกับความล้มเหลว เพราะถ้าไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการตัดไม้ทำลายป่าก็ยากที่จะแก้ไข เพราะเคยมีหน่วยงานมาทำแล้วก็ทิ้งโครงการไป บางครั้งก็ไปปลูกป่าทับพื้นที่ของชาวบ้านแล้วไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่นั้น เมื่อทิ้งป่าชาวบ้านก็เผาป่า จนกลายเป็นวิถีซ้ำซากปีแล้วปีเล่า

1721120865056

จนกระทั่งปี 2549 สายลมแห่งโอกาสก็พัดผ่านเข้ามาในชีวิตของพวกเขา เมื่อ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงหาวิธีปูกป่าที่จะได้ผลอย่างยั่งยืน เพื่อหยุดการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งจากผู้ลักลอบ นายทุน และชาวบ้าน รวมถึงช่วยสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในพื้นที่ ภายใต้การสร้างป่าแบบใหม่นี้ได้นำบทเรียนที่ผิดพลาดในอดีตมาวิเคราะห์ จนได้ข้อสรุปว่า การปลูกป่าไม่สำเร็จเพราะเป็นการปลูกแบบวิชาการตามกรมป่าไม้มากเกินไป แม้ป่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ตราบใดที่คนยังได้ประโยชน์จากการตัดไม้ ป่าก็ถูกทำลายอยู่ดี และแม้ป่าไม้จะขึ้นจริง แต่ตราบใดคนยังไม่มีกิน ป่าก็ถูกแผ้วถางเพื่อสร้างที่ทำกินอยู่ดี วิธีแก่้ไขคือจะต้องหาพันธุ์ไม้ที่ผู้บุกรุกไม่สามารถนำมาตัดขายได้ และต้องเป็นไม้ที่สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้ทันที โดยไม่ต้องถางป่าทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป โดยพันธุ์ไม้ที่ทรงค้นพบคือ ต้นชาน้ำมัน สายพันธุ์คามีเลีย โอลีเฟร่า จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

1719985353871_3

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เผยว่า ด้วยสายสัมพันธ์อันดีของสองประเทศ ทำให้ทางการจีนส่งต้นชาน้ำมัน สายพันธุ์คามีเลีย โอลีเฟร่า มาให้ไทยถึง 950,000 ต้น โดยมีคุณสมบัติคือจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีบนพื้นดินเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตรขึ้นไป จึงอาศัยต้นไม้นี้ช่วยในเรื่องของการฟื้นฟูป่า ให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้ดูแลรักษา เรียกวิธีนี้ว่าการใช้ "ไม้นำ"

1721118702113

1721118453341_1

มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และกรมป่าไม้ เป็นแม่งานในการจัดตั้งโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกพืชชาน้ำมันซึ่งเป็นไม้โตเร็ว โดยเริ่มดำเนินการในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะขยายไปในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงคือบ้านปางมะหัน ถือเป็นการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมและเป็นการทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลาย ต่อมาในปี 2554 มีพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาแนวทางการปลูกต้นชาน้ำมัน ช่วงแรกชาวบ้านไม่รู้จักว่า ชาน้ำมัน คืออะไร การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเข้าใจ ให้ชาวบ้านช่วยดูแลจึงถือเป็นภารกิจสำคัญของเจ้าหน้าที่ทุกคน

1721118937968

1721118916688

สำหรับ อาและและชาวบ้านนี่ถือว่าเป็นโอกาสที่พวกเขารอคอยมาทั้งชีวิต โอกาสที่จะสร้างที่ดินทำกินโดยไม่ต้องสูญเสียผืนป่า โอกาสที่จะมีอาชีพโดยไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปที่ไหน เมื่อมีความเข้าใจตรงกันแล้วจึงเกิดการร่วมมืออย่างค่อยเป็นค่อยไป จากป่าไม้ที่ถูกทำลายกลายเป็นป่าชาน้ำมัน ปัญหานายทุนหรือชาวบ้านที่ตัดไม้ทำลายป่าก็หมดไป เนื่องจากต้นชาน้ำมัน มูลค่าไม่ได้อยู่ที่เนื้อไม้แต่เป็นน้ำมันจากเมล็ดชา เมื่อชาวบ้านมีอาชีพมีรายได้แบบครบวงจร ตั้งแต่การรับจ้างปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว และการขายชาน้ำมัน ก็ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปไหน ณ วันนี้ ชาวบ้านเปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้ดูแล เปลี่ยนสายตาจากเป็นผู้จ้องทำลายมาเป็นผู้ที่คอยปกปักรักษาผืนป่าและต้นชาน้ำมันอย่างแข็งขัน แม้จะเหนื่อยบ้างท้อบ้างแต่พวกเขาก็ยินดีทำหน้าที่ส่องสว่างอยู่กลางป่าดอยเช่นนี้ เพราะทุกคนรู้ดีว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นี้ ทำเพื่ออะไร

1721117973698

1721118886816

โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาน้ำมันเมล็ดคามีเลียและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนาได้ศึกษาและพัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงวิจัยชาน้ำมันสายพันธุ์ต่างๆ โดยทางโครงการรับเมล็ดชามาจากชาวบ้านเดือนละ 40-50 ตัน ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองให้มีคุณภาพคือ ไม่ปนเปื้อนเชื้อราหรือยาฆ่าแมลง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการต่างๆ จนกลายเป็นน้ำมันเมล็ดคามีเลียหรือน้ำมันเมล็ดชาตรา "ภัทรพัฒน์"

1721119555363

น้ำมันเมล็ดคามีเลียหรือน้ำมันเมล็ดชา เป็นน้ำมันที่มีประโยชน์อย่างมาก จนถูกเรียกขานว่า "น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก" วันนี้จากการวิจัยและค้นคว้ามาอย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เป็นทั้งน้ำมันปรุงอาหารที่ดีที่สุด และเครื่องสำอางที่มีคุณภาพหลากหลายรูปแบบ

1721119515967

เมื่อหมดปัญหาเรื่องปากท้อง ชาวบ้านมองเห็นประโยชน์ ไม่แปลกที่เขาจะหันมาดูแลรักษาผืนป่าอันเหมือนหลังคาบ้านของตัวเองอย่างเต็มกำลัง วันนี้แปลงชาน้ำมันกว่า 3,000 ไร่ บนพื้นที่กว่า 100 ตารางกิโลเมตร เปลี่ยนจากพื้นที่ภูเขาหัวโล้นมาเป็นผืนป่าไม้หนาแน่น ธรรมชาติสามารถกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง เป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นได้นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการปลูกป่าอย่างยั่งยืน

advertisement

ข่าวยอดนิยม