กำจัด ปลาหมอคางดำ ด้วยการทำให้เป็นหมัน ทำอย่างไร คาดควบคุมการระบาดได้ภายใน 3 ปี

18 ก.ค. 67

กำจัด ปลาหมอคางดำ ด้วยการทำให้เป็นหมัน ทำอย่างไร กรมประมงคาดควบคุมการระบาดได้ภายใน 3 ปี

จากกรณีที่สังคมให้ความสนใจในเรื่องการแพร่ระบาดของ ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ โดยกรมประมงได้ออกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อควบคุมและยับยั้งการระบาด เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นสัตว์ผู้ล่า ทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นถูกกิน ถูกแย่งอาหาร ถูกแย่งที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงชาวประมงและเกษตรกรที่หาเลี้ยงชีพด้วยการขายสัตว์น้ำ

ทั้งนี้ กรมประมง ได้วางแผนระยะยาวด้วยการตั้งเป้าจะทำให้ ปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ กลายเป็นหมัน ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ โดยจะใช้วิธี "การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ" ซึ่งคาดว่าวิธีนี้จะช่วยควบคุมการระบาดได้ภายใน 3 ปี

202407111958015_pic

ทำหมัน ปลาหมอคางดำ ทำอย่างไร

ปกติแล้ว ปลาหมอคางดำ จะมีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) กรมประมงได้มีแนวทางในการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยการศึกษาสร้างประชากร "ปลาหมอคางดำพิเศษ" ที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติ

เมื่อเกิดการผสมพันธุ์ จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำ ที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้นั่นเอง

202407111958016_pic

ทำหมัน ปลาหมอคางดำ ทำที่ไหน เริ่มปล่อยพันธุ์ปลาเมื่อไหร่

เบื้องต้นของการศึกษานี้จะทดลองในบ่อทดลองเลียนแบบธรรมชาติภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี และจะทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (กรกฎาคม 2567 - กันยายน 2568) คาดว่าสามารถเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้อย่างช้าสุดในเดือนธันวาคม 2567 อย่างน้อยจำนวน 50,000 ตัว

นอกจากนี้จะดำเนินการควบคู่ไปกับวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ปลาผู้ล่า และการจับปลาไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำอาหาร ทำปุ๋ย ฯลฯ ก็จะส่งผลให้การเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำรุ่นใหม่ลดลงจนสามารถควบคุมการระบาดได้ในอนาคต ภายใน 3 ปี

202407111958017_pic

อย่างไรก็ตาม กรมประมงยังคงตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของสัตว์น้ำอื่นๆ ในธรรมชาติ ดังนั้น จึงต้องดำเนินการศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

หลังจากปลาหมอคางดำเริ่มลดจำนวนลงกรมประมงจะเร่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยการปล่อยชนิดพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยที่พบในระบบนิเวศเดิม จัดทำเขตอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูความหลากหลาย และสร้างเครือข่ายชุมชนในการอนุรักษ์และรักษาระบบนิเวศ รวมถึงเฝ้าระวังแจ้งเหตุ เพื่อคืนปลาพื้นเมืองไทยเหล่านี้กลับสู่ระบบนิเวศ สร้างสมดุลคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติดั้งเดิมอย่างยั่งยืน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม