เปิดข้อมูล ป.ป.ช.จับโกงปี 66 กว่า 26,247 ล้าน ทุจริตจัดซื้อจัดจ้างอันดับสูงสุด

22 ส.ค. 67

 

เปิดข้อมูล ป.ป.ช.จับโกงปี 66 กว่า 26,247 ล้าน ทุจริตจัดซื้อจัดจ้างอันดับสูงสุด รอลงมาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ-ยักยอก รวมร้องเรียน 9,254 เรื่อง 

วันที่ 22 ส.ค. 67 เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน ป.ป.ช.” โพสต์ข้อความระบุว่า “วงเงินงบประมาณที่มีการทุจริต ในปี 66 มูลค่ารวมกว่า 26,247 ล้านบาท อันดับสูงสุด คือ ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง” 

พร้อมรายละเอียดระบุว่า ภาพรวมของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีคำกล่าวหาเข้ามายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 9,254 เรื่อง โดยวงเงินงบประมาณที่มีการทุจริตตามคำกล่าวหาประจำปีงบประมาณ 2566 พบว่า มีมูลค่ารวมกว่า 26,247 ล้านบาท โดย 3 ลำดับ ประเภทคำกล่าวหาที่มีมูลค่าการทุจริตสูงสุด เรียงตามลำดับ ดังนี้ 

  • การจัดซื้อจัดจ้าง มีตัวเลขมูลค่าการทุจริตกว่า 13,391 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.02 %
  • การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีตัวเลขมูลค่าการทุจริตกว่า 8,786 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.48 %
  • ประเภทยักยอก/เบียดบังเงิน มีตัวเลขมูลค่าการทุจริตกว่า 1,899 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.24 % 

จากข้อมูลสถิติคำกล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เห็นว่ามีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อเทียบกับ คำกล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และหากพิจารณาประเภทคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดภายใน 5 ปีงบประมาณ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคดีประเภทการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด 

ดังนั้นจากข้อมูลสถิติคำกล่าวหาและคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดข้างต้น จึงอาจนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแผนและแนวทางการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ในประเด็นการบริหารจัดการตามพื้นที่ทุจริตในภาพรวมการบริหาร งบประมาณการดำเนินการ การวางแผน การบริหารจัดการคดี การจัดลำดับความสำคัญในการทำงานให้เสร็จตามระยะเวลา การวางแผนอัตรากำลัง รวมทั้งการสรรหาบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการสาขากระบวนการยุติธรรม และสาขาทั่วไป ให้สอดคล้องกับประเภทและปริมาณของคำกล่าวหาและคดีตามพื้นที่รับผิดชอบต่างๆ 

ทั้งนี้ แนวโน้มที่ลดลงนั้นสอดคล้องกับแนวทางการกำหนดเป้าหมายความสำเร็จของการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คือ เรื่องกล่าวหาร้องเรียนมีจำนวนลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นจากแนวทางการบริหารจัดการคดีและนโยบาย “ป้องนำปราบ” โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการบริหารจัดการคดีให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 

นอกจากนี้ ตัวเลขสถิติที่วิเคราะห์ออกมายังสะท้อนให้เห็นว่า ภาคประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพิ่มขึ้น จึงกล้าที่จะออกมาแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสการทุจริตทันทีเมื่อพบเห็นการทุจริตหรือพฤติกรรมที่เสี่ยงให้เกิดการทุจริต อันเป็นผลมาจากการที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตเพิ่มขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 63 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 33 ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 63 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 33 

สำนักงาน ป.ป.ช. คาดหวังว่าคำกล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และในปีต่อไปจะมีปริมาณเรื่องกล่าวหาที่ลดน้อยลง ทั้งนี้ เพื่อช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ อันจะส่งผลโดยตรงต่อการยกระดับ “ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)” ของประเทศไทยให้สูงขึ้น

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส