ปภ.เตือน 8 จังหวัด ริมฝั่งแม่น้ำโขง รับมือน้ำล้นตลิ่ง 28 ส.ค. - 1 ก.ย.

29 ส.ค. 67

 

ปภ.ประสาน 8 จังหวัด ริมฝั่งแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ติดตามสถานการณ์เตรียมพร้อมรับมือน้ำล้นตลิ่ง 28 ส.ค. - 1 ก.ย. 

วันที่ 29 ส.ค. 67 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ติดตามสถานการ์น้ำในลำน้ำและเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 28 ส.ค.- 1 ก.ย. 67 

โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในแม่น้ำอย่างใกล้ชิด ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า พร้อมเตรียมบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณภัยขึ้น 

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 12/2567 ลงวันที่ 28 ส.ค. 67 แจ้งว่าจากติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงพบว่ามีปริมาณฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอัตรา 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 28 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567 โดย สทนช. รายงานและคาดการณ์สถานการณ์น้ำ ดังนี้ 

  1. จังหวัดเชียงราย พบว่า บริเวณสถานีเชียงแสน ปัจจุบันระดับน้ำ 6.98 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.51 เมตร แนวโน้มทรงตัว 
  1. จังหวัดเลย พบว่า บริเวณสถานีเชียงคาน ปัจจุบันระดับน้ำ 14.91 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.09 เมตร คาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.00 - 1.75 เมตร และมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในวันที่ 29 ส.ค. 67 (สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.25 - 0.50 เมตร) ส่งผลกระทบบริเวณอำเภอเชียงคาน และปากชม 
  1. จังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ พบว่า บริเวณสถานีหนองคาย ปัจจุบันระดับน้ำ 12.18 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.02 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.00 - 2.50 เมตร และมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในวันที่ 29 ส.ค. 67 (สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.80 – 1.50 เมตร) ส่งผลกระทบบริเวณจังหวัดหนองคาย อำเภอเมืองฯ ท่าบ่อ เฝ้าไร่ โพนพิสัย รัตนวาปี ศรีเชียงใหม่ และสังคม และจังหวัดบึงกาฬ อำเภอเมืองฯ เซกา บึงโขงหลง บุ่งคล้า และปากคาด 
  1. จังหวัดนครพนม พบว่า บริเวณสถานีนครพนม ปัจจุบันระดับน้ำ 10.44 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.56 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.50 - 2.00 เมตร และคาดการณ์ระดับน้ำจะมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในวันที่ 31 ส.ค. 67 (สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.30 - 0.60 เมตร) ส่งผลกระทบบริเวณอำเภอเมืองฯ ท่าอุเทน ธาตุพนม บ้านแพง เรณูนคร และศรีสงคราม 
  1. จังหวัดมุกดาหาร พบว่า บริเวณสถานีมุกดาหาร ปัจจุบันระดับน้ำ 9.72 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.78 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 1.50 - 1.90 เมตร (ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.04 เมตร) ในวันที่ 1 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบบริเวณอำเภอเมืองฯ และหว้านใหญ่ 
  1. จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า บริเวณสถานีโขงเจียม ปัจจุบันมีระดับน้ำ 10.53 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.97 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50 - 2.80 เมตร (ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.40 เมตร) ในวันที่ 1 ก.ย. 67 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ได้แก่ จ.เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญซึ่งเป็นจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกล

สาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น นอกจากนี้ ให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมบริเวณแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา รวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด 

ประชาชนสามารถติดตามรายงานคาดการณ์สาธารณภัยและประกาศแจ้งเตือนภัยในระดับพื้นที่ได้ทางเฟซบุ๊ก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert โดยดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยดังกล่าว สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส