การให้โดยเสน่หา ยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง ฟอกเงิน แตกต่างกันอย่างไร ต้องรับโทษแค่ไหน

8 พ.ย. 67

การให้โดยเสน่หา ยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง ฟอกเงิน มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ละความผิดมีโทษอย่างไร

เปิดข้อกฎหมาย การให้โดยเสน่หา ยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง ฟอกเงิน มีความแตกต่างกันอย่างไร ต้องรับโทษแค่ไหน

• การให้โดยเสน่หา คืออะไร

การให้โดยเสน่หา ตามกฎหมายจะมีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 ที่ได้วางหลักกฎหมายไว้ว่า

สัญญาให้ คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับและผู้รับยอมรับทรัพย์สินนั้นไว้

การให้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้รับแล้ว จะส่งมอบด้วยวิธีไหนก็ได้ขอแค่ให้ผู้รับสามารถมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้นได้ก็พอ

แต่ถ้าเป็นบ้าน ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องมีการจดทะเบียน ก็ต้องทำตามขั้นตอนของการจดทะเบียนให้เรียบร้อยแบบนี้ถึงจะเป็นการให้ที่สมบูรณ์

สายเปย์ ให้เงิน สิ่งของ ทรัพย์สิน แก่ผู้อื่นไปแล้ว ขอคืนได้หรือไม่ ต้องดูจากสาเหตุ ดังนี้

3 เหตุ "ผู้รับ" ประพฤติเนรคุณ ผู้ให้ขอคืนการให้ได้
1. ผู้รับ : ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา
2. ผู้รับ : ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
3. ผู้รับ : บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ยากไร้และผู้รับสามารถจะให้ได้

7 เหตุ “ผู้ให้” ใช้สิทธิ์ขอคืน การให้ไม่ได้
1. ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
2. ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
3. ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
4. ให้ในการสมรส
5. ผู้ให้ ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณ
6. เวลาผ่านไปแล้ว 6 เดือน นับแต่ทราบเหตุประพฤติเนรคุณ
7. ผู้ให้ ฟ้องคดีหลัง 10 ปี นับแต่วันเกิดเหตุประพฤติเนรคุณ

istock-1251414301

• ยักยอกทรัพย์ คืออะไร

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จะต้องพิจารณาว่าทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดหรือไม่ หากทรัพย์อยู่ในความครอบครองแล้วมีการเบียดบังโดยทุจริตก็เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

“การได้มาซึ่งครอบครอง” เช่น การมอบของให้ไปขาย/ การมอบเงิน-มอบอำนาจให้ไปใช้ชำระหนี้ ไปซื้อของ ไปฝากเข้าบัญชี/ ผู้รับจำนำ/ ผู้เช่าซื้อ/ ผู้เช่าทรัพย์/ ผู้รับฝากทรัพย์

“เบียดบัง” คือ แสดงตนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ระบุว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

istock-675213308

• ฉ้อโกง คืออะไร

การฉ้อโกง คือ การหลอกคนอื่นโดยแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกเพื่อเอาทรัพย์สินคนอื่นหรือทำให้คนอื่นทำ ถอน ทำลาย เอกสารสิทธิ ทรัพย์สิน คือ ทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ เช่น เงิน บ้าน ช้าง วัว รถยนต์ ลิขสิทธิ์ เอกสารสิทธิ

ทั้งนี้ การฉ้อโกง ต้องเจตนาหลอกตั้งแต่แรก แต่ถ้าหลอกหลังจากได้ทรัพย์สินไปแล้วจะไม่ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง

ความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินสาม หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อถูกฉ้อโกงให้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดแจ้งความดำเนินคดี ภายในเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่ทราบเรื่องและรู้ตัวผู้ทำผิด

• ฟอกเงิน คืออะไร

การฟอกเงิน (Money Laundering) คือ การทำให้เงินที่ได้มาแบบผิดกฎหมายกลายเป็นเงินที่ถูกกฎหมายและเอาไปใช้ได้โดยไม่ถูกตรวจสอบหรือถูกจับ เข้าใจง่ายๆ คือ เหมือนทำเงินสกปรกให้กลายเป็นเงินที่ขาวสะอาด โดยการ “ฟอก”

ยกตัวอย่าง พ่อค้ายาเสพติดเมื่อเงินสดมาจากการค้ายา ก็จะเปลี่ยนเงินสดนั้นให้เป็นสินทรัพย์อย่างอื่นก่อน เช่น ไปซื้อทองคำ เพชร อัญมณี ฯลฯ แล้วเอาของที่ซื้อไปขายต่ออีกที ก็จะได้เงินสดที่ขาวสะอาดถูกต้องตามกฎหมายกลับมาในที่สุด

สำหรับฐานความผิดคดีฟอกเงิน หรือ สมคบฟอกเงิน มีโทษปรับระหว่าง 20,000 - 2 00,000 บาท จำคุก 1-10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ อายุความ 15 ปี ส่วนเงินจะต้องส่งคืนรัฐ หมายเหตุ : ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม