"ธนาคารโลก" คาดจีดีพีไทยปีนี้ -8.3% แย่สุด -10.4% หากระบาดรอบ 2 ใช้เวลานาน 2-3 ปีกว่าจะฟื้นตัว ชี้การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบเศรษฐกิจ - นโยบายกระตุ้นยังไม่เพียงพอ
วันนี้( 28 ก.ย.) ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำเดือนตุลาคม 2563 โดยคาดการณ์ว่าปี 2563 ภูมิภาคนี้จะเติบโตขึ้นเพียง 0.9% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 สำหรับประเทศไทยคาดว่าตัวเลขจีดีพีปีนี้จะติดลบประมาณ -8.3% และกรณีแย่สุด คือ -10.4% และในปี 2564 จะสามารถขยายตัวได้ 4.9%
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด มาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั้งในและนอกระบบของรัฐบาลนั้นสามารถทำได้ดี ขณะที่ตัวเลขประมาณการณ์จีดีพีไทยมีความเป็นไปได้ที่จะติดลบทั้ง -8.3% และ -10.4%
ขณะที่การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มองว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาได้ รัฐบาลต้องพยายามหาสมดุลระหว่างนโยบายด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาก็ถือเป็นความเสี่ยง ขณะที่ระยะยาวมาตรการนี้ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจได้อีกนานแค่ไหน
ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่านี้ โดยมองมาตรการคนละครึ่งที่ให้เงินคนละ 3,000 บาทอาจไม่ตรงจุด จึงควรมีมาตรการอื่นเพิ่มอีกเพื่อกระตุ้นการบริโภค และคงสภาพการจ้างงาน ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวว่า กรณีแย่สุดจีดีพีไทยจะติดลบถึง 10.4% คือ เกิดการระบาดรอบ 2 และนำไปสู่การล็อกดาวน์อีกครั้ง โดยทางธนาคารโลกมองว่า จีดีพีไทยปีนี้ -8.3% เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีในการฟื้นตัว ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมากเพราะว่าไทยได้รับผลกระทบผ่านหลายช่องทาง ทั้งภาคการส่งออกสินค้า ภาคท่องเที่ยว แรงงานนอกระบบ และผลกระทบจากภัยแล้งที่มีผลมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่องบประมาณปีที่แล้ว ส่งผลต่อความล่าช้าในการดำเนินการลงทุนภาครัฐ
สำหรับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ คือ การระบาดของโควิด-19 อาจกลับมาระบาดระลอก 2 ได้ ส่งผลสู่การบริโภคในประเทศรวมถึงการส่งออก รวมถึงความไม่แน่นอนด้านเงินลงทุนไหลเข้า (capital flow)อาจจะกลับมาอีกครั้ง เช่น ในเดือนมีนาคม ซึ่งไทยเป็นประเทศที่เชื่อมโยงกับตลาดการเงินค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านการเมือง ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งสังเกตได้จากทีมเศรษฐกิจที่เพิ่งลาออกไปรวมถึงการประท้วง ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักทุนในระยะยาวได้ ซึ่งจากความเสี่ยงเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยใช้เวลาใก้ลเคียง 3 ปีในการฟื้นตัวได้