นิด้าโพล เผยผลสำรวจ เรื่อง “นายกรัฐมนตรีกระชับอำนาจ” ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย นายกฯ จัดตั้งพรรคลงเลือกตั้งสมัยหน้า ชี้ ขาดภาวะผู้นำ ไร้ศักยภาพ ถึงเวลายุติบทบาทการเมือง
วันที่ 19 กันยายน 2564 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “นายกรัฐมนตรีกระชับอำนาจ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 – 16 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการกระชับอำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการกระชับอำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการให้รัฐมนตรีสองคนออกจากตำแหน่ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 23.99 ระบุว่า เป็นการดำเนินการที่เหมาะสมแล้ว รองลงมา ร้อยละ 23.54 ระบุว่า พี่-น้อง 3 ป. แค่เล่นเกมการเมือง แต่จะไม่มีการแตกออกจากกัน ร้อยละ 17.16 ระบุว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 16.70 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐจะแตกแยกมากขึ้น ร้อยละ 11.92 ระบุว่า นายก ฯ จะได้คะแนนนิยมทางการเมืองน้อยลง ร้อยละ 7.67 ระบุว่า นายก ฯ และรัฐบาลจะมีความมั่นคงน้อยลง ร้อยละ 4.10 ระบุว่า พี่-น้อง 3 ป. กำลังจะแตกออกจากกัน ร้อยละ 3.57 ระบุว่า นายก ฯ และรัฐบาลจะมีความมั่นคงมากขึ้น ร้อยละ 3.11 ระบุว่า นายก ฯ จะได้คะแนนนิยมทางการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 1.52 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐจะเป็นปึกแผ่นมากขึ้น และร้อยละ 17.69 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.11 ระบุว่า ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับพรรคพลังประชารัฐเลย รองลงมา ร้อยละ 21.56 ระบุว่า ไม่ต้องเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องคุมพรรค ฯ ได้ ร้อยละ 16.33 ระบุว่า ควรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และร้อยละ 6.00 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการตั้งพรรคของตนเองเพื่อเตรียมการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.24 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารงานล้มเหลว ขาดภาวะผู้นำ ไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้ ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ถึงเวลาที่ท่านควรยุติบทบาททางการเมืองได้แล้ว
รองลงมา ร้อยละ 19.97 ระบุว่า เห็นด้วย อย่างยิ่ง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความสามารถในการบริหารและมีความเด็ดขาด กล้าที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดี และคาดว่าสามารถดูแลสมาชิกพรรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ร้อยละ 10.10 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าประเทศชาติจะสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งภายในประเทศชาติ หากจัดตั้งพรรคของตนเอง ท่านจะได้มีอำนาจมาดูแลบริหารงานอย่างที่สามารถเลือกสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติและความสามารถที่จะพัฒนาประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น ร้อยละ 7.82 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ผลงานที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ดีเท่าที่ควร การแก้ไขปัญหาล่าช้า ควรเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารงาน และร้อยละ 3.87 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชวน สั่งตั้งกก.สอบข่าว นายกฯ แจกเงิน 5 ล้าน สิระ ชี้หากจริงส.ส.ต้องลาออก
- ธนกร ยัน นายกฯ ไม่ยุบสภาฯ เผยสั่งปูพรมฉีดวัคซีน คุมโควิด เร่งเครื่อง เปิดประเทศ ตามแผน
- รัฐบาล วางตัวพระเอก คนละครึ่งเฟส3 กระตุ้น ศก.ไตรมาสสุดท้าย ปี 64 เผย ยอดใช้ลดค่าครองชีพรัฐพุ่ง 7.6 หมื่นล้าน