การใช้งานปัญญาประดิษฐ์จะดีจริงหรือ? เมื่อเทคโนโลยี AI ตามทันจนน่ากลัว ในอนาคตต่อไปโลกของ ไอดอลเกาหลี จะเป็นอย่างไร?
เมื่อยุคสมัยของโลกดิจิทัล กำลังก้าวหน้าแบบติดสปีด เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทมากกว่าปกติ จากการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จึงกลายเป็นความตื่นเต้นที่มีการร่วมมือ แต่ไม่ใช่กับโลกของไอดอลเกาหลี ?
การก้าวข้ามความเป็น K-POP ด้วยการเดบิวต์ ไอดอลเกาหลี จากการพัฒนาเทคโนโลยี AI กลายเป็นมิติใหม่ ที่สร้างความน่าขนลุก เพราะบางครั้งมนุษย์ผู้ใช้งาน กลับมองข้ามคุณค่าของการผลิตด้วยมันสมอง ซึ่งเคสนี้กำลังปรากฎให้เห็น เมื่อ AI IDOL กลายมามีบทบาทสำคัญในโลกจริง ใครจะไปคาดคิดว่า "ความเสมือนจริง" จะกลายเป็นหนึ่งในความล้ำที่ก่ำกึ่งในปี 2024
ย้อนดูจุดเริ่มต้นของ AI IDOL
เมื่อปี 2018 ค่าย Riot Games ผู้ผลิตเกมชื่อดังอย่าง League of Legends หรือที่รู้จักในชื่อย่อว่า LOL เดิมที่จุดเริ่มต้นอาจมีแค่การพัฒนาคาแรกเตอร์ในเกมให้ดูมีมิติมากกว่าเดิม แต่แล้วก็ได้ก้าวข้ามไปเป็นการควบรวมวิชวลและเพลงเข้าด้วยกัน โดยได้เปิดตัว K/DA (เคดีอา) วง virtual idol ผ่านทางการแข่งขัน LoL World Championship
ถึงแม้การมีอยู่ของ K/DA จะเป็นการยืมเสียงของนักร้องจริง เพื่อเสริมความน่าดึงดูดให้โดดเด่นขึ้น และก็จริงดังที่คาด เพราะวง K/DA ได้สร้างมาตรฐานใหม่ สำหรับวงการเพลงไปแล้วเรียบร้อย เพราะนอกจากจะมีการทำเพลง โปรโมทเพลง หรือเวทีเปิดตัวแล้ว วง K/DA ยังมีแฟนด้อมเป็นของตัวเอง กล่าวคือถือเป็นกลยุทธ์ที่เพิ่มมูลค่าให้ตลาดเกมของค่าย Riot Games โดยเฉพาะ จากนั้นไม่นานวิวัฒนาการของการสร้างไอดอลเสมือนจริงก็เปลี่ยนไป
วิวัฒนาการของการใช้ AI ในบทบาทการเป็นไอดอล
æspa (เอสปา)
จากนั้นไม่นานค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง SM Entertainment ก็ได้เปิดตัว aespa (เอสปา) ที่มาพร้อมกับคอนเซปต์ AI อวาตาร์ที่อาศัยอยู่ในโลกเสมือนจริงอย่างกวังยา (TMI:กวังยา ถือเป็นอีกโลกเสมือนจริงของค่ายเอสเอ็ม แฝงอยู่ในเนื้อเพลงหลายเพลง)
จุดเริ่มต้นของเอสปา เริ่มจากการปรากฎตัวในมิวสิควิดีโอในรูปแบบมนุษย์และวิชวลไอดอลสลับกันไป ในเวทีใหญ่ก็มีการแสดงบนเวทีร่วมกัน โดยมีคาแรกเตอร์อย่าง nævis (นาวิส) อยู่ร่วมในจักรวาลกวังยาด้วย ทั้งนี้ในปี 2024 ค่ายเอสเอ็มก็ได้ระบุว่า จะเปิดทางให้นาวิสเดบิวต์ในฐานะศิลปินเดี่ยวอีกด้วย
nævis (นาวิส)
นาวิส ถือเป็นเอไอไอดอลที่มีบทบาทมากสำหรับจักรวาลกวังยา แม้จุดเริ่มต้นจะเป็นเพียงหนึ่งในบทบาทของเอสปา แต่ตอนนี้ค่ายให้ตัวตนใหม่แล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยนาวิสมีซิงเกิลเดบิวต์ที่ชื่อว่า Done (ดัน) ที่เพิ่งปล่อยออกมา โดยเป็นเพลงที่สื่อถึงก้าวแรกของนาวิสสู่อิสรภาพ ที่จะพาผู้ฟังคล้อยตามไปกับบทเพลง
นอกจากนี้นาวิสยังถือเป็นการใช้เทคโนโลยี ร่วมกับการทำงานในฐานะไอดอลที่ผสมไปกับความยืดหยุ่น โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ยังวางแผนขยายตลาดของนาวิสไปยังเว็บตูน, เกม, สินค้า, การทำงานร่วมกับแบรนด์ ฯลฯ
MAVE: (เมพฟ์)
ความเจ๋งต่อมาของโลกไอดอลเสมือนจริงคือการเปิดตัววง MAVE: จากค่าย Metaverse Entertainment เป็นเกิร์ลกรุป 4 สาว ที่มาพร้อมกับคอนเซปต์ใหม่ที่เรียกว่า เมตาไอดอล ไอดอลจากโลกเมต้าเวิร์สที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ โดยได้เพลงเดบิวต์มากับเพลง PANDORA ที่ไม่ว่าใครได้ลองฟัง หรือดูเวทีการแสดง ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าร้องเพราะ และดูเสมือนจริงที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีกาเรปิดเผยว่าเบื้องหลังคนร้องคือใคร
SUPERKIND (ซุปเปอร์ไคลด์)
ตามมาด้วยการเปิดตัว SUPERKIND (ซุปเปอร์ไคลด์) จากค่าย Deep Studio Entertainment บอยแบนด์วงแรกที่มี AI เป็นสมาชิกในวงร่วมกับเมมเบอร์ที่เป็นมนุษย์อีก 4 คน ที่ใช้ชื่อว่า เซจิน โดยเปิดตัวด้วยเพลงเดบิวต์ WATCH OUT ทั้งนี้ช่วงปลายปี 2022 ค่ายก็ได้เพิ่มเมมเบอร์เข้ามาในวงอีก โดยเป็นคนจริง 1 คน และอีก 1 AI ที่ชื่อว่าซึง การเปิดตัวนี้ทำให้คนตั้งข้อสงสัยเป็นจำนวนมาก ว่าการร้องของเซจินและซึงน่าจะเป็นเสียงจริงของมนุษย์ แต่ค่ายยังคงปิดยังตัวตนไว้เป็นความลับ
ETERNITY (อีเทอร์นีตี้)
ไอดอลเสมือนยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง คราวนี้เป็นผลงานจากบริษัท Pulse9 ที่ได้เดบิวต์ไอดอลจาก AI ทั้งหมด 11 คน กับวงที่ชื่อว่า ETERNITY โดยเป็นการใช้เทคโนโลยี Deepfake ร่วมกับการออกแรงของมนุษย์จริง ๆ ซึ่งถือเป็นการควบรวมเทคโนโลยีเข้ากับคน เพราะสามารถปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังมีข้อดีในแง่ของการแก้ข้อจำกัดทางร่างกาย และจิตใจที่ไม่สามารถคุมได้ของไอดอล
PLAVE (เพลฟ์)
เหนือชั้นไปอีกระดับ เพราะนี่ไม่ใช่ AI แต่เป็นมนุษย์ที่มีตัวตนจริง ๆ จากการพัฒนาไอดอลเสมือนจริง จากค่าย VLAST ในเครือ MBC สมาชิกวงเพลฟ์เหนือขั้นกว่าเอไอไอดอลอื่นเพราะว่า มีการไลฟ์เพื่อปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับอยู่ตลอดเวลา โดยใช้เทคโนโลยีในการ Motion Capture เข้ามาช่วยจับการเคลื่อนไหว ทำให้การดูไม่สะดุดตาและแทบไม่รู้สึกแปลก ถึงแม้ภายนอกจะดูเหมือนแอนิเมชันหรือ 2D แต่บอกเลยว่าเป็นสีสันที่หาไม่ได้จากวงอื่น เพราะเพลฟ์ยกระดับด้วยการทำชาเลนจ์กับศิลปินไอดอลวงอื่นด้วย
ความแตกต่างระหว่างศิลปินตัวจริง VS เทคโนโลยี AI
กลายเป็นข้อสงสัยที่หลายคนกล่าวถึง ไม่แม้แต่แฟนคลับ นักวิจารณ์ นักแต่งเพลง หรือแม้กระทั่งศิลปินเอง กับประเด็นที่ว่า "AI จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตหรือไม่" เพราะเมื่อปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้กับแทบทุกอย่าง ทั้งนี้การใช้เอไออาจสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ ถ้าหากใช้ในทางที่ดี ยกตัวอย่างการมีอยู่ของวง PLAVE และ MAVE: ที่ได้มีฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้น ทั้งจากการสรรสร้างของเจ้าตัวเองและการได้เข้ามีส่วนร่วมกับศิลปินคนอื่น
แต่ในขณะเดียวกันการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ก็ยังถือเป็นเรื่องที่น่าอันตราย เมื่อคนทั่วไปเริ่มเข้าถึงและใช้งานด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านต้นสังกัด เห็นได้ชัดจากการทำเพลงคัฟเวอร์ของศิลปินท่านอื่น โดยใช้อิมเมจจากวงที่ตัวเองชอบ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ใช้เสียงร้องของวง SEVENTEEN ในการร้องเพลง Magnetic-iLLIT หรือเพลง Love Wins All ของ IU เวอร์ชัน AI ที่มีเสียงร้องของ V วง BTS ในเวอร์ชันดูเอต และยังมีเพลง To. X ของ Taeyeon เวอร์ชันที่มี Jungkook วง BTS เป็นผู้ร้องทั้งเพลง โดยใช้คำกำกับว่า AI Cover
การได้ฟังการคัฟเวอร์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ในช่วงแรกอาจเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง เพราะความคล้ายคลึงของเนื้อเสียง โดยที่หากไม่ได้มีการกำกับอย่างชัดเจนว่าเป็น AI Cover คนทั่วไปที่ไม่ได้นิยมในเพลงเคป็อป อาจจะแยกความแตกต่างข้อนี้ไม่ออก ส่วนหนึ่งอาจมองเป็นข้อดีที่สานฝันการร่วมงานที่ไม่เคยเห็น แต่ส่วนที่เป็นข้อเสียก็มีเช่นกัน เมื่อเจ้าของเสียงหรือศิลปินเจ้าของผลงานได้ฟัง บางรายถึงกับออกปากว่าเทคโนโลยีนี้น่ากลัว
ทั้งนี้นอกจากในแง่ของการคัฟเวอร์เสียงร้องเพลง ที่มีเกลื่อนโซเชียลมีเดีย ยังมีการใช้ AI เพื่อการเจเนอเรตรูปถ่าย หรือออกแบรูปภาพใหม่ จนกลายเป็นเข้าข่ายการหลอกลวง ซึ่งการเจนรูปเพื่อสนองความต้องการของตัวหรือแฟนคลับ อาจมองได้หลายมุมมอง จะมองว่าเป็นความต้องการก็ได้ แต่หากคิดต่อเนื่องไปหลังจากที่เผยแพร่รูปภาพดังกล่าว ในเมื่อผลงานนี้มันไม่มีอยู่จริง ก็ย่อมเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงอีกรูปแบบหรือเปล่า?
กรณีศึกษาประเด็นพิพาท AI กับ SEVENTEEN
หลังจากการใช้ AI อย่างแพร่หลาย ไม่แปลกที่ศิลปินเจ้าของเพลงจะเคยได้ยินและหยิบยกมาพูดถึงบ้าง ยกตัวอย่างวง SEVENTEEN (เซเว่นทีน) เมมเบอร์เคยหยิบเรื่องการใช้เพลงคัฟเวอร์มาล้อเลียน โดยเป็นการให้คนจริง ๆ ลองร้องเพลงในท่อนที่ผู้ใช้ AI กำหนดมา ผลลัพธ์อาจเป็นการตลกที่สร้างเสียงหัวเราะ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ตลกแม้แต่นิดเดียว
เมื่อครั้งปล่อยผลงานเพลงใหม่ของวง SEVENTEEN อย่างเพลง MAESTRO ในช่วงการปล่อยตัวอย่างมิวสิควิดีโอออกมา ถูกพูดถึงในกลุ่มแฟนคลับเป็นอย่างมาก เนื่องจากการขึ้นข้อความเตือนในตอนต้นว่า วิดีโอนี้ถูกสร้างขึ้นโดย AI โดยมีคอนเซปต์ตั้งคำถามว่า "ใครคือมาเอสโทรตัวจริง"
หลังจากการปล่อยผลงานเพลงออกมา มีสำนักข่าวรายหนึ่งได้ขึ้นบทความในเชิงลบถึงการทำเพลงของ อูจี สมาชิกของวง โดยกล่าวอ้างว่า อูจีการทำเพลงโดยใช้เทคโนโลยีเอไอ แต่ทั้งนี้ความหมายที่เจ้าตัวหมายถึงคือ "ทดลองใช้เทคโนโลยีเพื่อหาข้อดีข้อเสีย เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ และปกป้องเอกลักษณ์ของวงได้อย่างไรบ้าง"
โดย อูจี ได้กล่าวในงานแถลงข่าวอัลบั้ม 17 IS RIGHT HERE ว่า เคยทดลองใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจว่ามันมีกระบวนการทำงานอย่างไร และจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรเพื่อให้ผลงานดีขึ้นเท่านั้น โดยเขากล่าวว่า "แทนที่เราจะไม่สนใจ AI แต่ผมทำงานควบคู่กับมัน มองหาจุดบกพร่องและจุดแข็งของมัน เพราะเทคโนโลยีกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผมจึงคิดว่า SEVENTEEN จะรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราในสถานการณ์นี้อย่างไร"
แต่การนำเสนอข่าวดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างในเชิงลบที่ให้ความเสียหาย ทั้งที่ในความเป็นจริงคือการทดลองในการปกป้อง แต่อย่างไรก็ดี เมื่อบทความนี้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง อูจี ได้ออกมาพูดถึงข้อโต้แย้งดังกล่าวผ่าน Instagram Stories ของเขาในวันที่ 14 กรกฎาคม ด้วยข้อความที่เขียนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเกาหลีว่า "เพลงของวง SEVENTEEN เขียนและแต่งขึ้นโดยผู้สร้างที่เป็นคนทั้งหมด"
การวิวัฒนาการ AI IDOL ทำให้มูลค่าของเม็ดเงินโตขึ้น เพราะการไม่ต้องพักผ่อน?
ในขณะที่เทคโนโลยีเติบโตก้าวหน้า AI มีการพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะแลกมาด้วยมูลค่าครั้งแรกที่ราคาแพง แต่คำถามต่อมาคือ "บริษัทและค่ายเพลงจะลงไปเล่นเกม AI นี้ทุกที่หรือเปล่า" เพราะในเมื่อการใช้งานระบบ AI IDOL สามารถช่วยลดพลังงานบางอย่างลงได้ กล่าวคือ เพราะเป็นไอดอลเสมือนจริง จึงสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเรื่องอื้อฉาวให้คาดคิด และไม่ต้องมานั่งในจำนวนคนเยอะในการดูแลศิลปิน
เห็นได้ชัดว่าตลาดเพลงเกาหลีที่พยายามส่งออกคัลเจอร์เคป็อป ในรูปแบบโลกเสมือนจริงอยู่ไม่น้อย เพราะในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ค่ายเพลงของเกาหลีกำลังเร่งพัฒนาศิลปินเสมือนจริงกันอย่างแพร่หลาย โดยถือเป็นการสร้างรายได้ใหม่ ๆ และขยายขอบเขตทรัพย์สินทางปัญญาออกไป
ถึงแม้ในโลกของเคป็อป จะยังไม่มีไอดอลเสมือนจริงกลุ่มไหน ที่ประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับไอดอลตัวจริง แต่ถือเชื่อได้ว่าการสร้างโลกเสมือนตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นช่องทางในการเติบโต เห็นได้ชัดจากการขยายช่องทางการเชื่อมต่อของวง PLAVE (เพลฟ์) ที่เดิมทีเริ่มต้นจากการไลฟ์สตรีมมิง ปล่อยผลงานเพลง ขึ้นเวทีแสดงผลงาน จนล่าสุดได้มีการขยับไปเชื่อมต่อกับศิลปินกลุ่มอื่น รวมไปถึงแฟนคอนเสิร์ตของวง ที่จะถ่ายทอดสดในโรงภาพยนตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ควบรวมวงการเพลง ทำให้เกิดชีวิตอันเป็นนิรันดร์ ไม่มีวันแก่หรือโรยรา อีกทั้งไม่มีปัญหาเรื่องร่างกาย จึงอาจเป็นข้อดีที่ทำให้ไอดอลเสมือนจริงอาจได้รับความนิยมในอนาคต ทั้งนี้การได้เห็นการไร้ข้อผิดพลาดดังกล่าว อาจทำให้เกิดเป็นดาบสองคม พร้อมตั้งคำถามได้ว่า
การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยบางอย่าง ดั่งเช่นการใช้เอไอไอดอล ลดทอนความเป็นมนุษย์ของศิลปินหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อไรที่สินค้า=ศิลปิน
อย่างไรก็ตามการใช้งาน AI ในแง่ของการทำเพลงในวงการเคป็อป ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะยากที่จะเข้ามาแทนที่คนจริง ๆ ที่มีเลือดเนื้อและความรู้สึกได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่เห็นได้ชัดคือวงการ K-POP ไม่เคยหยุดนิ่ง อุตสาหกรรมศิลปินเสมือนจริงกำลังเติบโตขึ้น ในอนาคตอาจได้เห็นวงเสมือนจริงกลายเป็นวงระดับตำนานก็เป็นได้
ที่มา : AI-Generated Bands and Singers:allkpop (allkpop.com)
Advertisement