Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สิงคโปร์ เปลี่ยนระบบจัดการน้ำทั้งเมืองแบบยั่งยืน ป้องกันประเทศจมทะเลจากภาวะโลกเดือด

สิงคโปร์ เปลี่ยนระบบจัดการน้ำทั้งเมืองแบบยั่งยืน ป้องกันประเทศจมทะเลจากภาวะโลกเดือด

4 ก.ย. 67
10:00 น.
|
1.5K
แชร์

สิงคโปร์ เล็งผลระยะยาวแบบยั่งยืน ลงทุนในนวัตกรรม เปลี่ยนระบบจัดการน้ำทั้งเมือง ป้องกันประเทศจมทะเลจากภาวะโลกเดือด

สิงคโปร์ ประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ ล้อมรอบด้วยทะเล มีพื้นที่รวมประมาณ 724.2 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระดับเดียวกับน้ำทะเล มีเพียง 30% เท่านั้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 5 เมตร ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเมืองหากฝนตกหนักหรือน้ำทะเลหนุนสูง แต่ปัจจุบันสิงคโปร์มีอัตราการเกิดน้ำท่วมขังแต่ละปีค่อนข้างน้อย นั่นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือตั้งอยู่ในตำแหน่งฮวงจุ้ยที่ดี แต่เกิดจากนโยบายการบริหารจัดการน้ำที่คิดมาอย่างดี ลงทุนในนวัตกรรมเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาวแบบยั่งยืน

ลี เซียนลุง อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวปาฐกถาในวันชาติเมื่อปี 2019 โดยระบุว่า ในบรรดาภัยคุกคามที่สิงคโปร์ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนอาหาร โรคอุบัติใหม่ สภาพอากาศที่แปรปรวนล้วนเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุด โดยอาจจะต้องใช้เงินถึง 1 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อปกป้องประเทศจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอีกใน 80 ปีข้างหน้า สิงคโปร์จึงประกาศจัดตั้งกองทุนป้องกันชายฝั่งและน้ำท่วม แล้วอัดฉีดงบราว 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท แล้วตั้ง สำนักงานน้ำแห่งชาติ หรือ PUB (The Public Utilities Board) เพื่อขึ้นมาดูแลการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะ

ng__0683_header

รายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ภายในปี 2050 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร และภายในปี 2100 จะสูงขึ้นราว 1 เมตร อย่างไรก็ตาม หากโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ภายในปี 2100 ระดับน้ำทะเลของสิงคโปร์อาจจะสูงขึ้นเพียง 40 เซนติเมตร หรือประมาณบันไดเพียง 1 ขั้นของเมอร์ไลออน (Merlion) สัญลักษณ์และแลนด์มาร์คสำคัญของประเทศสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ก็ไม่ต่างกับประเทศอื่นที่ต้องเจอปัญหาธารน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากภาวะโลกเดือด อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งพายุ และฝนตกหนัก ร่วมกับปัญหาชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ และการทรุดตัวของแผ่นดิน ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้สิงคโปร์เสี่ยงกับการจมน้ำหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ของเมอร์ไลออนพาร์ค และ มารีนาเบย์ (Marina Bay) มีเขื่อนมารีนาช่วยป้องกันน้ำท่วม หากมีฝนตกหนักจะมีการเปิดประตูเขื่อนเพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล

afp__20080630__hkg1426825__v1

ศาสตราจารย์เบนจามิน ฮอร์ตัน ผอ.Earth Observatory of Singapore ได้รายงานถึงสภาพอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุว่า ภาวะโลกเดือดทำให้อัตราการละลายของธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกถูกเร่งให้เร็วขึ้น โดยภายในปี 2100 อาจจะละลายทั้งหมด ซึ่งหากธารน้ำแข็งละลาย 100% มวลน้ำมหาศาลจะถูกดึงลงมาตามแรงโน้มถ่วง ไหลมายังเส้นศูนย์สูตรซึ่งอยู่ห่างจากสิงคโปร์ไม่กี่ร้อยกิโลเมตร นั่นเท่ากับว่าสิงคโปร์จะต้องรับมวลน้ำมากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกถึง 30%

ทั้งนี้ หากธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายหมด น้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นเฉลี่ย 7 เมตร และถ้าธารน้ำแข็งแอนตาร์กติกละลายทั้งหมด น้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นถึง 65 เมตร เทียบเท่ากับความสูง 1 ใน 3 ของ Singapore Flyer ชิงช้าสวรรค์ที่นักท่องเที่ยวคุ้นตา และมากกว่าความสูงของเมอร์ไลออนถึง 7 เท่า

afp__20230424__33dq9bg__v1__h

รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักและตื่นตัวถึงคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์จึงระดมมันสมองของประเทศ เพื่อหาทางป้องกันหายนะ โดยใช้ 3 วิธีคือ ธรรมชาติ การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน และภูมิอากาศวิทยา (Climate Science) เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ก่อนนั่นคือ เริ่มที่ธรรมชาติ ด้วยการขยายพื้นที่ป่าชายเลนรอบๆ ประเทศ เพื่อเป็นปราการในการช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วยยึดแผ่นดินให้หนาแน่นด้วยรากที่แข็งแรง นอกจากนี้ป่าโกงกางยังสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าต้นไม้ธรรมดาถึง 3 เท่า สิงคโปร์ยังสร้างแนวหินเตี้ยๆ ริมชายฝั่งให้ช่วยเป็นเหมือนรั้วกั้นลดแรงกระทบของคลื่นทะเล

afp__20240618__34xa4cc__v1__h

ส่วนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ได้มีการปรับให้อาคาร และถนนหนทางสูงขึ้นกว่าระดับน้ำทะเล โดยตัวอาคารที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมจะติดตั้งประตูระบายน้ำ ส่วนพื้นที่ที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติม เช่น สนามบินชางงี ท่าเรือทูอัส (Tuas) ก็มีการถมพื้นให้สูงกว่าระดับน้ำทะเล 5 เมตร

1725360008502

นอกจากนี้ สำนักงานน้ำแห่งชาติสิงคโปร์ (PUB) ยังพัฒนาโครงข่ายระบบระบายน้ำและคูคลองทั้งประเทศ มีความยาว 8,000 กิโลเมตร โดยเผื่อพื้นที่สองข้างทางไว้แล้วเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต เริ่มจาก โครงการอุโมงค์กักเก็บน้ำใต้ดิน 2 แห่ง (DTSS) และกำลังสร้างอีก 1 แห่งที่จะเสร็จในปี 2025 โดยใต้สวนพฤกษศาสตร์อันโด่งดังมีอุโมงค์กักเก็บน้ำที่ใหญ่เท่ากับสระว่ายน้ำของโอลิมปิกรวมกัน 15 สระ และยังช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมถนนออร์ชาร์ด ศูนย์กลางเศรษฐกิจของชาติได้

1725416007116

และตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลสิงคโปร์ยังออกกฎหมายให้อาคารใหม่ที่มีพื้นที่เกินกว่า 1.25 ไร่ จะต้องสร้างแท็งก์น้ำหรือบ่อเก็บน้ำเพื่อใช้หน่วงน้ำหากเกิดปัญหาฝนตกหนัก หรือน้ำท่วมขัง เพื่อชะลอให้การถ่ายเทน้ำลงระบบระบายน้ำสาธารณะนั้นช้าลง

เท่านั้นยังไม่พอ สิงคโปร์ยังคงหาทางแก้ปัญหาและป้องกันเรื่องน้ำท่วมแบบจริงจัง ด้วยการยึดแนวคิด Poldering การจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ ที่สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จึงใช้วิธีการสร้างแนวคอนกรีตกั้นน้ำให้เป็นเกาะ จากนั้นจึงระบายน้ำออก ทำให้เกิดพื้นที่แผ่นดินใหม่เพื่อใช้ในการเพาะปลูก หรือสร้างอาคาร สิงคโปร์ได้นำแนวคิดนี้มาใช้บริเวณเกาะปูเลาเทคง (Pulau Tekong)

1725416961882_1

ส่วนเรื่องภูมิอากาศวิทยา (Climate Science) มีการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแล้วนำมาปรับใช้กับเทคโนโลยี มีการคาดการณ์ฝนตกล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยติดตั้งเรดาร์ X-band สำหรับการตรวจสอบปริมาณน้ำฝน โดยวัดจากการเคลื่อนไหว การก่อตัว การหดตัวของก้อนเมฆ ทำให้สามารถคาดการณ์ฝนตกล่วงหน้าได้ 30 นาที และยังมีการติดตามระดับนํ้าในระบบระบายน้ำทั้งท่อและคลองแบบเรียลไทม์ เมื่อนํ้าในระบบสูงขึ้นมาที่ระดับสูงสุดที่ระบบจะรับได้ เจ้าหน้าที่จะได้รับการแจ้งเตือนเพื่อบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที และจะมีการเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์ในท่อ เพื่อประเมินผลหลังฝนตกด้วยว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เช่น หากฝนตกในปริมาณน้อยแต่มีน้ำท่วมขัง อาจเกิดจากท่อตันหรือมีสิ่งกีดขวาง ก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการปรับปรุง

afp__20210714__9ey3z3__v1__hi

นอกจากนี้ยังมีการติดเรดาร์ในคูคลอง ท่อระบายน้ำ เพื่อวัดปริมาณน้ำ และนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อให้ทราบถึงจำนวน สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำแบบยั่งยืน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศที่หาทางป้องกันความมั่นคงของชาติจากภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังคำพูดของนายลี เซียนลุง อดีตนายกรัฐมนตรีที่กล่าวไว้ว่า

"ผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นภัยพิบัติอย่างแน่นอน และหากไม่เตรียมพร้อม สิงคโปร์ก็จะถูกทำลาย"

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ก็ติดอยู่ในกลุ่มเมืองใหญ่ที่เสี่ยงจมน้ำท่วมภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่ง ณ วันนี้ประชาชนยังเห็นไม่ชัดถึงนโยบายในการป้องกันปัญหาแผ่นดินทรุด น้ำทะเลหนุนสูงจากภาครัฐ ไทยประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาอย่างยาวนาน เรามีบทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและยกให้เป็นวาระของชาติ เพื่อนบ้านในอาเซียนของเราหลายชาติเริ่มขยับตัวกันแล้ว หากภาครัฐยังไม่รีบลงมือทำหรือตัดสินใจ ก็อาจจะสายเกินไปหรือเป็นเรื่องใหญ่โตเกินกว่าที่จะแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงได้ง่ายๆ

ที่มา BBC , channelnewsasiastraitstimes , ThaiPublica , cnaearthobservatoryPrime Minister's Office Singapore

Advertisement

แชร์
สิงคโปร์ เปลี่ยนระบบจัดการน้ำทั้งเมืองแบบยั่งยืน ป้องกันประเทศจมทะเลจากภาวะโลกเดือด