“ปีนี้ น้ำจะท่วมภาคเหนือแบบปีที่แล้วอีกไหม?” คำถามจากทางบ้านของผู้ร่วมฟังการรายงานการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในปี 2568 ท่านหนึ่ง สะท้อนถึงความกลัวต่อภัยพิบัติรุนแรงที่ไทยเจอมาตลอดปี 2567 ในขณะเดียวกัน ก็เป็นบทเรียนราคาแพงที่ทำให้เราเฝ้าระวังและตั้งรับกันอย่างรัดกุมในปีนี้ ซึ่งทีมวิเคราะห์ข้อมูลสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ก็ให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมอีก” ด้วยลักษณะฝนที่ตกแบบกระจุกตัว จะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่เดิมและตกบ่อยขึ้นด้วย
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำระดับประเทศ นำโดย ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. เปิดเผยผลการคาดการณ์ปริมาณฝนปี 2568 ระบุว่า ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติประมาณร้อยละ 9 ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีฝนมากกว่าปกติ ยกเว้นบางพื้นที่ในภาคเหนือ ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช อาจจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ
สถานการณ์ฝนในปี 2568 ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมจะมีฝนตกตามปกติและมีโอกาสเกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้บางแห่ง ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานตอนล่างอาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และอาจเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ก่อนที่ฝนจะกลับมาตกในช่วงปลายเดือนกันยายน หลังจากนั้นช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ฝนจะตกหนักมากกว่าค่าปกติ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบางแห่ง
ในงาน “รู้น้ำ รู้อากาศ ปี 68: คาดการณ์และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ” ดร.กนกศรี ศรินนภากร นักวิชาการหัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ สสน. บรรยายข้อมูลเบื้องหลังการวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล โดยปีนี้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือระบบ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะค่าดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรอินเดีย และอุณหภูมิน้ำทะเลตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่บ่งชี้การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในประเทศไทยย้อนหลังหลายปี
ผลของการวิเคราะห์ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ปี 2568 มีแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะมีลักษณะใกล้เคียงกับปี 2542 ข้อมูลดังกล่าวทำให้ สสน. ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์และภัยพิบัติต่าง ๆ ในปี 2542 ได้ และนำมาเป็นโมเดลในการรับมือกับเหตุน้ำท่วม-ภัยแล้งสำหรับปีนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการคาดการณ์ข้างต้นถือเป็นข้อมูลระยะยาวเพราะมีระยะเวลายาวนานถึง 1 ปีเต็ม จึงมีโอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ ทั้งนี้ ยังฝากเตือนให้ประชนชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานท้องถิ่นและพื้นที่โดยรอบ ว่ามีน้ำหลากหรือน้ำท่วมสะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของตนหรือไม่
แม้หน้าที่หลักของสสน. จะเป็นการรวบรวมข้อมูลและคาดการณ์สถานการณ์น้ำ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่บางส่วนได้ลงพื้นที่เพื่อพบเจอกับผู้ประสบภัยในแต่ละปีแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะทำงานเชิงรุกในการแจ้งเตือนชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยง และลงมือหาแนวทางป้องกันในท้องถิ่น
นางสาว สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงถึงนโยบายสำคัญ 3 ประการที่ขยายขอบเขตการทำงานมากกว่าการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1. การพัฒนาเทคโนโลยีและระบบข้อมูลเพื่อการคาดการณ์สถานการณ์น้ำที่แม่นยำ ครอบคลุม และตอบสนองความต้องการในระดับพื้นที่ 2. การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และ 3. การถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากร เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะการใช้ข้อมูลน้ำในงานวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ในปีที่ผ่านมา เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และทีมงานได้ลงพื้นที่หลายแห่งก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติ เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานในพื้นที่และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย ซึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายน้อย คือความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนฯ และอว. ส่วนหน้า
นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ที่ อว. และ สสน. ได้ทำงานในระยะยาว ก็สามารถพบวิธีป้องกันการเกิดน้ำท่วมได้สำเร็จ เช่น สาเหตุของการเกิดน้ำท่วมบางแห่งในเชียงใหม่และลำพูนคือสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่าง วัชพืช จึงได้มีการประชาสัมพันธ์ไปทั่วชุมชน เมื่อชาวบ้านตระหนักรู้ก็กำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้แบบถาวร หรือในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดน้ำท่วมประจำปีได้ เกษตรกรก็มีการวางแผนเก็บเกี่ยวให้รวดเร็วขึ้น พร้อมกับทำอาชีพเลี้ยงปลาเพิ่มเติมตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จนเกษตรกรมีช่องทางใหม่ในการทำมาหากิน แปรรูปเนื้อปลาแดดเดียวส่งขาย ถือเป็นการปรับวิถีชีวิตที่จะอยู่กับน้ำ
ทั้งนี้ สสน. ได้พัฒนาระบบติดตามสถานการณ์น้ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaiwater.net และแอปพลิเคชัน ThaiWater สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android และ iOS โดยมีข้อมูลสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้วางแผนและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ