วันนี้ (25 เม.ย.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าสหรัฐฯ กำลังเจรจากับจีนเรื่องการค้า แม้ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์จีนจะออกมาปฏิเสธแล้วว่ามีการพูดคุยใดๆ เกิดขึ้น และยืนยันว่าหากสหรัฐฯ ต้องการข้อตกลงอย่างจริงจัง ควรยกเลิกภาษีฝ่ายเดียวทั้งหมด
“พวกเขาเพิ่งมีการประชุมกันเมื่อเช้านี้” ทรัมป์ตอบผู้สื่อข่าวในระหว่างการหารือกับนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ เมื่อถูกถามถึงท่าทีของจีนที่ปฏิเสธว่ามีการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนเกิดขึ้น
และเมื่อถูกถามว่าเจ้าหน้าที่รายใดของรัฐบาลสหรัฐฯ บ้างที่เข้าร่วมการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จีนในช่วงเช้า ทรัมป์กลับกล่าวปัดว่า “ไม่สำคัญว่า ‘พวกเขา’ คือใคร เราอาจเปิดเผยในภายหลัง แต่พวกเขาประชุมกันไปแล้ว และเราก็กำลังเจรจากับจีนอยู่”
คำตอบของทรัมป์ตอกย้ำความไม่ลงรอยอย่างต่อเนื่องระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง แม้ว่าทรัมป์จะเปรยว่าอาจลดภาษีศุลกากรต่อจีน แต่ทางการจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังคงแสดงท่าทีแข็งกร้าว และปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าจีนยังไม่ได้เจรจาการค้าหรือพูดคุยกับทางการสหรัฐฯ
นายเหอ ย่าตง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวเมื่อวาน (24 เม.ย.) ระหว่างการแถลงข่าวว่า “รายงานใด ๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจาเป็นเรื่องที่ไม่มีมูล” พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ แสดงความจริงใจหากต้องการข้อตกลง พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ ควรยกเลิกภาษีฝ่ายเดียวทั้งหมดที่ใช้กับจีน หากต้องการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างแท้จริง
คำแถลงดังกล่าวบ่งชี้ว่าแม้ทรัมป์จะส่งสัญญาณว่าอาจลดภาษีนำเข้าจากจีน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 145% สำหรับสินค้าส่วนใหญ่ แต่จีนยังไม่เห็นว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูความสัมพันธ์
ขณะเดียวกัน แถลงการณ์นี้ยังเป็นการปฏิเสธโดยตรงต่อข่าวลือที่ทรัมป์เป็นผู้จุดชนวนขึ้นเองเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่เขาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในทำเนียบขาวว่า ทางการจีนได้ติดต่อเข้ามาหลายครั้งเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้า
แหล่งข่าวจาก Bloomberg ระบุว่า ทรัมป์พยายามติดต่อประธานาธิบดีสีทางโทรศัพท์หลายครั้งหลังกลับมารับตำแหน่ง แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากจีน ซึ่งมีเงื่อนไขต้องการให้สหรัฐฯ แสดงออกถึงความเคารพ แต่งตั้งผู้แทนเจรจาอย่างเป็นทางการ และแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อประเด็นสำคัญ เช่น มาตรการคว่ำบาตรและสถานะของไต้หวัน เสียก่อน จึงจะเริ่มเปิดโต๊ะเจรจากันได้
ในวันเดียวกัน ทรัมป์ยังเปลี่ยนท่าทีต่อจีนในกรณีคืนเครื่องบิน Boeing และเฟนทานิล หลังมีท่าทีอ่อนลงในช่วงที่ผ่านมา โดยกล่าวหาจีนว่าไม่รับมอบเครื่องบินของ Boeing ตามที่เคยสั่งซื้อไว้ พร้อมโยงจีนกับการลักลอบนำเข้าเฟนทานิล ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในสหรัฐฯ
“โบอิ้งควรถือว่าจีนผิดสัญญาที่ไม่รับเครื่องบินตามข้อตกลง” ทรัมป์โพสต์ในโซเชียลมีเดีย “และเฟนทานิลยังคงหลั่งไหลเข้าประเทศเราจากจีน ผ่านเม็กซิโกและแคนาดา คร่าชีวิตประชาชนหลายแสนคน มันต้องหยุดเดี๋ยวนี้!”
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดภาษี 20% ต่อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเฟนทานิลจากจีน และต่อมาเพิ่มอีก 125% ทำให้รวมเป็นภาษีสูงถึง 145%
หลังจากมีการประกาศอัตราภาษีตอบโต้ออกมา ทางการจีนได้ดำเนินการตอบโต้ด้วยความระมัดระวังมาตลอด โดยเรียกอัตราภาษีของสหรัฐฯ ว่า “ไร้ความหมาย” พร้อมเตือนประเทศอื่นไม่ให้ตกลงใดๆ กับสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีน
ในขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมจีนก็โต้ตอบว่า “อคติ” ของบางฝ่ายในสหรัฐฯ คืออุปสรรคต่อความร่วมมือทางการทหารระหว่างสองประเทศ
ความสนใจขณะนี้หันไปยังการตอบสนองเชิงนโยบายของจีนว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อชดเชยผลกระทบจากภาษีหรือไม่ โดยอาจมีความชัดเจนหลังการประชุมคณะกรรมการโปลิตบูโรปลายเดือนนี้ ซึ่งมักจะเน้นประเด็นเศรษฐกิจ
แลร์รี หู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Macquarie Group กล่าวว่า “ยังเร็วเกินไปที่จีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเต็มรูปแบบ เพราะทรัมป์สามารถถอนมาตรการภาษีได้ง่ายกว่าที่จีนจะถอยจากนโยบายกระตุ้น”
หูกล่าวว่า จีนมักใช้มาตรการกระตุ้นอย่างระมัดระวัง และข้อมูลไตรมาสแรกที่จีดีพีเติบโตถึง 5.4% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายประจำปีที่ 5% ทำให้ทางการอาจยังไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ
นายพาน กงเซิง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน เตือนว่าความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอยู่มีแนวโน้มบั่นทอนความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจโลก โดยกล่าวในเวทีประชุม G20 ที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้ว่า “ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่เส้นทางของ ‘ความขัดแย้งสูง ความเชื่อต่ำ’”
พานกล่าวปิดท้ายว่า “ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า” และยืนยันว่าจีนยังคงเปิดกว้างต่อโลก สนับสนุนการค้าเสรี และระบบการค้าพหุภาคีอย่างมั่นคง
นายพานเป็นผู้นำคณะผู้แทนจีนที่เข้าร่วมการประชุมของ IMF และธนาคารโลกในกรุงวอชิงตัน ซึ่งถือเป็นโอกาสแรกที่เจ้าหน้าที่จีนจะได้พบกับฝ่ายสหรัฐฯ หลังจากทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีต่อจีนอย่างหนักเมื่อต้นเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ทรัมป์จะพยายามลดโทนแข็งกร้าว และมีท่าทีอ่อนลงกับจีนเพื่อเอื้อให้เกิดการเจรจาระหว่างสองประเทศ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการประกาศประชุมทวิภาคีใดๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ