ในที่สุด โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ได้ประกาศยุติการผลิตรถยนต์รุ่น "Vios" ในประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว ปิดตำนานรถขายดี 19 ปีในไทย ทำให้ปี 2022 นี้ เป็นปีที่มีค่ายรถดังถึง 3 แห่ง พร้อมใจกันปิดตำนานรถยนต์รุ่นขายดีกว่าสิบปีในไทย
หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นการค่อยๆ เฟดลงของ "ยุครถยนต์สันดาป" (น้ำมัน) และการมาถึงของ "ยุครถยนต์ไฟฟ้า" แทน
แม้ว่ารถยนต์รุ่นที่หายไปในปีนี้จะไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ยังคงเป็นรถสันดาปอยู่ และน่าจะคงอยู่ไปอีกหลายปีในตลาดประเทศไทย แต่ "กระแส" ของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ นั้นต้องยอมรับว่าไม่ได้หวือหวาเหมือนเก่า โดยเฉพาะหากเทียบกับกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าที่โหมกันมาพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องของตัวรถ ราคา สถานีชาร์จ ไปจนถึงมาตรการอุดหนุนของภาครัฐ
เราจะพาไปประมวลรถยนต์ 3 รุ่นดังที่หายไปจากตลาด ในปี 2022 นี้
ผู้บริหารของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้เปิดเผยเรื่องการยุติสายพานการผลิตรถยนต์รุ่น Vios ในโรงงานประกอบรถยนต์ของโตโยต้าในไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ระหว่างงานแถลงเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ Toyota Yaris ATIV ซึ่งจะเข้ามาแทนที่วีออสในตลาดรถยนต์นั่ง 4 ประตูขนาดเล็กแทน
Vios นั้นเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2003 (เริ่มผลิตในปี 2002) แทนที่รุ่น Soluna โดยตลอด 19 ปีของวีออสในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 เจนเนอเรชัน ช่วงเจนแรกใช้ชื่อว่า โตโยต้า โซลูน่า วีออส โดยมีพรีเซนเตอร์คนดังระดับโลกอย่าง บริตนีย์ สเปียส์ ก่อนที่ในภายหลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น วีออส ในช่วงเจนที่สอง (2007-2013) และเริ่มเข้าสู่เจน 3 ในปี 2013-2022 ก่อนจะเปลี่ยนมาสู่ยุค New Yaris Ativ ที่มีพรีเซนเตอร์คนรุ่นใหม่ฐานแฟนคลับนานาชาติอย่าง "แบมแบม Got7"
Vios เคยได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์รุ่นที่ขายดีที่สุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กระดับ B-segment โดยตัวเลขในปี 2556 ซึ่งเป็นยุคปลายเจน 2 วีออสมียอดขายในปีนั้นแตะระดับ 103,115 คัน แซงอันดับ 2 Honda City ซึ่งมียอด 93,252 คัน และอันดับ 3 Honda Jazz ซึ่งอยู่ที่ 21,745 คัน เรียกว่าเป็นยุคที่วีออสครองถนนและเต็นท์รถมือสองในประเทศไทย ก่อนที่ในยุคปัจจุบัน ยอดขายจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
ช่วงครึ่งปีแรก 2565 (ม.ค.-มิ.ย. 65) ในบรรดารถยนต์กลุ่มบีเซ็กเมนต์ของโตโยต้านั้น มียอดขายนำโดย Yaris Hatchback อยู่ที่ 14,715 ตามมาด้วย Yaris Ativ ที่ 10,648 คัน และ Vios ที่ 1,829 คัน
การยุติสายพานการผลิตวีออส คาดว่าเป็นเพราะ "การปรับแผนตามสิทธิประโยชน์รถยนต์นั่ง" ที่ได้รับจากบีโอไอ เพราะรถซีดานขนาดเล็กในโครงการ "อีโคคาร์เฟส 2" เสียภาษีสรรพสามิต 12% (วีออส เสียภาษีสรรพสามิต 20%) และรถไฮบริด เสียภาษีสรรพสามิต 4% โดยยอดผลิตรถประเภทไฮบริด สามารถนำมานับรวมกับยอดผลิตอีโคคาร์เฟส 2 ที่บีโอไอกำหนดให้มีการผลิต 100,000 คันต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป เพื่อรับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเงื่อนไขการลงทุน
ค่ายฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย นั้นถูกจับตามองว่าอาจจะตัดสินใจเกี่ยวกับรถรุ่น Honda Jazz ตามมาในเร็วๆ นี้ หลังจากที่มีการประกาศยุติสายพานการผลิตในหลายประเทศมาแล้วตั้งแต่ปี 2021-2022 นำโดย "มาเลเซีย" "อินโดนีเซีย" และ "ฟิลิปปินส์" ที่ประกาศยุติเมื่อช่วงปลายปี 2021 และใน "อินเดีย" ที่เพิ่งประกาศยุติไปในปี 2022 นี้
ที่สำคัญก็คือ รายงานข่าวต่างประเทศระบุว่า การยุติ Honda Jazz นั้นไม่ใช่แค่แผนรายประเทศ แต่จะเป็นแผนการเปลี่ยนในระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ยกเว้นสิงคโปร์) ที่จะยกเลิก Jazz แล้วนำ City Hatchback เข้ามาแทนที่ ทำให้คาดว่าแจ๊สในประเทศไทยนั้นก็อาจต้องโบกมือลาตามไปติดๆ ปิดฉาก 19 ปีเมืองไทย ตามหลังวีออส ไปอีกราย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้โบกมือลาอีโคคาร์รุ่น Brio ไปแล้ว นอกจากนี้ ยังคาดว่าการเปลี่ยนแปลงยังเป็นเรื่องของการปรับแผนรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของอีโคคาร์เฟส 2 จากภาครัฐด้วยเช่นกัน
โรงงาน Nissan Motor ประเทศไทย ได้มีการปล่อยรถ Nissan March (K13) สีเงินคันสุดท้ายออกจากไลน์ผลิต พร้อม Off-line Production เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 เรียกได้ว่าเป็นการปิดตำนาน EcoCar รุ่นแรกในประเทศไทยที่โลดแล่นมายาวนาน 12 ปีอย่างเป็นทางการ โดยสาเหตุมาจากผลกระทบเรื่องซัพพบายเชนเพราโควิด-19 ที่ทำให้มีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนในการประกอบผลิตรถยนต์ และยอดขายที่ลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตที่ออกไม่คุ้มการลงทุน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากนี้ไปนิสสันจะมุ่งเน้นการทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทย จะมุ่งเน้นใน 4 โมเดลหลัก ได้แก่ ได้แก่ นิสสัน อัลเมร่า, นิสสัน คิกส์ , นิสสัน นาวารา และ นิสสัน เทอร์รา โดยจะมีในส่วนของรุ่นนำเข้ามาช่วยส่งเสริมการทำตลาดอย่าง รถยนต์ไฟฟ้า 100% อาทิ นิสสัน ลีฟ และ นิสสัน จีที-อาร์ ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ นิสสัน อริยะ นั้นขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทแม่อย่างใกล้ชิด และในเดือน ก.ค.นี้ นิสสัน เตรียมส่งรถยนต์ นิสสัน คิกส์ บิ๊กไมเนอร์เชนจ์ ออกสู่ตลาดด้วย
นอกจากนี้ NISSAN ยังได้ยุติการทำตลาดรถยนต์อีกรุ่น คือ ‘Nissan Note’ โดยนับตั้งแต่เปิดตัว Nissan Note เมื่อปี 2560 ทำยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ซึ่ง Nissan Note เป็นรถในโครงการอีโคคาร์เฟส 1 เช่นเดียวกับ Nissan March ซึ่งประเด็นปัญหา Nissan Note มียอดขายต่ำกว่าเป้ามาโดยตลอด
ทั้งนี้คาดว่าเกิดจากการเลือกใช้เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ที่เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกันที่ใช้กับใน Nissan March ด้วยที่เป็นเทคโนโลยีเก่า แต่ตั้งขายในราคาสูง จึงไม่ได้รับความนิยม อีกทั้งในช่วงเวลานั้นคู่แข่งจะใช้เครื่องยนต์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ภายใต้เงื่อนไขของอีโคคาร์เฟส 2 แล้ว ซึ่งมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ทยอยออกมาโดดเด่นในเรื่องความประหยัดที่มากกว่า
Nissan March เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553 เป็นรถ EcoCar รุ่นแรกของค่าย และในฐานะรถยนต์ EcoCar คันแรกของประเทศไทย หลังจากมีมติสนับสนุนและส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานในบ้านเรา โดย Nissan ถือเป็นหนึ่งในค่ายแรกๆ ที่เข้าไปยื่นขอเข้าร่วมโครงการนี้ และพร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของโครงการที่ว่า “ผู้ผลิตต้องเสนอแผนงานชัดเจน ประกอบด้วยโครงการประกอบรถยนต์ผลิตเครื่องยนต์และการผลิตจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ มูลค่าการลงทุนต้องไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท”