แอชตัน อโศก เฮ! ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นควรยกฟ้อง เหตุผลอุทธรณ์ฟังขึ้น แต่ยังไม่ใช่คำตัดสินชี้ขาด ยังต้องลุ้นศาลปกครองสูงสุด
การพิจารณาคดีนัดแรกของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ (20 ก.ย. 2565) ในคดี "แอชตัน อโศก" ซึ่งเป็นโครงการคอนโดหรูมูลค่าเกือบ 6,500 ล้านบาท นับเป็นคดีที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอย่างมาก หลังจากที่มีการฟ้องร้องกันในเรื่องการใช้ "ที่ดินเวนคืน" ของ รฟม. มาให้เอกชนสร้างเป็นทางเข้าออกโครงการ และการก่อสร้างที่ผิด พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร
เพราะจะถือเป็น "บรรทัดฐาน" ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หลังจากนี้ รวมไปถึงคดีระหว่างแอชตัน อโศก กับสยามสมาคม ที่ยังมีการฟ้องร้องในศาลปกครองกลางอยู่ และมีลูกบ้านแอชตันกว่า 668 ครอบครัวเป็นผู้ร้องสอด หากพิพากษายกฟ้อง จะมีผลในทุกคดีให้ยกฟ้องไปด้วย
แต่เนื่องจากคดีนี้มีการตัดสินกันมาตั้งแต่ศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) แล้ว ก่อนจะมาถึงศาลปกครองสูงสุด ทีมข่าว SPOTLIGHT จึงสรุปที่มาที่ไป และผลการพิจารณานัดแรกในวันนี้ ดังต่อไปนี้
1. ที่มาที่ไป ใครฟ้องใคร?
- คดีนี้ถือเป็นการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่ร่วมกันอนุญาตออกคำสั่งให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษบนถนนอโศก โดยเริ่มฟ้องเมื่อปี 2559
ผู้ฟ้อง (ฝ่ายโจทก์) คือ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และพวก (ประชาชน 15 คนที่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ) ส่วนผู้ถูกฟ้อง (จำเลย) เป็นหน่วยงานรัฐ คือ กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน
2. ปัญหาคืออะไร?
- ปัญหาคือการใช้ที่ดินเวนคืนของ รฟม. มาให้เอกชนสร้างเป็นทางเข้าออกโครงการ
ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 นั้น กำหนดให้อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดิน กว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร
แต่ที่ดิน “แอชตัน อโศก” ทางเข้าออกไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ เนื่องจากที่ดินโครงการไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ
3. ศาลปกครองชั้นต้น ตัดสินอย่างไร?
- ศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) พิจารณาว่า “ผิด” พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และการที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธาปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้ “เพิกถอน” คำสั่งอนุญาตก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกใบอนุญาต
4. ใครอุทธรณ์?
- กรุงเทพมหานคร (กทม.) รฟม. และ “อนันดา” ได้ยื่นอุทธรณ์คดีที่ศาลปกครองสูงสุด โดยกรณีของอนันดานั้นอยู่ในฐานะ “ผู้ร้องสอด” เพราะไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวโดยตรงและไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามคำพิพากษา แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายจากการแพ้คดีของหน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้อง จึงใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ที่ศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ ที่ดินของแอชตัน อโศกนั้น แต่เดิมสามารถสร้างตึกสูงได้ แต่เมื่อถูกเวนคืน รฟม.สร้างสถานีรถไฟฟ้าปิดอยู่ด้านหน้า จึงกลายเป็นที่ดินตาบอด เจ้าของเดิมฟ้องร้องขอให้เปิดทางออกสู่ถนนอโศก ทางอนันดาได้ศึกษากฎระเบียบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ซึ่งเห็นว่าทำได้ จึงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาด้วยราคา 1 ล้านบาทต่อตารางวา บนขนาดที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน (หรือมูลค่าที่ดินกว่า 1,100 ล้านบาท) เพื่อทำโครงการ แอชตัน อโศก
โดยมีการทำสัญญากับ รฟม. เพื่อใช้ที่ดินร่วมกัน สร้างทางเข้าออกโครงการกว้าง 13 เมตร (ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร) โดยย้ายทางเข้าออกโครงการมาด้านติดที่ดินสยามสมาคมฯ "ทางเข้าออกนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม." ซึ่ง อนันดา จ่ายผลประโยชน์ให้ รฟม. ด้วยการสร้างอาคารที่จอดรถ 7-8 ชั้น มูลค่า 97 ล้านบาท
5. วันนี้ (20 ก.ย. 2565) ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาอย่างไร?
- ตุลาการผู้แถลงคดี ให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม. อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืน เพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม. ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท "เป็นการดำเนินการโดยชอบ คำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี"
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี เป็นเพียงความเห็นอิสระ "ไม่ได้ " นำมาพิจารณาร่วมกับการตัดสินของตุลาการเจ้าของสำนวน จึงยังต้องรอคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลา 1-2 เดือนจากนี้ หรือในกรณีเร็วสุดประมาณ 1-2 สัปดาห์
ด้านนายพิสิษฐ เดชไชยยาศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจ ผู้ร้องสอด บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด / ที่ปรึกษากฎหมายจาก สำนักงาน WCPได้ให้สัมภาษณ์หลังการพิจารณาว่า คำแถลงการของตุลาการผู้แถลงคดี ว่า เป็นสัญญาณบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ประชาชน และสถาบันการเงิน
เพราะคดีดังกล่าวมีผลกระทบต่อวงการอสังหาฯ สถาบันการเงิน รวมทั้งลูกบ้านที่เก็บเงินมาซื้อที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบ เราก็ต้องมองย้อนกลับไปว่า โครงการดำเนินการมาตั้ง 15 ปีแล้วสามารถพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอะไรกับใครเลย ในทางตรงข้ามสร้างกลับมีคุณูปการต่างๆ โดยเฉพาะ รฟม. ที่ได้อาคารสำนักงานและอาคารที่จอดรถ สามารถนำไปใช้สอยได้การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปตามกฎหมาย กล่าวคือ ทางเข้า-ออกยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. แอชตัน อโศก จ่ายผลประโยชน์ให้ รฟม.เป็นอาคารสำนักงานและอาคารจอดรถ มูลค่า 97 ล้านบาท
ดังนั้นการสั่งรื้อถอนโครงการแอชตัน อโศก จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใคร แต่จะสร้างผลกระทบ"เชิงลบ" ตั้งแต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคสถาบันการเงิน ไปจนถึงการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้เนื่องจากโครงการแอชตัน อโศก เป็นการร่วมทุนกับมิตซุย ฟูโดซัง จากประเทศญี่ปุ่น คดีดังกล่าวอาจกระทบความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ธนาคารไม่กล้าปล่อยให้ภาคอสังหาฯ ลงทุน