‘Tupperware’ หรือ ทัปเปอร์แวร์ เป็นคำติดปากที่หลายๆ คนใช้เรียกภาชนะพลาสติกเก็บอาหาร ถึงแม้ในปัจจุบันแบรนด์ที่ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะเกิดขึ้นมาหลายสิบแบรนด์แล้ว เราก็ยังเรียกผลิตภัณฑ์แบบนี้ว่าทัปเปอร์แวร์อยู่ ทำนองเดียวกับที่เราเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกือบทุกยี่ห้อว่า ‘มาม่า’
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ภาชนะพลาสติกขวัญใจแม่บ้านสุดคลาสสิกแบรนด์นี้กำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่เสียแล้ว หลังจากออกมารายงานว่าแบรนด์ขาดทุน 14.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการดำเนินงานในปี 2022 เพราะยอดขายลดลงถึง 18% จากปีก่อนหน้า จนในวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ทางบริษัทออกมาประกาศว่าทางบริษัทกำลังหาทางกู้สภาพทางการเงินและแก้ปัญหาหนี้ของบริษัทอยู่ เพราะหากปล่อยไปแบบนี้ทัปเปอร์แวร์อาจไม่มีเงินพอจะจ่ายหนี้ และต้องปิดตัวลง
โดยจากเอกสารที่บริษัทยื่นแก่ก.ล.ต.สหรัฐฯ ทัปเปอร์แวร์ระบุว่า ทางบริษัท “ไม่มั่นใจว่าทางบริษัทมีความสามารถทางการเงินที่จะทำธุรกิจต่อไปได้” โดยเป็นเหตุมาจากปัญหาทั้งภายในและภายนอกบริษัท รวมไปถึงต้นทุนทางการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และการที่บริษัทไม่สามารถหารายได้ได้มากพอ จนอาจทำให้บริษัทเจอปัญหาผิดชำระหนี้ และขาดสภาพคล่องได้หากสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของทัปเปอร์แวร์เรียกเก็บเงิน
โดยหลังมีข่าวออกมา หุ้นของทัปเปอร์แวร์ตกลงไปอยู่จุดต่ำสุดในช่วง 3 ปีที่ 1.21 ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 10 เมษายน ก่อนจะขึ้นมาอยู่ที่ 1.87 ดอลลลาร์สหรัฐหลังสำนักข่าว The Wall Street Journal รายงานว่าทางทัปเปอร์แวร์ได้ว่าจ้างผู้ปรึกษาทางการเงินอย่าง Moelis & Co, Kirkland & Ellis LLP และ Alvarez & Marsa มาช่วยกู้บริษัทจากการล้มละลายเรียบร้อย
จากรายงานประจำปีของทัปเปอร์แวร์ ผลประกอบการของทัปเปอรแวร์ในช่วงปี 2019-2022 เป็นดังนี้
ปี 2019: รายได้ 1,797.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 12.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2020: รายได้ 1,740.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 112.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2021: รายได้ 1,601.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 16.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2022: รายได้ 1,305.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดทุน 14.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากดูจากผลประกอบการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทัปเปอร์แวร์อาจจะเป็นบริษัทที่ดูไม่ได้มีปัญหาทางการเงินเท่าใดนัก เพราะกิจการทำกำไรมาตลอดจนกระทั่งปี 2022 ที่ทัปเปอร์แวร์ประสบปัญหาขาดทุนเป็นครั้งแรกที่ 14.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากการที่ยอดขายของทัปเปอร์แวร์ลดลงถึง 18% จากปีก่อนหน้า หลังทำยอดขายกระเตื้องขึ้นชั่วคราวในช่วงปี 2020 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการใช้ทัปเปอร์แวร์ที่ลดลงจากช่วงโควิด และต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยเหล่านั้นแล้ว ยอดขายที่ตกลงและการขาดทุนของทัปเปอร์แวร์ในครั้งนี้ส่วนหนึ่งยังเป็นผลพวงมาจากปัญหาภายในองค์กรที่เรื้อรังกว่านั้น เพราะถึงแม้จะเป็นแบรนด์คลาสสิกที่ติดตลาดติดหูคนมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ความนิยมในผลิตภัณฑ์ของทัปเปอร์แวร์ก็ลดลงมากในหมู่ผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
จากปัจจัยเหล่านี้จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่ทำให้ทัปเปอร์แวร์เสื่อมความนิยมลงเป็นทั้งสิ่งที่แก้ไขได้ในระยะเวลาสั้นๆ เช่น วิธีการทำตลาดและการส่งเสริมการขาย หรือการคิดค้นพัฒนาสินค้าใหม่ๆ หรือลดราคาสินค้าเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น และสิ่งที่แก้ไขได้ยาก เช่น การที่ทัศนคติของผู้บริโภคเปลี่ยนไป และหันไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ตอบสนองค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อมของตนเองได้ดีกว่า
โดยถ้าหากทัปเปอร์แวร์จะเรียกยอดขายด้วยการเปลี่ยนไลน์สินค้าให้ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการยกเครื่องครั้งยิ่งใหญ่ เพราะทัปเปอร์แวร์เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาจากการพัฒนาและผลิตถ้วยชามพลาสติกที่มาพร้อมฝาปิดสุญญากาศ ที่เข้ามาช่วยให้แม่บ้านทั่วโลกสามารถเก็บทั้งวัตถุดิบในการทำอาหาร และอาหารเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ก่อนที่จะมีทัปเปอร์แวร์เกิดขึ้น ผู้หญิงยังไม่มีอุปกรณ์จัดเก็บวัตถุดิบและอาหารที่มีประสิทธิภาพ โดยส่วนมากจะเป็นจานชามกระเบื้อง แก้ว หรือเซรามิก ที่นอกจากจะน้ำหนักมากแล้ว ยังมีคุณสมบัติการถนอมอาหารที่ไม่ดี เพราะมีอากาศและสิ่งปนเปื้อนปนเข้าไปได้ง่ายจากฝาปิดที่ไม่สามารถซีลป้องกันอาหารภายในจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างสนิท
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็เปลี่ยนในปี 1946 เมื่อ ‘Earl Tupper’ นักประดิษฐ์และนักลงทุนชาวอเมริกันผลิตถ้วยชามพลาสติกที่มีฝาปิดซีลได้ขึ้นมา ที่นอกจากจะมีน้ำหนักเบาแล้ว ยังเก็บอาหารได้เป็นสัดส่วน ไม่หกเลอะเทอะ และสามารถถนอมอาหารได้นานเพราะสามารถป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมภายนอกเข้าไปปนเปื้อนอาหารนัก
ในช่วงแรก ทัปเปอร์แวร์ยังไม่ได้รับความนิยมนัก เพราะเป็นของใหม่ที่คนในสมัยนั้นยังไม่มั่นใจว่าใช้อย่างไร เพราะเหตุนี้จึงทัปเปอร์แวร์จึงเกิดวิธีการขายแบบใหม่คือการให้แม่บ้านในแต่ละพื้นที่จัด ‘Tupperware Party’ หรือก็คือการจัดปาร์ตี้โดยใช้อุปกรณ์จากทัปเปอร์แวร์ใส่อาหารทั้งหมด ที่นอกจากจะเป็นการโฆษณาและสาธิตการใช้สินค้าชั้นดีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มยอดขายแบบ ‘วิธีการขายตรง’ เพราะในปาร์ตี้นี้ ทางบริษัทเปิดโอกาสให้แม่บ้านที่จัดปาร์ตี้สามารถนำสินค้าของทัปเปอร์แวร์ไปขายให้เพื่อนที่สนใจซื้อสินค้าของทัปเปอร์แวร์เพื่อหารายได้เสริมได้อีกด้วย
วิธีการทำตลาดแบบนี้ทำให้สินค้าของทัปเปอร์แวร์ฮิตติดตลาดอย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นอุปกรณ์คู่ครัวของคนอเมริกันและผู้บริโภคทั่วโลกในช่วงปี 1950s-1980s
จากรายงานประจำปี 2022 ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของทัปเปอร์แวร์ยังมีจัดจำหน่ายในทุกพื้นที่ทั่วโลกอยู่ โดยทวีปที่ทัปเปอร์แวร์สามารถจำหน่ายสินค้าได้มากที่สุดก็คือ 1. ทวีปอเมริกาเหนือ (29%) และ 2. เอเชีย (27%)
ที่มา: Tupperware, CNN, Reuters