เริ่มต้นปี 2568 เศรษฐกิจไทยก็เต็มไปด้วยความท้าทายทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก หลายสำนักวิจัยต่างออกมาประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก เช่นเดียวกับ KKP Research ที่คาดว่า GDP ปี 2568 ของไทยจะโตได้เพียง 2.6% ด้วยข้อจำกัดจากภาคการท่องเที่ยวแผ่วลง หนี้ครัวเรือนสูงยังคงกดดัน และ การค้าระหว่างประเทศถูกกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ 2.7% เล็กน้อย แรงส่งหลักคือภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ แต่แรงส่งนี้ ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงในขณะที่ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออก ยังเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคารจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจกำลังส่งผลทางลบต่อการบริโภคสินค้าคงทนและภาคอสังหาริมทรัพย์
ส่วนปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง โดยไทยติดอันดับที่ 11 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด และอาเซียนเองก็เกินดุลการค้าเป็นอันดับ 2 รองจากจีนเท่านั้น ทำให้ไทยและอาเซียนอาจตกเป็นเป้าของมาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และส่งผลต่อภาคการค้าไทยได้ ขณะเดียวกันไทย อาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานลงทุน จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมในการรับมือและเจรจาต่อรองให้เกิดผลดีที่สุด
ถึงเวลาใช้นโยบายการเงิน-การคลัง ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
ดร.พิพัฒน์ มองว่า การใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยง คาดว่าน่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้ และรัฐบาลยังคงใช้นโยบายขาดดุลด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการคลังมีมากขึ้นและหนี้สาธารณะที่ขยับใกล้แตะเพดาน 70% ของ GDP รัฐบาลอาจต้องมีการทบทวนว่าจะเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ระดับรายได้ภาษีของรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ ตลอดจนความจำเป็นในการใช้จ่ายภาครัฐที่มีมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐ ขยายฐานภาษี และปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ดูแลเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจยังมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทยจากนี้ไป
KKP ปรับตัวรับความท้าทายปี 68
ขณะที่วันนี้กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้แถลงข่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2568 โดยธนาคารมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างพอร์ตสินเชื่อที่มีเสถียรภาพ ลดต้นทุนด้านเครดิตและบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อความท้าทายจากระดับหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยแม้ว่าแนวทางการเติบโตอย่างระมัดระวัง อาจส่งผลให้ขนาดของพอร์ตสินเชื่อและรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจสินเชื่อลดลงในระยะสั้น แต่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ระยะยาวของธนาคารในการสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ยั่งยืน
ปี 2567 เป็นปีแห่งการปรับสมดุลของKKP
นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 คุณภาพของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ของธนาคารมีแนวโน้มดีขึ้น ฟื้นตัวจากผลกระทบเรื่องราคารถยนต์ตกต่ำช่วงหลังโควิด ส่งผลให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของพอร์ตสินเชื่อเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ช่องทางออนไลน์ของธนาคารในด้านเงินฝากและการลงทุนเช่น KKP Savvy, KKP Edge และ Dime! ยังเติบโตเป็นที่น่าพอใจ พร้อมกับที่การเปิดตัวบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศได้ช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกในการบริหารจัดการต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ธุรกิจตลาดทุนของ KKP ต้องเผชิญกับความผันผวนท่ามกลางภาวะขาลงของตลาดหลักทรัพย์ไทย แต่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังคงเพิ่มสูงขึ้น และสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำและการบริหาร (Asset under Advice/Asset under Management) ของ KKP เติบโตได้ดี คิดเป็นสินทรัพย์รวมกว่า 1 ล้านล้านบาท จากการให้บริการผ่านบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
ในด้านวานิชธนกิจซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ KKP ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะบริการที่ปรึกษาและการทำธุรกรรมสำคัญช่นเดียวกับที่ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ยังคงครองส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งของตลาดอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : KKP Research