รายงานฉบับล่าสุดของ KKP Research เปิดเผยว่าหนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และได้มีการยกเพดานหนี้หนีเป็นครั้งแรกจาก 60% เป็น 70% อย่างไรก็ตาม ผ่านมาไม่กี่ปีหนี้สาธารณะไทยก็มีแนวโน้มจะแตะเพดานดังกล่าวอีกครั้ง สะท้อนวินัยการคลังของรัฐบาลที่อ่อนแอ และเศรษฐกิจที่เติบโตได้ช้าลงในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รัฐบาลมักจะประเมินหนี้สาธารณะดีกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง และหากเศรษฐกิจเติบโตได้เพียง 3.5% รวมถึงยังขาดดุลงบประมาณที่ 4.5% ของ GDP หนี้สาธารณะจะชนเพดานภายใน 2 ปีข้างหน้า และอาจจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 80 - 90% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลจะต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากหนี้สาธารณะในระดับสูง และสังคมผู้สูงอายุ
รายงานของ KKP Research ระบุว่าผลจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้รัฐบาลไทยต้องปรับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของ GDP เป็น 70% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 แม้ว่าในช่วงเวลานั้นการก่อหนี้จำเป็นสำหรับแก้ปัญหาวิกฤต ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลต้องก่อหนี้ก้อนใหญ่ถึง 1.5 ล้านล้านบาท และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 40% ของ GDP มาแตะ 60% แต่สิ่งที่น่ากังวลคือภายหลังจากนั้นไม่กี่ปี หนี้สาธารณะของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีโอกาสจะชนเพดานใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เมื่อพิจารณาจาก Medium-term Fiscal Framework (MTFF) หรือแผนการคลังระยะปานกลางที่ปรับปรุงล่าสุดในช่วงปลายปี 2567 รัฐบาลคาดว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นไปจนถึง 69.3% ในปี 2572 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า และยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม KKP Research มองว่าการคาดการณ์ดังกล่าวอาจดีกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง และในระยะข้างหน้ารัฐบาลอาจต้องทบทวนแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากพื้นที่ทางการคลังที่จะเหลือน้อยลงมากกว่าที่คาดได้
ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลมักจะประเมินหนี้สาธารณะต่อ GDP ในแต่ละปีต่ำกว่าความเป็นจริง โดยหากย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 2562 การคาดการณ์หนี้สาธารณะในแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐบาลมักจะถูกปรับเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าจะลดลงในระยะ 3 - 4 ปีถัดไปเสมอ
สมมติฐานหลักที่จะกำหนดทิศทางของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ประกอบด้วย รายรับรายจ่ายของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยจ่าย และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยหากรายรับต่ำกว่ารายจ่าย รัฐบาลจะมีเพียง 2 ทางคือ (1) เก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายรับ หรือ (2) การกู้เงินมาชดเชยส่วนต่างดังกล่าว โดยในกรณีหลังจะกลายเป็นหนี้สาธารณะในที่สุด ทั้งนี้ การประเมินแนวโน้มหนี้สาธารณะของภาครัฐอาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
เพื่อประเมินทิศทางหนี้สาธารณะที่อาจสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ทาง KKP Research ได้ทดลองปรับสมมติฐานของรัฐบาลใน 2 กรณี คือ (1) ให้การเติบโตของเศรษฐกิจ (ที่รวมผลจากเงินเฟ้อ) เหลือเพียง 3.5% ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานของรัฐบาลประมาณ 0.5% และ (2) ให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำเพียง 3.5% และรัฐบาลไม่มีการลดการใช้จ่ายภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญ
โดยสมมติให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ปีละ 4.5% ของ GDP อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงปัจจุบัน โดยในทั้ง 2 กรณี พบว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอาจจะทะลุเพดาน 70% ภายใน 2 ปีข้างหน้า และถ้ามองออกไปในระยะข้างหน้าอีก 10 กว่าปีหลังจากนั้น หรือในปี 2583 หนี้สาธารณะไทยอาจจะแตะถึงระดับ 80 - 90% ของ GDP ในที่สุด
ในมุมมองของ KKP Research ประเด็นที่น่ากังวลคือสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดดูเหมือนจะไม่ค่อยดีนัก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่แท้จริงในปี 2567 ที่เติบโตเพียง 2.5% และหากรวมอัตราเงินเฟ้อด้วยจะเติบโตได้เพียง 2.9% เท่านั้น ขณะที่ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 1.5% และการใช้จ่ายของรัฐบาลมากกว่าปีที่แล้วประมาณ 290,000 ล้านบาท หรือ 31% ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้ขาดดุลงบประมาณไปแล้วมากกว่า 410,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 47.7% ของวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่ตั้งเอาไว้ในปีงบประมาณนี้
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงของภาคการคลังในปีนี้เพิ่มสูงขึ้น หากมีเหตุจำเป็นให้ต้องเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ หรือหากรายได้ภาครัฐในอนาคตหลุดเป้าจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามากกว่าที่คาด
นอกจากประเด็นวินัยทางการคลังในระยะสั้นที่น่าเป็นห่วงแล้ว ในระยะข้างหน้า KKP Research คาดว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลจะมีข้อจำกัดอย่างมาก โดยอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย ได้แก่
จาก 3 ปัจจัยดังกล่าว KKP Research ประเมินสัดส่วนงบประมาณที่สามารถจัดสรรได้อย่างอิสระ โดยมีสมมติฐานว่าภาระดอกเบี้ยจะยังสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุต่อหัวจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.3% ต่อปี ขณะที่การขยายตัวของงบประมาณบุคลากรเฉลี่ยปีละ 4% แบ่งเป็นค่าตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2% และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกปีละ 2%
พบว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าหรือในปี 2583 รัฐบาลจะเหลืองบประมาณที่ใช้จ่ายได้อย่างอิสระประมาณ 20% ของงบประมาณทั้งหมด จากที่ในปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 40% ขณะที่งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมจะเพิ่มขึ้นจาก 24% ของงบประมาณเป็น 35% ของงบประมาณ งบประมาณด้านบุคลากรจะเป็นอีกด้านที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน จาก 22% ในปัจจุบันเป็น 30% ในปี 2583
สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การจัดสรรงบประมาณเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะการปรับลดสวัสดิการสังคมในช่วงเวลาที่สังคมมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี หรือการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของรัฐ ย่อมเผชิญกระแสต่อต้านค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังต้องการการลงทุนในด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นอีกด้วย
จากข้อจำกัดข้างต้น KKP Research มองว่าหากรัฐบาลไม่เริ่มขยับตัวตั้งแต่วันนี้ในการปฏิรูปภาครัฐอย่างจริงจัง ทั้งด้านการใช้จ่ายและรายรับของรัฐบาลก็อาจจะไม่ทันการณ์ที่จะรองรับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่ได้เริ่มเกิดขึ้น ซึ่งการปฏิรูปรายจ่ายของรัฐบาลมักจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก และมีข้อสรุปที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐให้เงินที่ใช้จ่ายไปสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าเงินที่ใช้ไป ไปจนถึงการลดขนาดของรัฐ อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิรูปการใช้จ่ายของรัฐเพียงด้านเดียวยังไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบภาษีที่นำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กันด้วย
อ้างอิง: KKP Research