เศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานี้กำลังเผชิญแรงกระแทกจากหลายทิศทาง โดยเฉพาะสองปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน ได้แก่ ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และนโยบายภาษีจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากแนวทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ผ่านมาตรการกีดกันทางการค้า
แม้เหตุแผ่นดินไหวในประเทศจะสร้างความเสียหายด้านกายภาพและกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ประเมินว่า แรงกระแทกที่แท้จริงและส่งผลลึกซึ้งกว่าคือแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากนโยบายภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) และการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย “America First” ของทรัมป์
เพราะมาตรการภาษีไม่เพียงกระทบต่อไทยเท่านั้น แต่ยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วระบบเศรษฐกิจโลก เปรียบได้กับ “แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจ” ที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนด้านการค้า การลงทุน และการเคลื่อนไหวของเงินทุนในระดับสากล
ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 10% กับสินค้าจากทุกประเทศ และเพิ่มเติมตามระดับดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยใช้สูตรง่าย ๆ คือ "ดุลการค้า ÷ มูลค่านำเข้า แล้วลดลงครึ่งหนึ่ง" ซึ่ง KKP ชี้ว่าเป็นสูตรที่ไม่ยึดหลักเศรษฐศาสตร์ และสะท้อนเจตนาทางการเมืองมากกว่าความเป็นธรรมทางการค้า
ผลลัพธ์คือ ไทยถูกตั้งภาษีสูงถึง 37% ขณะที่เวียดนามโดน 46%, กัมพูชา 49%, ลาว 48%, ศรีลังกา 44% และจีนสูงถึง 54% เมื่อรวมกับรอบก่อนหน้า ถือเป็นการเปลี่ยนบทบาทของสหรัฐฯ จากผู้นำการค้าเสรีสู่ผู้จุดชนวนสงครามการค้าอย่างเต็มตัว
KKP วิเคราะห์ว่าทรัมป์ไม่สามารถคงอัตราภาษีระดับนี้ได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในด้านเงินเฟ้อและการเติบโต ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ Stagflation คือภาวะเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจชะลอตัว
ดังนั้น หากพิจารณาถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ดร. พิพัฒน์ มองว่าสงครามการค้าในครั้งนี้ไม่ใช่ “สงครามภาษี” (tariff war) แต่เป็น “สงครามการเจรจา” (negotiation war) เพราะการตั้งภาษีสูงอาจเป็นเพียงเครื่องมือบีบให้ประเทศต่างๆ เข้ามาเจรจาเท่านั้น โดยทรัมป์แสดงท่าทีว่าพร้อมลดภาษีหากได้รับสิ่งที่ต้องการ เช่น TikTok Deal หรือข้อเสนอจากประเทศคู่ค้า
นอกจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศอย่างชัดเจนว่า หากประเทศใดต้องการให้สหรัฐฯ ลดภาษีหรือผ่อนคลายแรงกดดันทางการค้า จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 5 ข้อ คือ
KKP ประเมินว่า หากภาษีระดับ 37% คงอยู่ตลอดปี 2025 ไทยจะสูญเสียรายได้จากการส่งออกอย่างรุนแรง โดย GDP อาจลดลงจากที่คาดไว้ 2.3% เหลือเพียง 1.2% โดยไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เพราะการส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของ GDP และสหรัฐฯ คิดเป็น 18% ของการส่งออกไทย
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจดังกล่าว ไทยมีสามทางเลือกในการรับมือกับมาตรการภาษีตอบโต้ คือ "สู้ หมอบ หรือทน"
สู้ (Retaliate): การตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีหรือการค้าต่อสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่หลายประเทศกำลังพิจารณา แต่ไทยไม่น่าจะมีศักยภาพเพียงพอในการต่อกร เพราะสหรัฐฯ พึ่งพาการค้ากับไทยน้อยมาก หากตอบโต้กลับอาจเจอการลงโทษซ้ำที่กระทบหนักกว่าเดิม
หมอบ (Negotiate): ทางเลือกที่ KKP เห็นว่ามีความเหมาะสมที่สุดคือการเจรจา โดยเสนอข้อแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯ ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาด การเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ หรือร่วมมือในด้านภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อให้สหรัฐฯ ยอมลดภาษีนำเข้าให้ไทยลง
ทน (Tolerate): การไม่ดำเนินการใด ๆ และยอมรับผลกระทบจากภาษีเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ GDP หายไปราว 1.1% และสร้างความเสียหายเชิงโครงสร้างกับเศรษฐกิจไทยโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม KKP ชี้ว่า การ "หมอบ" และเจรจาคือทางเลือกที่ได้ผลมากที่สุด เพราะหากไทยสามารถเสนอสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการได้ทันท่วงที โอกาสลดภาษีจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยไทยอาจสามารถลดภาษีตอบโต้ให้ลงไปอยู่ในระดับประมาณ 10% ซึ่งเป็นระดับพื้นฐานได้
KKP มองว่าไทยไม่อยู่ในสถานะที่จะตอบโต้สหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสหรัฐฯ พึ่งพาการค้าไทยน้อยกว่าที่ไทยพึ่งพาสหรัฐฯ ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการเร่งเจรจาโดยมีข้อเสนอที่เหมาะสมและยืดหยุ่น ขณะเดียวกันต้องมีการปรับสมดุลภายในประเทศเพื่อจัดการกับผลกระทบในภาคส่วนต่างๆ
โดยไทยอาจเตรียมข้อเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกับการลดภาษี เช่น:
ทั้งนี้ ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย มองว่า การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับสหรัฐฯ จะกระทบกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศ เช่น เกษตรกร ผู้ผลิตอาหารสัตว์ โรงกลั่นน้ำมัน หรือผู้ถือโควตานำเข้า
การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งไทยเก็บภาษีนำเข้าสูง เช่น เนื้อวัว 50%, เนื้อไก่ 40%, เนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากนม 30%, อัลมอนด์ 40% สินค้าเหล่านี้ยังถูกควบคุมด้วยมาตรการด้านสุขอนามัย (SPS) โดยเฉพาะเนื้อแดง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ภาครัฐให้ความคุ้มครองสูงเนื่องจากเกี่ยวข้องกับฐานเสียงในประเทศ
ในกลุ่มยานยนต์ รถยนต์นั่งถูกเก็บภาษีนำเข้า 80%, รถจักรยานยนต์ 60%, รถกระบะ 40% ขณะที่สินค้าจากอาเซียนได้รับยกเว้นภาษี การเปิดตลาดจากการลดภาษีจึงอาจเพิ่มการแข่งขันได้อย่างมาก
ส่วนพลังงานชีวภาพ เช่น เอทานอล ยังถูกห้ามนำเข้าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยไม่มีใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2005 เพื่อลดการแข่งขันกับผู้ผลิตภายในประเทศ หากมีการเปิดตลาด อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตพลังงานในประเทศ
ในภาพรวม หลายอุตสาหกรรมอาจเผชิญแรงกดดันหากมีการลดภาษีนำเข้า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาษีของไทยที่สูงกว่าสหรัฐฯ ในหลายรายการ เช่น นม กาแฟ ชา รถยนต์ และเนื้อสัตว์
ดังนั้น รัฐบาลต้องมีระบบเจรจาภายในเพื่อจัดสมดุล และอาจต้องชดเชยผู้ได้รับผลกระทบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม รวมถึงสร้างกลไกเจรจาที่โปร่งใสเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
KKP คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 2% เหลือ 1.5% ในปีนี้ และอาจลดต่อถึง 1.25% ในปีหน้า หากแรงกระแทกจากภาษีและแผ่นดินไหวยืดเยื้อ โดยชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสูงกว่าระดับเป็นกลางในเชิงประวัติศาสตร์ แม้ในช่วงที่ GDP โต 3% และเงินเฟ้อไม่เกิน 1% ก็ยังใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำกว่านี้
ด้านนโยบายการคลัง รัฐควรเร่งลงทุนซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นการบริโภคผ่าน home improvement และออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภาษี เช่น กลุ่มส่งออก SME และกลุ่มที่อาจเสียประโยชน์จากการเปิดตลาด เช่น ภาคเกษตร เป็นต้น