เมื่อปลายปีที่แล้ว มีข่าวใหญ่ก็คือ Honda และ Nissan บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นจะควบรวมกิจการกัน
การควบรวมตรงนี้ ถ้าเกิดขึ้นจริงโลกของเราก็อาจมีบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกเกิดขึ้นมาทันที
แต่มาวันนี้ ดูเหมือนว่าดีลนี้จะไม่เกิดขึ้นแล้ว หลัง Honda เปลี่ยนข้อตกลงใหม่กับ Nissan มาดูกันว่าเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร ? แล้วอะไรที่ทำให้ Nissan ต้องคิดใหม่
ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องเริ่มเล่าก่อนว่า ทำไมทั้ง 2 บริษัทถึงอยากควบรวมกัน ?
เริ่มกันที่ผลประกอบการของ Honda
- ปี 2022 รายได้ 3,214,000 ล้านบาท กำไร 156,000 ล้านบาท
- ปี 2023 รายได้ 3,734,000 ล้านบาท กำไร 144,000 ล้านบาท
- ปี 2024 รายได้ 4,512,000 ล้านบาท กำไร 245,000 ล้านบาท
และ ผลประกอบการของ Nissan
- ปี 2021 รายได้ 1,861,000 ล้านบาท กำไร 47,600 ล้านบาท
- ปี 2022 รายได้ 2,341,000 ล้านบาท กำไร 49,000 ล้านบาท
- ปี 2023 รายได้ 2,803,000 ล้านบาท กำไร 94,300 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 บริษัททำรายได้ ได้ปีละหลายล้านล้าน มีกำไรอีกหมื่นล้าน แสนล้าน
คำถามคือมันมากขนาดไหน ?
ตอนนี้ Toyota บริษัทผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นเหมือนกัน มีรายได้ 9,957,000 ล้านบาท กำไรอีก 1,092,000 ล้านบาท เป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่ามากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
ทีนี้ถ้าลองเอารายได้ของ Honda และ Nissan มารวมกันคร่าว ๆ ก็จะกลายเป็น 7,000,000 ล้านบาท
ถ้าตัดเรื่องอัตรากำไรที่ทำได้ออกไป ก็จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะมีรายได้รวมกันเทียบชั้น Toyota ได้เลยทีเดียว
เพราะอย่างนั้นถ้าดีลนี้เกิดขึ้นจริง โลกของเราก็จะมีบริษัทผลิตรถยนต์ใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ขึ้นมาทันที
และทั้ง 2 บริษัทจะได้ประโยชน์จากขนาด หมายความว่า ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจะต่ำลง มีอัตรากำไรมากขึ้น ทำให้มีกำไรมากขึ้น
นอกจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายก็จะมีทรัพยากรมากขึ้น มีเงินไปพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และ เทคโนโลยีไร้คนขับ ที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์ได้อีกด้วย ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในธุรกิจรถยนต์ EV
แต่จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ มันดันอยู่ที่ว่า ทั้ง 2 บริษัท เป็นยักษ์ใหญ่ทั้งคู่ ทีนี้จะแบ่งหุ้นกันยังไงให้ลงตัว
ถ้าดูที่รายได้ กำไร และอัตรากำไร ก็ต้องบอกว่า Honda ทั้งใหญ่และแข็งแกร่งกว่า Nissan อีกทั้งที่ผ่านมาสถานการณ์ของ Nissan ก็ไม่ค่อยสู้ดีนัก
รายได้ กำไรครึ่งปีแรกปี 2024 ของ Nissan (เริ่มปีงบประมาณ เดือน เมษายน 2024)
- รายได้ 1,322,000 ล้านบาท ลดลง 1% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)
- กำไร 4,240,000 ล้านบาท ลดลง 94%
จะเห็นได้ว่า กำไรหายไปเกือบหมด ซึ่งสาเหตุมาจากยอดขายที่ลดลง โดยเฉพาะยอดขายในสหรัฐฯ จนทำให้บริษัทต้องปรับโครงสร้าง ลดกำลังการผลิต และ ปลดพนักงานออก
เห็นแบบนี้แล้ว ก็แปลว่า Honda ทั้งใหญ่ และ แข็งแกร่งกว่า พอ Honda รู้แบบนี้ก็เลยบิดข้อเสนอกับ Nissan
จากตอนแรกที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาด้วยกันเป็นโฮลดิ้งส์ แล้วเอาธุรกิจของ Honda และ Nissan มาเป็นธุรกิจในเครือ และเป็นเจ้าของร่วมกัน
ก็เปลี่ยนข้อเสนอเป็นให้ Nissan มาอยู่ใต้ Honda แทน
สรุปง่าย ๆ ก็คือ ตอนนี้เกมกำลังเปลี่ยน จากเดิมที่ Nissan จะได้เป็นเจ้าของทั้ง 2 ธุรกิจร่วมกันกับ Honda กลับกลายเป็นถูก Honda กดดันจากสถานการณ์ของบริษัทที่ไม่สู้ดีแทน
เรื่องตรงนี้ก็เลยทำให้มีข่าวลือออกมาว่าทาง Nissan ปฏิเสธดีลควบรวมกิจการนี้ เพราะมันไม่เหมือนที่คุยกันไว้ทีแรก
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว Nissan จะเลือกแบบไหน ระหว่างสู้ต่อไปด้วยตัวเองแต่ยังได้ความเป็นเจ้าของ หรือ จะรวมกำลังกับ Honda แต่ต้องตกไปอยู่ใต้ Honda แทน
ที่มา: edition.cnn.com, global.nissannews.com, reuters.com, yahoo.finance.com