เมื่อพูดถึงระบบขนส่งสาธารณะของไทย ‘รถเมล์สาย 8’ คงเป็นหนึ่งในภาพที่โผล่เข้ามาในหัวเป็นสิ่งแรกๆ สะท้อนถึงภาพจำของระบบขนส่งไทยที่ติดปัญหาเรื่องความปลอดภัย วินัยจราจร และ … ในขณะที่ประเทศไทย เริ่มเปลี่ยนผ่านจากรถเมล์น้ำมัน สู่รถเมล์ไฟฟ้า 100% กลุ่มประเทศผู้นำระดับโลกอย่าง ‘สหราชอาณาจักร’ กำลังก้าวไปสู่ขั้นถัดไป คือ การนำ ‘รถสาธารณะไร้คนขับ’ มาให้บริการกับประชาชนแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา
‘AB1’ คือ บริการรถโดยสารสาธารณะไร้คนขับของสหราชอาณาจักร นับเป็นรถสาธารณะแบบไร้คนขับขนาดใหญ่ ที่ได้รับใบอนุญาตการให้บริการจริงเป็น ‘สายแรกของโลก’ โดย AB1 นี้เป็นส่วนหนึ่งของ Project CAVForth โดยบริษัท Stagecoach และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลของสหราชอาณาจักรด้วย
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘รถเมล์ไร้คนขับ’ แต่บนรถสายนี้ยังคงมีพนักงานให้บริการ 2 คนด้วยกัน โดยคนหนึ่งประจำอยู่ที่พวงมาลัย เพื่อคอยเฝ้าระวังความปลอดภัยของการให้บริการ ส่วนพนักงานอีกคนทำหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการขึ้นลงของผู้โดยสาร และการจำหน่ายตั๋ว คล้ายกับโชว์เฟอร์และกระเป๋ารถเมล์บ้านเรานั่นเอง
AB1 ได้เริ่มให้บริการแล้วในสกอตแลนด์ระหว่าง Ferrytoll Park, Ride in Fife และ Edinburgh Park Transport Interchange ครอบคลุมระยะทางราว 22.5 กิโลเมตร จำกัดความเร็วสู
สุดอยู่ที่ 80 กม./ชม.
รถเมล์ไร้คนขับสาย AB1 นี้ ใช้รถยี่ห้อ Alexander Dennis รุ่น Enviro200AV มีความสามารถในการขับขี่ในสภาวะที่การจราจรมีความซับซ้อน เช่น ขับผ่านวงเวียน ไฟจราจร และเปลี่ยนเลนบนถนนมอเตอร์เวย์ อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ในรถยนต์ไร้คนขับอย่าง AI เซนเซอร์ และกล้องรอบคัน
โดยในช่วงแรกของการให้บริการนี้ รถเมล์ไร้คนขับสาย AB1 มีรถให้บริการจำนวนทั้งหมด 5 คัน โดย Stagecoach ระบุว่า จะสามารถให้บริการผู้โดยสารได้ประมาณ 10,000 คนต่อสัปดาห์ สนนราคาอยู่ที่เที่ยวละ 7.20 ปอนด์ (ราว 309 บาท) จะเปิดให้บริการในระยะทดลองนี้จนถึงปี 2025
Paul Davies ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Alexander Dennis ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในสัปดาห์ก่อนการเปิดตัว AB1 ว่า “บริษัทมั่นใจว่ารถเมล์ไร้คนขับเช่นนี้ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน และยังช่วยให้รถยนต์วิ่งในระดับความเร็วที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงาน และยืดระยะการซ่อมบำรุงรถอีกด้วย”
ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน จาก รายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 ขององค์กรอนามัยโลก
นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อนเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ยังระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน มีผู้บาดเจ็บสะสมจำนวน 314,370 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 6,057 ราย เพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน
แม้อุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากรถจักรยนต์เป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว ระบบขนส่งสาธารณะก็จะดีตามไปด้วย ผลที่จะตามมา ก็คือ ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวน้อยลง และอุบัติเหตุก็จะลดลงไปด้วยเป็นเงาตามตัว
ระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพจึงไม่เพียงทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกมากขึ้น แต่ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และช่วยรักษา ‘ชีวิตของประชาชน’ ไว้ได้อีกด้วย หากในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยนำเทคโนโลยี ‘รถยนต์ไร้คนขับ’ ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัย และความคล่องตัวของการจรจรมาใช้ ก็คงจะเกิดประโยชน์กับชีวิตของประชาชนได้ไม่น้อย
ที่มา : BBC, CNBC, Stagecoach, ThaiRSC