Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
บริษัทลูกซาฟารีเวิลด์ 'ภูเก็ตแฟนตาซี' รอดตาย เลื่อนจ่ายหุ้นกู้ได้ถึงสิ้นปี 67
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

บริษัทลูกซาฟารีเวิลด์ 'ภูเก็ตแฟนตาซี' รอดตาย เลื่อนจ่ายหุ้นกู้ได้ถึงสิ้นปี 67

27 มิ.ย. 66
16:35 น.
แชร์

วงการหุ้นไทยตอนนี้ปั่นป่วนหนัก ล่าสุด มีบริษัทส่อแววย่ำแย่อีกราย เมื่อ บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAFARI ออกมาแจ้งว่า บริษัทย่อย บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด (มหาชน) จะขอเลื่อนวันชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ หลังจากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไข เรื่องการดำรงไว้ซึ่งอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio) ในอัตราส่วน 4:1 เท่า ณ วันสิ้นงวดบัญชีรายไตรมาสหรือวันสิ้นปีบัญชีได้

โดยในวันนี้ (27 มิ.ย.) บริษัทได้ออกมาแจ้งผลการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของ บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด (มหาชน) ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วว่า ผู้ถือหุ้นกู้ของภูเก็ตแฟนตาซีได้มีมติอนุมัติผ่อนผัน ‘ไม่ให้ถือว่าการรักษาสัดส่วน D/E ไม่ได้ครั้งนี้เป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ’

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ยังพิจารณาอนุมัติ ‘ผ่อนผัน’ ให้เลื่อนการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ จากที่จะต้อง

  1. ชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยคงเหลือทั้งหมดที่ยังไม่ได้ชำระสำหรับครั้งที่ 1 และ 2 ในอัตรา 7.25% ต่อปี ภายในวันที่ 30 สิงหาคม ปี 2566 
  2. ชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้บางส่วน 5% ของมูลค่าเงินต้นหุ้นกู้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2566
  3. ชำระ 10% ของมูลค่าเงินต้นหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน และในวันที่ 30 เมษายน 2567

หลังจากได้รับการผ่อนผัน บริษัทภูเก็ตแฟนตาซีจะสามารถ ชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ รวมไปถึงดอกเบี้ยทั้งหมดใน ‘วันครบกำหนดไถ่ถอน’ ซึ่งก็คือ ‘วันที่ 30 ธันวาคมปี 2567’ ทำให้เท่ากับว่า บริษัทจะสามารถเลื่อนการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปได้จากกำหนดการณ์เดิมประมาณ 1 ปีครึ่ง - 8 เดือน เปิดโอกาสให้บริษัทหาทางสร้างรายได้และกำไรมาปิดหนี้ดังกล่าวได้ในเวลาตามกำหนด 

ทั้งนี้ จากเอกสารที่ทางบริษัทยื่นให้กับตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบัน ภูเก็ตแฟนตาซี ได้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้วถึว 7 รุ่นด้วยกัน และมีมูลค่ารวมถึง 2,288.7 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ทั้ง 7 รุ่น ได้แก่ 

(1) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 1/2561 หรือ “PHUKET207A”

(2) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 2/2562 หรือ “PHUKET208A”

(3) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 4/2562 หรือ “PHUKET20DA”

(4) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 5/2562 หรือ “PHUKET206A”

(5) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 6/2562 หรือ “PHUKET207B”

(6) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 7/2562 หรือ “PHUKET216A”

(7) หุ้นกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้แบบมีหลักประกันครั้งที่ 1/2564 ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567 หรือ “หุ้นกู้ปรับโครงสร้าง”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์จะดูย่ำแย่ นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซาฟารีเวิลด์ต้องเอาตัวรอดจากวิกฤต เพราะตลอดเวลา 38 ปีที่เปิดบริษัทมา บริษัทเจ้าของสวนสัตว์เปิดของไทยรายนี้ฝ่าฟันอุปสรรค และวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง รวมไปถึง วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตสินเชื่อซับไพร์ม หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังกัดฟันสู้ ประคองธุรกิจให้อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

 

ซาฟารีเวิลด์ ‘อาณาจักรแห่งความสุข’ ที่รอดมาได้ทุกขาลง

บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด เป็นบริษัทที่ก่อตั้งเมื่อปี 2528 โดยนักธุรกิจชาวไทย ผิน คิ้วคชา เพื่อดำเนินกิจการซาฟารีเวิลด์ ธุรกิจการท่องเที่ยวและนันทนาการ ประเภทสวนสัตว์เปิดและการแสดงสัตว์ บนที่ดินเนื้อที่ประมาณ 430 ไร่ที่เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร โดยซาฟารีเวิลด์ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดทำการวันแรกเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ปี 2531 เปิดฉาก “อาณาจักรแห่งความสุข” สวนสัตว์ที่มีสัตว์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้ชมมากที่สุด 

โดยในช่วงแรก กิจการของซาฟารีเวิลด์ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะในขณะนั้นสวนสัตว์ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม เพราะเป็นของแปลกใหม่ ทำให้ซาฟารีเวิลด์ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และกลายสภาพเป็นบริษัทจำกัดมหาชนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปี 2537 โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “SAFARI” และขยายกิจการไปยังอีกพื้นที่ท่องเที่ยวก็คือ ‘ภูเก็ต’ ด้วยการตั้งบริษัท "ภูเก็ตแฟนตาซี" จำกัด มหาชน ในปี 2539 เพื่อเปิดธีมปาร์ควัฒนธรรมบนเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ บนหาดกมลา ด้วยงบประมาณ 3,500 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม กิจการที่กำลังดูเหมือนจะไปได้ดีนี้กลับมาสะดุดเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นในปี 2540 ที่ทำให้หลายๆ ธุรกิจเดือดร้อน รายได้และกำไรหด แต่สุดท้ายซาฟารีเวิลด์ก็เข็นภูเก็ตแฟนตาซีออกมาได้ในปี 2542 จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของเมืองภูเก็ต โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งก็ดูเหมือนจะไปได้ดี ทำรายได้ได้พอสมควรจนซาฟารีเวิลด์เปิดบริษัท “คาร์นิวัลเมจิก” อีกหนึ่งบริษัทย่อยในปี 2557 เพื่อดำเนินการธีมปาร์คอีกแห่งในภูเก็ต

แต่ถึงแม้จะผ่านทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และ แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 มาได้ ซาฟารีเวิลด์ก็เจอปัญหาหนักอีกครั้งในช่วงปี 2561-2564 เพราะในเดือนกรกฏาคมปี 2561 ได้เกิดเหตุเรือท่องเที่ยวสามลำล่มและจมในบริเวณ เกาะเฮ ใกล้จังหวัดภูเก็ต ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต 47 คน ส่งผลให้มีคนจีนไปเที่ยวภูเก็ตน้อยลง และส่งผลต่อรายได้ของซาฟารีเวิลด์ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนจีน

ต่อมา ซาฟารีเวิลด์ก็เจอปัญหาหนักอีก เมื่อเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ซึ่งลากยาวมาถึงปี 2564 ทำให้ภูเก็ตแฟนตาซีต้องปิดทำการเป็นเวลาเกือบ 2 ปีในปี 2563-2564 ทำให้ซาฟารีเวิลด์ต้องปิดทำการเป็นเวลาประมาณ 5 เดือนในปี 2564 และทำให้การก่อสร้างคาร์นิวัลเมจิกหยุดชะงัก จนต้องเลื่อนวันเปิดทำการไปจากกำหนดการณ์เดิมในปี 2563

แน่นอนว่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้รายได้และกำไรของซาฟารีเวิลด์ลดฮวบ จนกลายเป็นขาดทุนเรื้อรัง โดยลดเหลือ 56.73 ล้านบาทในปี 2562 และขาดทุนถึง 657.14 ล้านบาทในปี 2563, 922.23 ล้านบาทในปี 2564, และ 2565 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทต้องปิดทำการไป ในขณะที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 3,921.17 ล้านบาทในปี 2561 มาเป็น 7,120.95 ล้านบาทในปี 2565 จากการที่ซาฟารีเวิลด์ต้องรับภาระดูแลสัตว์ในขณะที่ไม่มีรายได้ และต้องหาเงินมาซ่อมแซมคารนิวัลเมจิกให้ก่อสร้างและเปิดทำการได้

safari-world

 

บริษัทมองกิจการดีขึ้นในปีนี้ อานิสงส์เปิดประเทศกระตุ้นท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์ในตอนนี้จะยังเรียกได้ว่าหืดขึ้นคอจากการที่บริษัทลูกอย่างภูเก็ตแฟนตาซียังไม่สามารถสร้างรายได้และกำไรมากพอมาจ่ายหนี้หุ้นกู้ให้นักลงทุนได้ ซาฟารีเวิลด์มองว่าอนาคตของธุรกิจในปีนี้และปีหน้าน่าจะสดใสขึ้นจากการที่ในตอนนี้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มกลับมาเดินทาง และเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยกันมากขึ้นแล้ว

โดยจากงบการเงินในไตรมาสแรกของปี 2566 ที่ซาฟารีเวิลด์ได้ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ ผลประกอบการของซาฟารีเวิลด์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะขาดทุนเพียง 87.8 ล้านบาท ซึ่งลดลงมามากจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ซาฟารีเวิลล์ขาดทุนไปถึง 217.7 ล้านบาท และซาฟารีเวิลด์เริ่มกลับมามีกำไรสุทธิมในงบเฉพาะกิจการตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565

ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซาฟารีเวิลด์ทำรายได้จากการดำเนินงานไปทั้งหมด 455.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 479.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นรายได้จากซาฟารีเวิลด์ 295.99 ล้านบาท จาก ภูเก็ตแฟนตาซี 103.3 ล้านบาท และ คาร์นิวัลเมจิก 56.59 ล้านบาท ส่วนมากเป็นรายได้จากการขายบัตรเข้าชม รองลงมาเป็นรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่มภายในโครงการ

โดยผู้บริหารเองยังคงมองบวกว่า เมื่อนักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาติกลับมา สถานการณ์ของธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น  และจะประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องและสามารถกลับมาสร้างรายได้ และกำไรได้เพิ่มขึ้น





อ้างอิง: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แชร์
บริษัทลูกซาฟารีเวิลด์ 'ภูเก็ตแฟนตาซี' รอดตาย เลื่อนจ่ายหุ้นกู้ได้ถึงสิ้นปี 67