Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ขนส่งทางถนนไม่ตาย  DHL ชี้อนาคตซัพพลายเชนต้องยั่งยืน ยืดหยุ่น รวดเร็ว
โดย : อิทธิพัทธ์ วิวัฒรางกูล

ขนส่งทางถนนไม่ตาย DHL ชี้อนาคตซัพพลายเชนต้องยั่งยืน ยืดหยุ่น รวดเร็ว

21 พ.ย. 67
19:16 น.
|
426
แชร์

การล็อกดาวน์จากโควิด-19 และการเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซ ได้สร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรม ‘โลจิสติกส์’ เป็นอย่างมาก และเผยให้เห็นถึงความเปราะบางจากการพึ่งพาสถานที่ใดสถานที่หนึ่งมากเกินไป รวมถึงการมีซัพพลายเชนที่จำกัดทางภูมิศาสตร์ 

ขนส่งทางถนน 'ไม่มีวันตาย’ DHL ชี้ อนาคตซัพพลายเชน ต้องยั่งยืน-ยืดหยุ่น-รวดเร็ว

ทำให้หลายประเทศมองหาโอกาสนอกประเทศจีน ผ่านกลยุทธ์ ‘China Plus One’ หรือ ‘จีน +1’ กล่าวคือ คงสถานะในประเทศจีน แต่สร้างขีดความสามารถในประเทศอื่นด้วย หลายบริษัทต่างมองหาทางเลือกในเม็กซิโก และยุโรปมากขึ้น รวมถึง ’อาเซียน’ ที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ สําหรับการขยายธุรกิจ เนื่องจากข้อได้เปรียบที่น่าสนใจต่างๆ ดังนี้:

  • จากการสํารวจประชากร 155 ล้านคน ในช่วงอายุ 25-54 ปี ที่เป็นกําลังแรงงานที่มีทักษะ ‘มาเลเซีย’ ติดอันดับที่ 30 ของโลก นําหน้าจีน (อันดับ 64) และอินโดนีเซีย (อันดับ 65)
  • ทําเลที่ตั้งเป็นตัวกลางทางการค้าที่สําคัญระหว่างจีนกับเขตพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมถึงได้รับประโยชน์จากการอํานวยความสะดวกกับส่วนอื่นๆ ทั้งเอเชีย ออสเตรเลีย และแปซิฟิก
  • ต้นทุนแรงงานและค่าใช้จ่ายในการผลิตที่ลดลง การเข้าถึงตลาดใหม่ที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนที่หลากหลาย ได้มอบความยืดหยุ่นให้แก่ธุรกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็น ในการกระจายซัพพลายเชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยังคงดำเนินอยู่ จากการสำรวจของ Eastspring Investments พบว่า 75% ของผู้นำธุรกิจเชื่อว่า การไม่ดำเนินการใดๆ จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการปรับสมดุลใหม่ การขาดการสร้างความยืดหยุ่นเพิ่มเติม อาจทำให้กำไรลดลงถึง 19-24% ในอีก 10 ปีข้างหน้า

การขนส่งแบบ Multimodal

จากปัจจัยทั้งหลาย ‘ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง ประเทศไทย’ (DHL Global Forwarding Thailand) ผู้ให้บริการขนส่งในเครือ DHL Group จึงหันมาทำการขนส่งที่หลากหลายรูปแบบ หรือ ‘Multimodal’ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางถนน ทางอากาศ หรือทางทะเล ช่วยให้การขนส่งสินค้าเข้า-ออกประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย และไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น 

โดยศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศแบบมัลติโมดอล ‘DHL International Multimodal Hub’ มีขนาดพื้นที่ 480 ตารางเมตร ภายในศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ที่เขตปลอดอากร 3 สนามบินสุวรรณภูมิ อำนวยความสะดวกด้านการค้า ด้วยมาตรการควบคุมทางศุลกากรที่มีประสิทธิภาพ และยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค

วินเซนต์ ยง กรรมการผู้จัดการของ ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง ประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในข้อได้เปรียบหลักของ DHL International Multimodal Hub คือ การเป็นศูนย์กลางขนส่งแบบครบวงจรของ DHL ลูกค้าสามารถดำเนินกระบวนการศุลกากรได้อย่างรวดเร็วภายในกรุงเทพฯ ลดขั้นตอนการเดินทางเพื่อไปดำเนินการยังจุดชายแดน ทำให้สินค้าถึงมือผู้รับปลายทางได้เร็วขึ้น ลดระยะเวลาในการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

การขนส่งทางถนน ไม่มีวันตาย

ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ความสามารถในการขนส่งที่จำกัด อัตราค่าขนส่งทางทะเลและทางอากาศที่สูง รวมถึง การปิดท่าเรือและสนามบิน ได้ผลักดันให้ลูกค้าหันมาใช้การขนส่งทางถนนมากขึ้น ขณะนี้ เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ลูกค้าก็ยังคงเห็นถึงความสำคัญของการขนส่งทางถนน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

บรูโน เซลโมนี รองประธานฝ่ายการขนส่งทางถนนและโซลูชันมัลติโมดอล ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดีเอชแอล โกลบอล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง กล่าวว่า การขนส่งทางถนน มีบทบาทสำคัญในการขนส่งแบบ Multimodal โดยเฉพาะเมื่อต้องขนส่งสินค้าภายในภูมิภาคหรือกับประเทศจีน สามารถช่วยลดระยะเวลา ‘Door-to-Door’ (DTD) ได้เร็วกว่าการขนส่งทางทะเล และมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศ

การพูดคุยเรื่องการขนส่งทางถนน กำลังเปลี่ยนประเด็นการพูดคุย จากเรื่องความเกี่ยวข้องกันและต้นทุนไปเป็นประเด็นอื่นๆ แต่ความท้าทายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายจะช่วยให้การดำเนินงานมีความราบรื่นขึ้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนกำลังลงทุนพัฒนาโครงสร้างถนน

3 ประเด็นสำคัญสำหรับอนาคตของการขนส่งทางถนนในอาเซียน

1. การขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัลและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ธุรกิจจำนวนมากต้องการความยืดหยุ่นในซัพพลายเชนมากกว่าเดิม ความต้องการแบบทันทีทันเหตุการณ์ และการได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะการจัดส่งและสภาพถนน จึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น ซึ่งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่พัฒนาแล้วของภูมิภาคอาเซียน ช่วยให้สามารถติดตามการขนส่งทางถนนแบบทันที (real-time) ผ่านเซ็นเซอร์และ GPS ทำให้ลูกค้าสามารถคาดการณ์ตำแหน่งและเวลาที่สินค้าจะมาถึงได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ ยังช่วยให้การขนส่งทางถนนและทางรถไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ทั้งยังช่วยทำให้โซลูชัน Multimodal มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2. นโยบายของรัฐบาลเพื่อการขนส่งข้ามพรมแดนที่ราบรื่น

โครงการต่างๆ เช่น ระบบการผ่านแดนของศุลกากรอาเซียน (ACTS) มุ่งลดปริมาณงานด้านเอกสารลง โดยในปี 2566 หน่วยงานศุลกากรของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ให้การรับรองข้อตกลงว่าด้วยการรับรองสถานะผู้ดำเนินการเศรษฐกิจที่ได้รับอนุญาตของอาเซียน (AAMRA) สร้างสภาพแวดล้อมการค้าขายที่สม่ำเสมอ และโปร่งใสในหมู่ประเทศสมาชิก 

โดย AAMRA ยึดมาตรฐานการรับรองของกรอบ SAFE ขององค์การศุลกากรโลก (WCO) เพื่อให้การเคลียร์สินค้าเร็วขึ้น และได้รับการปฏิบัติในฐานะผู้ที่ได้รับการรับรอง AEO ในอาเซียน นอกจากนี้ บางประเทศยังดำเนินการภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนด้วย

3. วาระสำคัญของความยั่งยืนในการขนส่งทางถนน

รายงานของ International Data Corporation (IDC) ระบุว่า 45% ขององค์กรในเอเชียจะบูรณาการความยั่งยืนในซัพพลายเชน ภายในปี 2569 ซึ่งการขนส่งสินค้ารวมถึงรถบรรทุก เครื่องบิน เรือ และรถไฟนั้นมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 8% ของทั่วโลก แม้ว่าจะมีทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการขนส่งทางถนน เช่น ยานพาหนะไฟฟ้า และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แต่ในแนวทางปฏิบัติยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

แชร์
ขนส่งทางถนนไม่ตาย  DHL ชี้อนาคตซัพพลายเชนต้องยั่งยืน ยืดหยุ่น รวดเร็ว