เชื่อว่าหลายคนต้องเคยตั้งคำถามกันว่า “ทำไม Disneyland ถึงยังไม่มาเปิดในประเทศไทย” ทั้งที่ประเทศเราก็มีมีนักท่องเที่ยวมากมายและมีเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง วันนี้เรามาหาคำตอบกันว่า “ทำไม Disneyland ยังไม่มาเปิดในประเทศไทย”
ประเทศไทยมีสวนสนุกขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยม เช่น Siam Amazing Park หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า สวนสยาม ซึ่งเป็นสวนสนุกและสวนน้ำที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2523 โดยสวนสยามนั้นมีจุดขายคือ สวนสยาม ทะเลกรุงเทพฯ เป็น “ ทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เคยได้รับการบันทึกโดย Guinness World Records และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ราว 750,000 คน แต่เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงเหลือเพียง 300,000 คนในปี 2020 รายได้ก็ลดลงจาก 355 ล้านบาท เหลือเพียง 170 ล้านบาทในปีเดียวกัน
นอกจากนี้ ไทยเราก็ยังมี Dream World ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2536 Dream World เคยสร้างรายได้ถึง 463 ล้านบาทในปี 2019 และทํากำไรได้ประประมาณ 61 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสวนสนุกระดับโลกอย่าง Disneyland ตัวเลขเหล่านี้ยังถือว่าน้อยกว่ามาก
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก โดยในปี 2023 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่า เราต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 28 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 3 ล้านล้านบาท แต่ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและมีตลาดการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง แต่ Disneyland ก็ยังไม่เลือกที่จะมาเปิดในบ้านเรา
โดยรายได้เฉลี่ยของประชากรในประเทศไทยในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 7,349.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 255,880 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศที่มี Disneyland อย่าง ญี่ปุ่น ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ประมาณประมาณ 39,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจีนที่อยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
ตัวเลขรายได้นี้มีผลต่อการตัดสินใจของ Disney เป็นอย่างมาก เพราะการเข้าใช้บริการ Disneyland แต่ละครั้งก็อาจมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เช่น ค่าเข้าชม Disneyland Tokyo อยู่ที่ประมาณ 8,200 เยน หรือราว 1,900 บาทต่อคน หากรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น อาหารและของที่ระลึก ค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 10,000 บาทต่อวัน ซึ่งถือว่าอาจเป็นจํานวนที่ยังสูงอยู่เมื่อเทียบกับรายได้ของคนไทยในปัจจุบัน
จากเหตุผลที่กล่าวมานี้เอง Disneyland ไม่ได้พิจารณาแค่จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เข้ามาเท่านั้น แต่ยังคงต้องพึ่งพากลุ่มลูกค้าภายในประเทศนั้นอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Disneyland Tokyo และ Disneyland Shanghai ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าในประเทศเป็นหลัก และสามารถดึงดูดผู้เข้าชมปีละกว่า 10-20 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนในประเทศอยู่ ทำให้ศักยภาพของตลาดในประเทศไทยนั้นอาจยังไม่พร้อมที่จะรองรับสวนสนุกขนาดใหญ่นี้
อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบันกรุงเทพฯ จะมีระบบขนส่งมวลชน เช่น BTS และ MRT แต่การเชื่อมต่อไปยังพื้นที่รอบนอกหรือต่างจังหวัดนั้นก็ยังไม่สะดวกสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือฮ่องกง ซึ่งมีระบบรถไฟที่ครอบคลุมและสะดวก จะส่งผลดีต่อการเดินทางไปยังสวนสนุกมากกว่า
และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ Disney มีการลงทุนในภูมิภาคเอเชียอยู่แล้ว เช่น Tokyo Disneyland และ Hong Kong Disneyland การเปิดเพิ่มในประเทศไทยนั้นอาจทำให้เกิดการแข่งขันภายในภูมิภาคเดียวกันเองได้
โดยในงาน IAAPA Expo Asia 2024 ที่จัดขึ้นที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ประธานสมาคมสวนสนุกโลก กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะเชิญสวนสนุกระดับโลกอย่าง Disneyland มาเปิดในประเทศไทยได้นั้นอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร เนื่องจากเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องของการจัดเก็บภาษี
คําถาม คือ แล้วรัฐบาลจะมีมาตรการใดบ้างที่จะสนับสนุนภาคเอกชนในการเข้ามาลงทุนในธุรกิจสวนสนุก”
โดยคุณ วุฒิชัย ได้ยกตัวอย่างฮ่องกง เป็นกรณีศึกษาว่า รัฐบาลของฮ่องกงช่วยเหลือ Disneyland ด้วยการเรียกคืนที่ดิน ในขณะที่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ได้สร้างเส้นทางรถไฟไปยังสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ภายในหนึ่งปีก่อนจะเปิดทำการ
สุดท้ายนี้ แม้ว่า Disneyland จะยังไม่เปิดในประเทศไทย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ครับ หากในอนาคต รายได้เฉลี่ยของประชากรไทยเพิ่มขึ้น โครงสร้างพื้นฐานพัฒนา และตลาดสวนสนุกในประเทศเติบโตมากขึ้น Disneyland ก็อาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยก็เปิดไปได้