บริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องบินยักษ์ใหญ่อย่าง Boeing คือหุ้นที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดในปี 2024 ของดัชนีดาวโจนส์ โดยปรับตัวลดลงถึง 32% เนื่องจากวิกฤตความเชื่อมั่นที่โหมกระหน่ำทุกทิศทาง ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง Airbus กลับปรับตัวพุ่งขึ้นมากกว่า 11%
หุ้นของ Boeing เปิดปี 2024 ที่ระดับ 257.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2024 ที่ชิ้นส่วนเครื่องบิน Boeing รุ่น 737 MAX ของสายการบิน Alaska Airlines เกิดหลุดกลางอากาศ แม้ว่าผู้โดยสารทั้งหมดจะไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง แต่เรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของ Boeing และนำไปสู่การเข้าตรวจสอบโรงงานที่เข้มงวดของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FAA ซึ่งต่อมาได้มีคำสั่งลดกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่นดังกล่าวลงเหลือ 38 ลำต่อเดือน โดยให้เหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งฉุดให้ราคาหุ้นของ Boeing ลงมาอยู่ที่ระดับ 211 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ปัจจุบัน FAA ยังไม่มีคำสั่งยกเลิกการลดกำลังการผลิต ส่งผลทำให้ Boeing ต้องประสบปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน อาทิ ปริมาณงานค้าง (Travelled Work) ซึ่งหมายถึงส่วนประกอบของเครื่องบินที่ผ่านสถานีงานต่าง ๆ มาแล้ว แต่ยังมีจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งการชะลอตัวของกระบวนการผลิตโดยรวมนี้ จะทำให้การส่งมอบเครื่องบินล่าช้าออกไปด้วย
ทั้งนี้ ผู้ผลิตเครื่องบินจะได้รับเงินค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อส่งมอบเครื่องบินให้กับลูกค้าแล้ว อัตราการผลิตที่ลดลงจึงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อ Boeing รวมถึงซัพพลายเออร์และสายการบินต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้าของ Boeing กำลังรอเครื่องบินลำใหม่มาให้บริการผู้โดยสารที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง ภายหลังการคลี่คลายของโรคระบาด หลายสายการบินจึงใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการลดจำนวนเที่ยวบินลงจากตารางเดิมที่วางไว้ ขณะที่บางสายการบินเลือกที่จะต่อสัญญาเช่าเครื่องบินที่ใช้งานอยู่แล้วออกไป
Boeing คือบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องบินทั้งเชิงพาณิชย์และการทหาร รวมถึงมีแผนกอวกาศในการผลิตยานอวกาศ Starliner ซึ่งมีสัญญากับ NASA ในการทำหน้าที่รับส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติอีกด้วย ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา ทุกผลิตภัณฑ์ของ Boeing ประสบภาวะขาดทุนมหาศาล ขณะเดียวกัน Spirit AeroSystems ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ในการผลิตลำตัวเครื่องบิน รุ่น 737 ที่ Boeing ร่วมทำข้อตกลงด้วยเงินลงทุนกว่า 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 ก็มีผลประกอบการขาดทุน และประสบปัญหาด้านคุณภาพการผลิตอีกด้วย
ในเดือนสิงหาคม 2024 เคลลี ออร์ตเบิร์ก (Kelly Ortberg) ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศได้เข้าร่วมกับ Boeing ในตำแหน่งซีอีโอ โดยเข้ามาแทนที่ เดฟ คัลฮูน (Dave Calhoun) ที่ประกาศลาออกพร้อมกับผู้บริหารระดับสูงรายอื่น ๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ชิ้นส่วนเครื่องบินหลุดกลางอากาศของ Alaska Airlines
แม้จะไม่ได้มีการขับไล่ แต่พนักงานของ Boeing ก็ให้เวลาซีอีโอคนใหม่ในการปรับตัวเพียง 1 เดือนเท่านั้น เพราะในช่วงต้นเดือนกันยายน 2024 พนักงานฝ่ายผลิตประมาณ 33,000 คน นัดหยุดงานประท้วง เนื่องจากข้อพิพาทเรื่องสัญญา โดย Boeing พยายามเจรจากับสหภาพแรงงานหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งความไม่ลงรอยกันนี้ทำให้การนัดหยุดงานประท้วงลากยาวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ราคาหุ้นของ Boeing ลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 137.07 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ ออร์ตเบิร์ก ยังประกาศลดจำนวนพนักงานของ Boeing ลง 17,000 คน หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยให้เหตุผลด้านสภาพคล่อง และเป็นการปฎิบัติตามแผนการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งของแผนการนี้ คือการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพ และการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของบริษัท
นอกจากแผนลดจำนวนพนักงานและการนัดหยุดงานประท้วงที่ยุติลงแล้ว Boeing ยังให้คำมั่นในการกลับมาเร่งกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 อีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น Boeing ให้กลับขึ้นไปที่ระดับ 177 ดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน Boeing รุ่น 737-800 ของสายการบิน Jeju Air ที่ประเทศเกาหลีใต้ ยังคงสร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้โดยสาร ขณะที่นักลงทุนยังคงกังขาถึงความเชื่อมั่นในสายการผลิตของ Boeing ซึ่งเรื่องที่เร่งด่วนยิ่งกว่าการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมาจาก Airbus คือการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัย ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการกอบกู้วิกฤตความเชื่อมั่นที่ยั่งยืนของ Boeing ในท้ายที่สุด
อ้างอิง Reuters