การบินไทย รับข่าวดีหลังตัวเลขผู้โดยสารในช่วงไตรมาส 4 ปี66 มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เตรียมเพิ่มเที่ยวบินทั้งเส้นทางในประเทศ และต่างประเทศ ญี่ปุ่น จีน พร้อมเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพ-อิสตันบูล เริ่ม 1 ธ.ค.นี้
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 4/66 มีแนวโน้มยังดีต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร หรือ Cabin Factor ในไตรมาส 4 ปีนี้ เฉลี่ยกว่า 80% และตลาดที่ยังทำรายได้ดีได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ขณะที่ในไตรมาส 3/66 ยอมรับมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทอ่อนค่ามาก
โดยตลาดญี่ปุ่นถือว่ามียอดขายดีที่สุดในกลุ่มเอเชียเหนือ (ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง) โดยการบินไทยบินไปญี่ปุ่น 5 เมือง คือ โตเกียว (นาริตะ, ฮาเนดะ) , นาโกยา,โอซากา, ฟุกุโอกะ, ซัปโปโร คาดว่าจะมี Cabin Factor ในช่วงต.ค.-ธ.ค.66 เฉลี่ย 80-85% ซึ่งตั้งแต่ต.ค.นี้จะเพิ่มความถี่ในเส้นทางญี่ปุ่น ได้แก่ ซัปโปโร จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ฟุกุโอกะ จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และ โตเกียว (นาริตะ / ฮาเนดะ) 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ส่วนเมืองเซนได การบินไทยยังไม่กลับมาเปิดบินเพราะเห็นว่าเป็นตลาดที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก
การบินไทย คาดการณ์ว่าความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปยังต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ โควิด-19 ได้คลี่คลายมากขึ้นแล้ว ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดมุ่งหมายอันดับต้นๆสำหรับชาวญี่ปุ่น เพื่อเดินทางไปพักผ่อนหรือติดต่อเจรจาธุรกิจ ซึ่งการบินไทยมีผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ชาวญี่ปุ่นได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นตารางบินที่ครอบคลุม เครื่องบินที่ทันสมัยและสะดวกสบาย การบริการตามแบบฉบับไทยที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ผู้โดยสารจะได้รับ ไม่ว่าจากการบินไทยเองและจากพันธมิตรทางธุรกิจ อีกทั้ง การบินไทยยังมีเครือข่ายเส้นทางการบินที่ครอบคลุมจุดมุ่งหมายของชาวญี่ปุ่นต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CLMV, อินเดีย, ปากีสถาน หรือ แม้กระทั่ง ยุโรป จึงคาดว่าในปี 67 การเดินทางของชาวญี่ปุ่นมายังไทยน่าจะมีจำนวนมาก
สำหรับตลาดเส้นทางจีน จากการประกาศวีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าประเทศไทย มีผลตั้งแต่ 25 ก.ย.66 - 29 ก.พ.67 ส่งผลให้ยอดจองใน Travel online platform เช่น Ctrip, Tuniu จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เป็นทิศทางที่ดีต่อการตอบรับการเดินทาง รวมทั้งการเดินทางในช่วงวันชาติจีนที่จะถึง ในวันที่ 1 ต.ค.66 ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็น นักท่องเที่ยวแบบเดินทางคนเดียว (FIT) เพิ่มขึ้น และแนวโน้มจะเป็นผู้โดยสารที่มีอายุน้อยเดินทาง ส่วนนักท่องเที่ยวลักษณะกลุ่มใหญ่ (Charter และ GIT) ที่จะเดินทางมาจากเมืองรองเป็นส่วนใหญ่ ต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะ
การเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางบินจีน ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) นี้ ได้แก่ ปักกิ่ง จาก 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, คุนหมิง จาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, เฉิงตู จาก 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ดังนั้น ประมาณการผู้โดยสารในช่วงไฮซีซั่น ในเส้นทางญี่ปุ่น 423,980 คน (Cabin factor 85%) เส้นทางจีน Cabin factor 88% เส้นทางยุโรป 375,357 คน (Cabin factor 90%) ออสเตรเลีย 112,597 คน (Cabin factor 92%) , Southern (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย) 25,540 คน (Cabin factor 80%) Western (ออสเตรเลีย) 169,168 คน (Cabin factor 82%)
ทั้งนี้ สัดส่วนทางการตลาด Top 3 คือ ยุโรป ยังคงเป็นอันดับหนึ่ 30% ตามด้วย ในประเทศ 27% และเอเชียเหนือ ( Northern) 20% ตามลำดับ
นอกจากนี้การบินไทยจะเปิดเส้นทางใหม่ กรุงเทพ-อิสตันบูล ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 66 ซึ่งเส้นทางนี้การบินไทยได้ทำโค้ดแชร์กับสายการบินเตอร์กิชแอร์ไลน์ ทั้งนี้ อิสตันบูล เป็นจุดศูนย์กลางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ที่สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยการบินไทยจะทำการบินด้วยแอร์บัส A350-900 จำนวน 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์
นายชาย กล่าวว่า การเปิดเส้นทางบินใหม่สู่อิสตันบูล นอกจากจะยกระดับการเป็นสายการบินที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและออสเตรเลีย ยังสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับตุรกีและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากประเทศตุรกีเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 85.3 ล้านคน และมีขนาดมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 906 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ "อิสตันบูล ถือว่าเป้นจุดยุทธศาสตร์ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ สนามบินอิสตันบูลบินเข้ามาจาก 120 เมือง และบินจากอิสตันบูลไป 57 เมือง เราขอไปครึ่งหนึ่ง 25 เมือง และตุรกีมีประชากร 85 ล้านคน No Visa เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสที่คนตุรกีมาไทยเยอะ คนตุรกีชอบคนไทย"
นายชาย ระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจการบินกลับมารวดเร็ว ทำให้การจัดหาเครื่องบินไม่ง่าย ขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะมีฝูงบิน 95 ลำภายในปี 70 โดยปัจจุบัน มีเครื่องบิน 45 ลำ และได้จัดหาใหม่ 11 ลำ ที่จะทยอยรับมอบในต้นปี 67 รวมแล้วเป็น 56 ลำ เมื่อรวมกับเครื่องบินที่สายการบินไทยสมายล์ทำการบินจะโอนกลับมาที่การบินไทยทั้งหมด 20 ลำ การบินไทยจะมีฝูงบิน 76 ลำ ขณะเดียวกันก็ต้องปลดระวางเครื่องบิน B777-200 ER ออกไป 5 ลำ ก็จะเหลือ 90 ลำ
ดังนั้น การบินไทยก็ต้องจัดหาเพิ่มอีก 14 ลำ ภายในปี 70 โดยรุ่นเครื่องบินที่ต้องการเข้ามาเสริมทัพ เป็น A350, B777 ,B787 ทั้งนี้ เมื่อการบินไทยมีเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมทัพ ก็เตรียมที่จะกลับไปบินเมืองออสโล , มิลาน และซิดนีย์ ที่มีดีมานด์อยู่
นอกจากนี้ การบินไทยอยู่ระหว่างแผนการจัดการเครื่องบินระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าการบินไทยต้องมีเครื่องบินจำนวน 100 ลำขึ้นไป โดยคาดว่าจะสามารถสรุปได้ต้นปี 67 ส่วนจะได้รับมอบเครื่องบินเมื่อไหร่ ขึ้นกับผู้ผลิตเครื่องบิน คือ แอร์บัส และโบอิ้ง โดยแอร์บัสปัจจุบันมีคำสั่งผลิตเครื่องบินรองอยู่ 400 ลำแล้ว ซึ่งผลิตได้ปีละ 100 ลำ "วันนี้เรารู้แล้ว เราต้องการเท่าไหร่ แต่ความต้องการกับความสามารถมันคนละเรื่อง ?วิธีการได้มาซึ่งเครื่องบิน ถ้าเราไปจัดหาเครื่องบินใหม่ก็ต้องวางเงินมัดจำ โดยมูลค่าเครื่องบินเป็นแสนล้านอยู่แล้ว เครื่องบินลำหนึ่งมี 4-5 พันล้าน"
นายชาย กล่าวว่า การบินไทย ในปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดเล็กเกินไปในไทย ที่ 28% (รวมไทยสมายล์) จากก่อนหน้านี้ การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 30% ซึ่งขณะนั้นไม่มีสายการบินโลว์คอส อย่างไรก็ดี การจะขยายส่วนแบ่งตลาด จำเป็นต้องเพิ่ม Capacity ซึ่งปัจจุบันการบินไทยใช้เครื่องบินเต็มประสิทธิภาพแล้ว
ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจของการบินไทยที่จะรวมไทยสมายล์เข้ามาคาดว่าจะเสร็จในเดือนม.ค.67 ขณะนี้ได้โอนฝูงบินแอร์บัส A320 ของไทยสมายล์มาแล้ว 4 ลำ เหลืออีก 16 ลำ และทยอยโอนนักบินและลูกเรือและจุดบินมาด้วย โดยที่เริ่มทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศไปแล้ว ได้แก่ ย่างกุ้ง ธากา เวียงจันทน์ และพนมเปญ อาห์เมดาบัด เกาสง ปีนัง และกัลกัตตา เหลือเส้นทางเวียดนาม ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ และเชียงใหม่ จะเริ่มทำการบิน 29 ต.ค. และกาฐมาณฑุ เริ่มทำการบิน 1 ธ.ค.66
สำหรับเส้นทางภายในประเทศ การบินไทยจะทยอยทำการบินเส้นทางในประเทศรวม 9 เส้นทาง ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ต. เป็นต้นไป ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี กระบี่ หาดใหญ่ นราธิวาส และภูเก็ต (ซึ่งจะมีเส้นทางภูเก็ต 1 เที่ยวบิน ที่เริ่มทำการบินตั้งแต่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป ด้วยโบอิ้ง 777-200ER ที่เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวจากนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล)