Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Gen Z เสพสื่อแบบใหม่ เน้นอ่านพาดหัว-คอมเมนต์ ตามข่าวจากอินฟลูฯ ที่ชอบ
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

Gen Z เสพสื่อแบบใหม่ เน้นอ่านพาดหัว-คอมเมนต์ ตามข่าวจากอินฟลูฯ ที่ชอบ

17 ก.ค. 67
17:13 น.
|
1.4K
แชร์

พฤติกรรมการติดตามข่าวสารในยุคนี้ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การทำข่าวเน้นเร็วและกระชับ ใครมาก่อน มาไว มักได้เปรียบเสมอ ซึ่งก็ดูจะเหมือนจริง โดยเฉพาะกับกลุ่ม ‘Gen Z’ หรือคนที่เกิดในช่วงปี 1997 ถึง 2012 โตมากับช่วงเวลาที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อยู่กับเนื้อหาดิจิทัลมากมาย ตามติดชีวิตอินฟลูเอนเซอร์ และอ่านบทความข่าวจากแหล่งข่าวนับล้านแห่งทั่วอินเทอร์เน็ต

เนื่องจาก Gen Z เติบโตมากับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วในช่วงวัยรุ่น ทั้งความเจริญรุ่งเรืองของสมาร์ทโฟน อุปกรณ์สวมใส่ ผู้ช่วยเสมือน (virtual assistants) ท่ามกลางเทคโนโลยีที่มีการพลิกโฉมรวดเร็ว ทำให้พวกเขาเปิดรับการบูรณาการเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในชีวิตของพวกเขา ส่งผลถึงพฤติกรรมการติดตามสื่อที่เปลี่ยนไปมาก

ตรงกับผลสำรวจการใช้โซเชียลมิเดียของกลุ่ม Gen Z ในสหรัฐอเมริกาของ EMARKETER ที่พบว่า 61% ของ Gen Z มีการใช้ AI ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพราะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการทำให้งานต่างๆ ง่ายขึ้น เช่น การแก้ไขเรียงความ การตรวจสอบรหัส และการวางแผนการเดินทาง

นอกจากนี้ กลุ่ม Gen Z ยังเห็นถึงความทับซ้อนระหว่าง ‘สื่อ’ และ ‘เทคโนโลยี’ โดยใช้อุปกรณ์มัลติฟังก์ชั่นที่ส่งเสริมการใช้งานพร้อมกัน ซึ่งทำให้สิ่งที่ Gen Z บริโภคมีความสำคัญมาก เห็นได้ถึงรูปแบบการเสพสื้อที่เปลี่ยนไปมาก เรียกได้ว่า แทบไม่เหมือนกับตำราวารสารศาสตร์ในอดีตเลยทีเดียว

ถ้ายาวมาก ก็ขอบาย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยจาก ‘Jigsaw’ บริษัทในเครือของ Google ที่มุ่งเน้นไปที่การเมืองออนไลน์และการแบ่งขั้ว กำลังศึกษาว่า กลุ่ม Gen Z แยกแยะและย่อยสิ่งที่พวกเขาเห็นทางออนไลน์ได้อย่างไร? โดยหวังว่า งานวิจัยจะถือเป็นการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วิทยาเชิงลึกครั้งแรก เกี่ยวกับ ‘การรู้สารสนเทศของกลุ่ม Gen Z’ (Gen Z’s information literacy)

ซึ่งจากงานวิจัย พบว่า กลุ่ม Gen Z ไม่ได้มีวิธีการตรวจสอบข่าวสารในรูปแบบเดิม แต่ใช้ ‘ความรู้สึกทางข้อมูล’ (information sensibility) กล่าวคือ พวกเขามักอิงตามลักษณะสังคม (social cues) และสามัญสำนึก ที่อาศัยการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่พวกเขายังสามารถบอกความแตกต่างระหว่างข่าวจริงกับมีมที่สร้างโดย AI ได้ แต่พวกเขาเพียง ‘ไม่สนใจ’

ในขณะที่คนรุ่นเก่ามักดิ้นรนในการตรวจสอบข้อมูลและอ้างอิงแหล่งที่มา แต่กลุ่ม Gen Z ไม่ใส่ใจด้วยซ้ำ พวกเขาอ่านเพียงแค่พาดหัวข่าว และเลื่อนดูความคิดเห็นของชาวเน็ตที่มีต่อประเด็นนั้นๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อดูว่าคนอื่นพูดอะไร

ทั้งนี้ หากบทความมีความยาวเกินไป พวกเขาก็พร้อมที่จะเลื่อนข้ามไป และหาเนื้อหาที่สั้น กระชับ และตรงกับความสนใจพวกเขาต่อ เพราะไม่ต้องการเห็นสิ่งที่อาจทำให้พวกเขาต้องใช้ความคิดหนักเกินไป หรือทำให้พวกเขารู้สึกอารมณ์เสีย

นอกจากนี้ พวกเขายังไม่เชื่อคอนเทนต์เนื้อหาอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับโฆษณา เพย์วอลล์ ป๊อปอัปที่ขอรับบริจาคเงิน หรือการสมัครสมาชิก โดยเฉพาะกับการทำคลิกเบตที่สื่อหลายสำนักหันมาใช้เพื่อดึงดูดคนอ่าน แม้กระทั่งสำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN และ The New York Times กลับถูก Gen Z มองว่า  ‘ไม่มีความเชื่อมั่นในเนื้อหา’ จึงต้องใช้วิธีนี้

ทั้งนี้ Jigsaw มองว่า แม้คนรุ่นเก่าเชื่อว่าการใส่ใจกับข้อมูลที่เป็นความจริงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่แนวคิด Gen Z คือ ‘บอกความจริงของคุณ และสิ่งที่คุณคิดว่าสำคัญ' ก็พอ ทำให้การรับรู้ข่าวสาร ข้อมูล หรือเนื้อหาที่เป็นประโยชน์เฉพาะเพื่อติดตามเทรนด์ให้ทันในกลุ่มสังคมที่พวกเขาเลือก ไม่ใช่อำนาจแบบเดิมๆ

ไม่เพียงเท่านี้ ผลสำรวจชี้ว่า กลุ่ม Gen Z ไม่เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการหาข้อมูลข่าวสารออนไลน์ กับการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกสังคมออนไลน์ พวกเขาใช้เวลาในโลกดิจิทัลเพื่อเป็นการ ‘ฆ่าเวลา’ พยายามไม่รู้สึกเบื่อเท่านั้น เพราะหากพวกเขาต้องการตอบคำถามหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พวกเขาจะหันไปค้นหาผ่านเครื่องมือจำพวกเซิร์ชเอนจิ้นเท่านั้น

แต่หากพวกเขากำลังได้รับข้อมูลใหม่ พวกเขาจะเสพสื่อผ่านฟีดโซเชียลเป็นหลัก ซึ่งได้รับการตัดแต่งตามอัลกอริทึมเพื่อสะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจ และคนที่พวกเขาไว้วางใจเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ พวกเขาได้สร้างฟิลเตอร์คัดกรองของตนเองเพื่อประมวลผลการโจมตีข้อมูลดิจิทัล มีแต่ข้อมูลที่สำคัญเท่านั้น ที่จะปรากฎบนฟีดพวกเขา

‘อินฟลูเอนเซอร์’ สื่อยุคใหม่ขวัญใจ Gen Z

สำหรับ Gen Z โลกออนไลน์เปรียบเสมือนโรงอาหารในโรงเรียนมัธยมที่มีกลุ่มสังคมต่างๆ ตามภาพยนตร์ยุค 80 แทนที่จะฟังครูเก่าที่เก่าแก่น่าเบื่ออย่าง CNN และ Times พวกเขาหันไปให้ความสนใจกับผู้ที่มีอิทธิพลทางออนไลน์อย่าง ‘อินฟลูเอนเซอร์’ แทน

เนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ดูจริงใจและสามารถพูดคุยในลักษณะที่โดนใจ Gen Z ทั้งภาษา การเรียบเรียง ความน่าสนใจ ทำให้กลุ่ม Gen Z มักมีอินฟลูเอนเซอร์คนโปรด หรือกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาไว้วางใจ รับข้อมูลทั้งหมดจากพวกเขา

ทั้งนี้ Beth Goldberg หัวหน้านักวิจัยของ Jigsaw เผยว่า พฤติกรรมการส่องสื่อของ Gen Z ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะฉลาดหรือขยันน้อยกว่าคนรุ่นอื่น แต่พวกเขารู้วิธีค้นคว้าสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และจะทำมันเมื่อต้องการ

พวกเขาใช้ประโยชน์จากทักษะการอ่านเขียนเชิงวิพากษ์เหล่านั้น ในสัดส่วนที่น้อยมากของเวลาที่พวกเขาใช้เวลาบนโลกออนไลน์ ซึ่งหากพวกเขากำลังเตรียมการโต้เถียง หรือตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตเกี่ยวกับการศึกษาหรือการลงทุน พวกเขาก็ยอมที่จะจัดการกับความน่าเบื่อหน่ายของการค้นหาข้อมูล

และเมื่อพูดถึงเรื่องอาหารหรือสุขภาพ กลุ่ม Gen Z จะทดลองกับร่างกายของตัวเองเพื่อดูว่าได้ผลหรือไม่ พวกเขามองว่านั่นเป็นวิธีที่ปลอดภัยในการทำวิจัยของตนเอง ส่วนใหญ่มองว่าวิธีนี้ไม่ทำร้ายผู้อื่น หากการรับประทานอาหารหรือการออกกำลังกายแบบใหม่ได้ผลต่อร่างกายของพวกเขา ก็น่าเชื่อมากกว่าข้อมูลที่แสดงให้เห็นอยู่ตามสื่อ

นอกจากนี้ หากสิ่งที่ฟังดูเป็นข้อเท็จจริงโผล่มาบนฟีดของกลุ่ม Gen Z เช่น การกล่าวอ้างเกี่ยวกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สิ่งที่โดนัล ทรัมป์จะทำในฐานะประธานาธิบดี หรือการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย พวกเขาก็จะดิ่งตรงไปที่ช่องความคิดเห็น เพื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวลือ

เพราะพวกเขาเชื่อว่า ชาวเน็ตพร้อมที่จะเปิดโปงความจริง โดยพวกเขาต้องการทราบว่า ข่าวหรือปฏิกิริยาต่อข่าวดังกล่าว อาจเป็นข้อขัดแย้งและนำไปสู่การฟันเฟืองหรือไม่

‘การคว่ำบาตร’ หรือ ‘การแบน’ (cancel culture) กลายมาเป็นประเด็นเมื่อกลุ่ม Gen Z โตขึ้น พวกเขาได้รับการฝึกฝนและเรียนรู้วิธีรับมือ ซึ่งสำหรับ Gen Z การตรวจสอบว่าชาวเน็ตแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เรื่องตื้นเขิน มันเป็นเรื่องของชีวิตทางสังคมหรือความตาย

‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ เท่านั้น คือคำตอบของนักช้อป

ในขณะที่รายงานของ KPMG เผยให้เห็นว่า Gen Z ในเอเชียแปซิฟิก ได้รับกระแสแฟชั่นจากไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์บน TikTok อย่างหนัก สอดคล้องกับการเสพสื่อของคนกลุ่มนี้ ที่มักใช้แพลตฟอร์มโซเชียลในการดำเนินชีวิต

จากสำรวจผู้บริโภค 7,000 รายใน 14 ตลาด ที่รวมถึงจีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่า Gen Z ให้ความสำคัญกับโซเชียลคอมเมิร์ซมากที่สุด (63%) ตามมาด้วยการค้าขายผ่านไลฟ์สตรีม (57%) ว่าสำคัญต่อประสบการณ์การช้อปปิ้ง

Irwan Djja หุ้นส่วนและหัวหน้าที่ปรึกษาของ KPMG Indonesia กล่าวว่า การผสมผสานของโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซแสดงให้เห็นถึงขอบเขตของการมีส่วนร่วมของคน Gen Z ในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักการของพวกเขา แบรนด์ต่างๆ จึงประเมินกลยุทธ์ซัพพลายเชนของตนอีกครั้ง และเน้นแพลตฟอร์มการค้าบนโซเชียลเพื่อรองรับ Gen Z โดยเฉพาะบน TikTok และ Instagram เป็นพิเศษ

เห็นได้จากการเป็นผู้นำแพลตฟอร์มของ TikTok ที่ยังคงเติบโต และมีจำนวนผู้ใช้งานและอิทธิพลอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้ธุรกิจต่างๆ หันาลงโฆษณาบน TikTok ผ่านการใช้อินฟลูเอนเซอร์ และ KOL และแสดงโฆษณาเพื่อนำผู้ชมกลับไปยังเว็บไซต์

ความจริงอยู่ที่ไหน?

ทั้งนี้ อาจฟังดูเหมือนว่า Gen Z ที่เชื่ออะไรสักอย่าง และไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์เลย ซึ่งนักวิจัยที่ Jigsaw ก็กังวลเรื่องนั้นเช่นกัน แต่ที่จริงๆ แล้ว Gen Z กลับไม่ได้เห็นข้อมูลเท็จมากเท่าที่คิด ในงานวิจัยชี้ว่า ข้อมูลเท็จส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นและใช้โดยผู้ใช้งานกลุ่มเล็กๆ ที่กระตือรือร้นค้นหาข้อมูล แทนที่จะเผยแพร่ไปยังวัยรุ่นในวงกว้าง

David Rothschild นักเศรษฐศาสตร์จาก Microsoft Research ที่ศึกษาพฤติกรรมออนไลน์กล่าวว่า การบริโภค TikToks ไร้สาระ แบบไม่เป็นทางการ ไม่น่าจะนำพาใครบางคนไปสู่มุมมืดของความเกลียดชังหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากพวกเขาจบลงที่นั่น อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาเลือกที่จะทำเอง

ที่จริงแล้ว ทุกคนในยุคนี้ ไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม หันมาติดตามข่าวสารที่เป็นทางการน้อยลง และพึ่งพาสื่อโซเชียลมากขึ้นเรื่อย ตรงกับการศึกษาล่าสุดจาก Pew Research Center ที่พบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่บน Facebook, Instagram, X และ TikTok อ่านข่าวสารบนแพลตฟอร์มที่กล่าวมาบ่อยครั้ง

โดยใน X ส่วนใหญ่ เป็นข่าวที่มักมาจากสำนักข่าวและนักข่าวที่เป็นแหล่งการผลิตข่าวจริงๆ ส่วน Facebook และ Instagram มักเป็นการแบ่งปันมุมมองของข่าวจากครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่สำหรับ TikTok แหล่งที่มามักจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ โดยจะรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปสิ่งที่แหล่งข้อมูลอื่นๆ พูดไว้ล่วงหน้า

สุดท้ายนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวันที่โลกดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว การเสพสื่อติดตามข่าวสารเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต่างหันมาทำข่าวมากขึ้น และในยุคที่ใครเร็วกว่า มักได้เปรียบกว่ามาก ซึ่งแน่นอนว่า การเพียงพาดหัวและรีบไล่อ่านคอมเมนต์ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากกลุ่ม Gen Z เท่านั้น เพราะเราต่างต้องการดูรีวิวก่อนซื้อสินค้า อ่านความเห็นก่อนตัดสินใจอะไรหลายอย่างอยู่ดี

คงต้องยอมรับแล้วว่า โลกมันเปลี่ยนไปมากจริงๆ

ที่มา Business Insider, CNBC, EMARKETER

แชร์
Gen Z เสพสื่อแบบใหม่ เน้นอ่านพาดหัว-คอมเมนต์ ตามข่าวจากอินฟลูฯ ที่ชอบ