Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิด 15 สินค้าส่งออกไทย-สหรัฐฯ สูงสุด ภาษี 37% กระทบหนัก ฉุดส่วนแบ่งหด
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เปิด 15 สินค้าส่งออกไทย-สหรัฐฯ สูงสุด ภาษี 37% กระทบหนัก ฉุดส่วนแบ่งหด

5 เม.ย. 68
14:57 น.
แชร์

เจาะลึก 15 สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เสี่ยงโดนภาษี 37% กระทบหนัก 

จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้นโยบาย “ภาษีตอบโต้” (Reciprocal Tariff) เพื่อปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 37% ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากสหรัฐอเมริกานับเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย และเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย มูลค่าส่งออกสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาทในปี 2567 หรือคิดเป็น 18.2% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด การที่ต้นทุนภาษีสูงขึ้นจะทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ทันที ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มหันไปพิจารณาสินค้าจากประเทศอื่นที่ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีสูง ทำให้ไทยเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในหลากหลายกลุ่มสินค้า

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น SPOTLIGHT ขอพาผู้อ่านไปสำรวจรายชื่อ 15 สินค้าไทยที่มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ สูงสุด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์มากที่สุด โดยเฉพาะหากอัตราภาษี 37% ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังในเร็วๆ นี้

15 สินค้าไทยเสี่ยง ส่งออกสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

จากการสืบค้นข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย พบว่า ในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งหมด 1,928,483.71 ล้านบาท กลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่มีมูลค่าสูงที่สุดในการค้ากับสหรัฐฯ ครอบคลุมตั้งแต่อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ไปจนถึงอาหารและสินค้าเกษตร โดยสินค้าดังกล่าวล้วนเสี่ยงได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษีตอบโต้ของทรัมป์

กลุ่มที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ‘กลุ่มเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์’ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกิน 30% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด หากถูกเก็บภาษี 37% จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจนกระทบความสามารถในการแข่งขันอย่างรุนแรง

เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา พบว่า มีสินค้า 15 ประเภทที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด และมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบโดยจากนโยบายภาษีตอบโต้ โดยสินค้าทั้ง 15 รายการนี้ คิดเป็นสัดส่วนรวมกันมากกว่า 60% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดจากไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2567 ดังนี้

  1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 3.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 19.23% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  2. เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 1.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.45% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  3. อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด มูลค่าส่งออก 8.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.56% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  4. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 7.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.81% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  5. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 6.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.45% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  6. เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ มูลค่าส่งออก 6.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.23% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  7. เครื่องประดับแท้ มูลค่าส่งออก 4.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.53% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  8. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 4.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.33% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  9. ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่าส่งออก 3.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.05% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  10. แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มูลค่าส่งออก 3.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.66% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  11. เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 3.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.63% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  12. อาหารสุนัขและแมว มูลค่าส่งออก 3.06 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.59% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  13. เครื่องนุ่งห่ม มูลค่าส่งออก 2.98 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.54% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  14. ข้าว มูลค่าส่งออก 2.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.45% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567
  15. ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 2.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.35% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2567

ข้าวไทยเสี่ยงเสียตลาดในสหรัฐฯ ให้เวียดนาม หลังถูกเก็บภาษี 37%

แม้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แต่อีกหนึ่งสินค้าส่งออกสำคัญที่ต้องจับตาไม่แพ้กันคือ “ข้าว” โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งนอกจากจะเป็นสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ อันดับที่ 14 ของไทย ยังถือเป็นแหล่งรายได้หลักของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การที่สหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีข้าวจากไทยในอัตราสูงถึง 37% ถือเป็นตัวเลขที่ “เกินความคาดหมาย” และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดสหรัฐฯ

ในปี 2567 ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังสหรัฐฯ มากกว่า 850,000 ตัน โดยราคาข้าวไทยอยู่ที่ 900–1,000 ดอลลาร์ต่อตัน แต่หากถูกเรียกเก็บภาษี 37% ราคาจะพุ่งขึ้นทันทีเป็น 1,400 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งจะทำให้ข้าวไทยแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่ข้าวหอมจากเวียดนาม ซึ่งมีปริมาณนำเข้าสหรัฐฯ ต่อปีเฉลี่ยเพียง 40,000 ตัน แม้จะถูกเก็บภาษีสูงถึง 46% แต่ราคาขายเฉลี่ยกลับอยู่ที่เพียง 600–700 ดอลลาร์ต่อตัน เท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ อาจหันไปเลือกซื้อข้าวเวียดนามแทนข้าวไทยได้ง่ายขึ้น เพราะราคาที่ถูกกว่าหลายร้อยดอลลาร์ต่อตัน

นายชูเกียรติเตือนว่า หากรัฐบาลไทยไม่เร่งดำเนินมาตรการทางการค้าเพื่อเจรจาลดภาษี หรือหาแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกโดยตรง ไทยอาจ สูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมในสหรัฐฯ ให้เวียดนาม ในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“พาณิชย์” คาดส่งออกเสียหาย 8.8 แสนล้านบาท สรท. จ่อปรับเป้าส่งออกจาก 1-3%

ด้านกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังรับทราบข่าวการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ว่า 37% เป็นอัตราที่สูงเกินคาดหมาย และอาจจะกระทบกับการส่งออกของไทยสูงถึง 8.8 แสนล้านบาท  โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ สูงเป็นลำดับต้น ๆ

แม้ยังมีความหวังว่าการเจรจาระหว่างสองประเทศอาจช่วยลดผลกระทบลงได้ แต่กระทรวงฯ ก็ยอมรับว่า ตัวเลขเป้าหมายการส่งออกไทยในปี 2567 ที่วางไว้ที่ 2–3% อาจต้องถูกทบทวนอีกครั้ง หากสถานการณ์ไม่คลี่คลาย

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ 15 สินค้าแรกที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ‘หากไม่รวมชิ้นส่วนอื่นๆ’ ได้แก่ 

1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องปริ้นเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น

ทั้งนี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยมีความพร้อมด้านการเจรจา และได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อรับมือสถานการณ์นี้โดยเฉพาะ พร้อมยืนยันว่าไทยจะใช้ทุกช่องทางทางการทูตและการค้า เพื่อขอให้สหรัฐฯ ผ่อนปรนหรือยกเว้นภาษีบางรายการ

โดยแนวทางการต่อรองหลักของไทยจะประกอบด้วย 3 ข้อสำคัญ ได้แก่

  1. ลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐบางรายการที่ไทยมีความต้องการอยู่แล้ว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และพลังงาน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการค้า
  2. ขยายการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยยังไม่นำเข้ามากนัก เพื่อแสดงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
  3. ลดข้อจำกัดทางการค้า ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าสหรัฐ เช่น ลดขั้นตอนทางกฎระเบียบบางรายการ

ด้านนายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% ถือว่าสูงกว่าที่ภาคธุรกิจคาดการณ์ไว้ และอาจส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังอย่างมีนัยสำคัญ

สรท. ตั้งเป้าการส่งออกเดิมไว้ที่ 1-3% แต่เตรียมทบทวนเป้าหมายใหม่อีกครั้งในไตรมาส 2 หลังหารือกับผู้ประกอบการและประเมินความเสียหายตามรายสินค้าหลัก

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สรท. ได้เสนอแนวทาง 3 ประการที่ควรเร่งดำเนินการโดยภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน ได้แก่

  • เร่งเจรจากับสหรัฐ ผ่านการเพิ่มการลงทุนไทยในสหรัฐฯ และการนำเข้าสินค้าจำเป็นจากสหรัฐ เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านดุลการค้า พร้อมผลักดันให้ ASEAN+ เป็นกลไกเจรจาระดับภูมิภาค
  • ขยายการใช้ประโยชน์จาก FTA กับประเทศอื่น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และเปิดตลาดใหม่สำหรับกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ
  • ปฏิรูปโครงสร้างการค้าและการลงทุนในประเทศ โดยเน้นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพิ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง และยกระดับอุตสาหกรรมต้นน้ำ เพื่อลดต้นทุนในห่วงโซ่การผลิต และยืนระยะได้ในระยะยาว

มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ไม่เพียงเป็นความท้าทายเฉพาะหน้าของภาคการส่งออกไทยเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความเปราะบางในโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศที่ไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ทั้งในด้านการตลาด การผลิต และการเจรจานโยบาย


แชร์
เปิด 15 สินค้าส่งออกไทย-สหรัฐฯ สูงสุด ภาษี 37% กระทบหนัก ฉุดส่วนแบ่งหด