บีโอไอเดินหน้าเต็มสูบ! ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ยุค EV ด้วย 5 มาตรการสำคัญ พร้อมชู EV เป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสถานะ 'ฐานผลิตยานยนต์โลก' ของไทย มุ่งสร้างโอกาสเติบโตในตลาดโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้แข็งแกร่ง
บีโอไอ ยืนยันว่า การสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาความเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ของไทย แต่ยังเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ในตลาดโลกอีกด้วย เงื่อนไขสำคัญคือ นักลงทุนต้องผลิต EV ในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้า 1-3 เท่า และใช้อะไหล่สำคัญที่ผลิตในประเทศ หากไม่ส่งเสริม อาจทำให้ไทยเสียโอกาสทางธุรกิจให้กับคู่แข่ง และลดบทบาทเหลือเพียงผู้นำเข้ารถยนต์
โดย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ อธิบายว่า การส่งเสริม EV เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับมือกับกระแสโลกที่มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยยังคงเน้นการผลิตรถยนต์สันดาปภายในเป็นหลัก นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการค้าอาจทำให้ไทยกลายเป็นตลาดนำเข้า EV ขนาดใหญ่ โดยที่ไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ไทยรักษาความสามารถในการแข่งขันและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ในระยะยาว รัฐบาลจึงผลักดันให้เกิดฐานการผลิต EV ในประเทศ นอกจากนี้ บีโอไอในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
เหตุผลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะภาคขนส่งซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุด ทำให้ทั่วโลกมุ่งสู่การใช้ยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่ำ หลายประเทศเริ่มออกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ที่ปล่อย CO2 สูง เช่น ห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) หรือขึ้นภาษีนำเข้า ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงผลิตรถยนต์ ICE เป็นหลัก
นอกจากนี้ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีในปัจจุบัน การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากบางประเทศมาจำหน่ายในไทยไม่ต้องเสียอากรขาเข้า หากไม่มีมาตรการใด ๆ รองรับ อาจเกิดการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่เกิดการตั้งฐานการผลิต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ และอาจสูญเสียโอกาสในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรม EV ให้แก่ประเทศคู่แข่ง รวมถึงสูญเสียโอกาสที่จะเติบโตจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ และระบบเชื่อมต่อยานยนต์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระยะยาว และประเทศไทยก็จะขาดฐานการผลิต EV ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต
ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแข่งขันได้และสอดคล้องกับทิศทางโลก อีกทั้งสามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับหนึ่งในอาเซียน และอันดับต้น ๆ ของโลกได้ในระยะยาว รัฐบาลจึงเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมให้เกิดฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อศึกษาและกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม EV โดยได้กำหนดเป้าหมาย 30@30 ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 เพื่อเป็นหมุดหมายให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV เพื่อต่อยอดจุดแข็งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่ ไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น ICE, HEV, PHEV และ BEV เพื่อรักษาและต่อยอดการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกประเภทในระยะยาว รวมถึงโอกาสในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก EV ไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจากบางประเทศ โดยมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ของไทย เปิดกว้างสำหรับผู้ลงทุนทั้งรายเดิมและรายใหม่ ทั้งไทยและต่างชาติทุกประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ผลิต EV ทั้งประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก และรถบัส จากหลายประเทศเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตจากไทย จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และล่าสุดคือ เกาหลีใต้
เหตุผลในการให้เงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการ EV3 และ EV3.5 โดยกรมสรรพสามิต
มาตรการ EV3 และ EV3.5 มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ EV ตามเป้าหมาย 30@30 และมุ่งผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาค โดยการสร้างตลาดรถยนต์ EV ในประเทศให้มีขนาดเหมาะสมกับการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ผลิตรถยนต์ใช้ในการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุน
มาตรการนี้จะอนุญาตให้มีการนำเข้าในช่วง 2 ปีแรก และกำหนดเงื่อนไขผูกโยงกับการลงทุนตั้งฐานการผลิต โดยผู้ที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย เพื่อชดเชยการนำเข้าในสัดส่วนอย่างน้อย 1 – 3 เท่า แล้วแต่ระยะเวลา อีกทั้งยังกำหนดเงื่อนไขให้มีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ ซึ่งจะส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนแบบครบวงจรด้วย
เหตุผลที่ยอดขายรถยนต์ลดลงมากในปีนี้
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 24 โดยในส่วนของรถกระบะ ลดลงถึงกว่าร้อยละ 40 ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่เข้ามาจำหน่ายในไทยมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ของยอดขายรถทั้งหมด จะเห็นว่าสาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากการเข้ามาแทนที่ของรถยนต์ไฟฟ้า แต่ปัจจัยหลักที่ส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ในไทยลดลงมาก และส่งผลกระทบถึงกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ คือ ปัญหาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การชะลอตัวของการบริโภค หนี้ครัวเรือนที่สูง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซื้อรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการ และออกมาตรการหลายด้านเพื่อช่วยกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในระยะเปลี่ยนผ่าน
การสนับสนุนและดูแลผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในและชิ้นส่วน
เป้าหมายสำคัญของรัฐบาล คือ การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ICE, HEV, PHEV และ BEV รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์แบบครบวงจร สะท้อนจากเป้าหมาย 30@30 ซึ่งจะเห็นได้ว่าร้อยละ 70 ที่เหลือยังคงเป็นการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน แต่จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มุ่งสู่ความสะอาด ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย และการขับเคลื่อนอัจฉริยะ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
บีโอไอพร้อมผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่การผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ด้วย 5 มาตรการหลักเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนดังต่อไปนี้
เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรม EV ในประเทศ บีโอไอกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องผลิตหรือจัดหาแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตในประเทศ นอกจากนี้ยังต้องมีแผนพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่มีหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทย (Local Supplier) ผ่านการฝึกอบรมและสนับสนุนทางเทคนิค เพื่อให้ผู้ผลิตเหล่านี้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาเทคโนโลยี EV และก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรม EV ต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น บีโอไอเร่งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย ผ่านการจัดกิจกรรมจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ (Sourcing Event) และงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสนับสนุน (Subcon Thailand) เพื่อเป็นเวทีจับคู่ธุรกิจ ส่งเสริมการซื้อขายชิ้นส่วน การว่าจ้างผลิต หรือการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ทั้งหมดนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามามีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม EV อย่างเต็มที่