ในยุคนี้ การหาคู่ออนไลน์กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาก ผู้คนสามารถพบเจอกันได้เพียงไม่กี่คลิก ทำให้ ‘Dating Applications’ หรือ ‘แอปหาคู่’ เป็นที่นิยมอย่างมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงตอนนี้ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่ในขณะที่เทคโนโลยีทำให้การค้นหาความรักง่ายขึ้น สัญญาณของความเบื่อหน่าย และการใช้งานที่ลดลงกลับเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ผู้คนเริ่มรู้สึกหมดไฟกับการหาคู่ในโลกดิจิทัล กระทบตลาดแอปหาคู่ทั่วโลกโดยตรง
การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความรักของผู้ใช้งาน แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยี ผู้เล่นใหญ่ในตลาดอย่าง Tinder และ Bumble กำลังเผชิญกับปัญหาในการรักษาผู้ใช้งาน และต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อเอาชนะความท้าทายที่เกิดขึ้น
จากปัญหาที่ผู้ใช้งานจำนวนมากรู้สึกเบื่อหน่ายกับประสบการณ์ที่ได้รับ ปัญหาที่กำลังเติบโตนี้เรียกว่า ‘Dating App Burnout’ หรือ ‘ภาวะหมดไฟจากการใช้แอปหาคู่’ กำลังส่งผลให้ตลาดแอปหาคู่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี 2020 เมื่อโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การพบปะสังสรรค์แบบต่อหน้าเป็นเรื่องยากมาก จนผู้คนจำนวนมากต้องหันมาใช้แอปหาคู่เพื่อเชื่อมต่อกับผู้อื่น หรือบางคนก็ใช้เพื่อคลายเหงา
เช่นในสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ใช้แอปหาคู่ในปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 18.4% เมื่อเทียบกับปี 2019 ส่งผลให้แอปยอดนิยมอย่าง Tinder, Bumble และแอปอื่นๆ มีระดับ engagement สูงขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว จากการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนถึงขณะนี้ ตลาดแอปหาคู่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตามการคาดการณ์ของ Statista มูลค่าตลาดแอปหาคู่อาจสูงถึง 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท ภายในสิ้นปี 2024 โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.1% และอาจมีมูลค่าถึง 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6.3 แสนล้านบาท ภายในปี 2032 ตามรายงานของ Grand View Research
หนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตนี้ คือ การใช้งานแอปหาคู่ในกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แอป Grindr มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ต้นปี 2023 ในขณะที่แอป Feeld ซึ่งเน้นไปที่ชุมชนเฉพาะกลุ่ม เช่น เกย์ หรือผู้ที่สนใจในความสัมพันธ์แบบมากกว่าหนึ่งคน ก็มีจำนวนผู้ใช้และรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ แอปหาคู่หลายๆ แพลตฟอร์มยังได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น การวิดีโอคอล การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) และการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น รวมถึงการขยายตลาดโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าตลาดแอปหาคู่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบัน กลับเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัว ความท้าทายต่างๆ ได้ส่งผลกระทบทางการเงินอย่างมากต่ออุตสาหกรรมแอปหาคู่ ส่งผลให้ผู้เล่นใหญ่ในตลาดอย่าง Tinder, Bumble และ Plenty of Fish ได้รับผลกระทบ
หุ้นของ Match Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Tinder ลดลงมากกว่า 80% นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 2021 ทำให้มูลค่าตลาดหายไปถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท รวมทั้ง จำนวนผู้ใช้แพ็คเกจเสียเงิน ก็ลดลงเหลือเพียงต่ำกว่า 10 ล้านคน
ในขณะเดียวกัน แอป Bumble ก็ประสบกับยอดดาวน์โหลดที่ลดลง รวมทั้ง มูลค่าของบริษัทหายไปถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.15 แสนล้านบาท ส่วน Plenty of Fish ก็เห็นยอดการใช้งาน active ที่ลดลงเช่นกัน
เหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายคนใช้งานแอปหาคู่น้อยลง คือ ความรู้สึก ‘เบิร์นเอาท์’ หรือภาวะหมดไฟในการใช้แอปหาคู่ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน สะท้อนได้จากการสำรวจโดย Bumble ที่พบว่า ผู้หญิงมากถึง 70% บนแพลตฟอร์มรู้สึกหมดไฟและเหนื่อยหน่าย ส่งผลให้ทั้งจำนวนผู้ใช้งาน และสมาชิกแบบชำระเงินบนแพลตฟอร์มลดลงตามไปด้วย
ตรงนี้เอง Forbes Health/OnePoll ได้ทำการสำรวจล่าสุด โดยชี้ให้เห็นว่า 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจจากการใช้แอปหาคู่ โดยภาวะหมดไฟนี้พบมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มักใช้แอปหาคู่และสื่อสารแบบดิจิทัลเป็นหลัก
โดยผลการสำรวจ ยังพบว่า ‘กลุ่มมิลเลนเนียล’ หรือกลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่รู้สึกหมดไฟมากที่สุด อยู่ที่ 80% ตามมาด้วย Gen Z 79%, Gen X 78%, และ Baby Boomers 70% สะท้อนเห็นได้ว่า ภาวะหมดไฟเกิดขึ้นในทุกกลุ่มอายุ แม้แต่ในกลุ่มที่มีความแตกต่างกันในด้านการใช้เทคโนโลยี
จากแบบสอบถาม บ่งชี้ว่า เหตุผลหลักที่ผู้ใช้งานรู้สึกเบิร์นเอาท์ คือ การไม่สามารถค้นหาความสัมพันธ์ที่ดีได้ (40%) ตามมาด้วยความผิดหวังจากพฤติกรรมของผู้คน (35%), รู้สึกถูกปฏิเสธ (27%), การสนทนาซ้ำๆ ขณะแชทกับหลายๆ คนพร้อมกัน (24%), การปัดซ้ายขวา (22%) และเวลาที่เสียไปกับการใช้แอป (21%)
Dr. Rufus Tony Spann นักบำบัดทางเพศและสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสุขภาพของ Forbes ตั้งข้อสังเกตว่า เทรนด์การออกเดทในปัจจุบัน อาจทำให้ผู้คนรู้สึกเหนื่อยหน่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการ ‘Ghosting’ หรือการที่อีกฝ่ายหยุดการสื่อสารกะทันหันโดยไม่มีคำอธิบาย ส่งผลกระทบต่อ 41% ของผู้ตอบแบบสอบถาม
อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ คือ การ ‘Catfishing’ หรือ การแอบอ้างว่าเป็นคนอื่นทางออนไลน์ พบได้ในผู้ใช้งานกว่า 38% ซึ่ง Dr. Spann ชี้ว่า การ Catfishing สามารถทำให้เกิดความเสียหายทางจิตใจและอารมณ์ได้อย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานหลายคนยังรู้สึกว่า อัลกอริธึมและ AI ของแอปหาคู่ ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาค้นหาหรือจับคู่กับคนที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ใช้บางคนพบว่า แม้จะพยายามใช้งานฟรี ก็พบข้อจำกัดในการจับคู่ ขณะที่ผู้ใช้งานที่จ่ายเงินซื้อแพคเกจระดับท็อป ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
ไม่เพียงเท่านี้ โซเชียลมีเดียอย่าง Instagram และ TikTok ถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มในการหาคู่ที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z ที่มองว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยให้เห็นภาพรวมของบุคคลที่สนใจได้ชัดเจนกว่า เช่น ลักษณะนิสัย ไลฟ์สไตล์ และความชอบต่างๆ ในแบบที่แอปหาคู่ไม่สามารถทำได้
แม้ว่าแอปหาคู่บางแอปจะอนุญาตให้ผู้ใช้งาน เชื่อมต่อกับบัญชีโซเชียลมีเดียของตน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวตร แต่สิ่งนี้ก็อาจทำให้ผู้ใช้ Gen Z บางคน ข้ามขั้นตอนการหาคู่ในแอปไป และเลือกที่จะใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารและออกเดทแทน ซึ่งยิ่งลดโอกาสในการใช้แอปหาคู่ลงไปอีก
หนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากปัญหาความรู้สึกหมดไฟจากการใช้แอปหาคู่ คือ การลดลงของยอด engagement บนแพลตฟอร์ม ที่เกิดจากการที่ผู้ใช้งานเข้ามาในแอปน้อยลง ตอบกลับข้อความช้าลง หรือบางครั้งหยุดใช้แอปไปเลย ซึ่งการลดลงนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการติดต่อ หรือจับคู่ระหว่างผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังสั่นสะเทือนไปถึงทั้ง ecosystem ของแพลตฟอร์มด้วย
นอกจากนี้ ภาวะเบิร์นเอาท์จากการใช้แอปหาคู่ ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแอปหาคู่โดยรวมอีกด้วย สะท้อนจากอัตราการต่ออายุแพคเกจที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยอัตราการหยุดใช้บริการแอปหาคู่อาจสูงถึง 50% ภายในเดือนแรกหลังจากเริ่มใช้งาน
ในขณะที่ ข้อมูลจาก Sensor Tower ยังชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา การเติบโตของการใช้จ่ายในแอปหาคู่กลับลดลง สะท้อนถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมนี้ต้องเผชิญด้วย
ดังนั้น เพื่อรับมือกับปัญหานี้ แพลตฟอร์มแอปหาคู่หลายแห่ง ได้ดำเนินการปรับกลยุทธ์เพื่อแก้ไขสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น Bumble และ Tinder ต่างก็ได้ออกฟีเจอร์และแนวทางใหม่ๆ เพื่อลดความรู้สึกเบิร์นเอาท์ของผู้ใช้งาน
Bumble ได้เปิดตัวฟีเจอร์ ‘Opening Moves’ ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มข้อความเตือนลงในโปรไฟล์ของตน เพื่อกระตุ้นให้คนที่อาจ match ด้วยตอบกลับได้ง่ายขึ้น ลดภาระในการเริ่มการสนทนา นอกจากนี้ Bumble ยังได้ปรับปรุงการฟิลเตอร์เนื้อหาด้วยการใช้โมเดลคอมพิวเตอร์วิทัศน์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับผู้ใช้งาน
ส่วน Tinder เริ่มใช้ AI ในการเลือกภาพจากอัลบั้มของผู้ใช้โดยอัตโนมัติ เพื่อแสดงถึงบุคลิกและไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานในโปรไฟล์ได้ดีที่สุด ฟีเจอร์นี้ช่วยลดอุปสรรคในการใช้แอป ทำให้ผู้ใช้งานสามารถรักษาโปรไฟล์ของตนได้ง่ายขึ้นและน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีขึ้นและลดความรู้สึกเบิร์นเอาท์จากการใช้แอป
ในขณะที่แอปหาคู่อื่นๆ เพิ่มฟีเจอร์มากมาย เช่น การจำกัดจำนวนการจับคู่ หรือข้อความที่ผู้ใช้งานจะได้รับในแต่ละวัน การออกเดทแบบช้า หรือ ‘slow dating’ ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แทนที่จะให้จับคู่เร็วๆ หรือแม้แต่ฟีเจอร์ ‘pause’ ที่ผู้ใช้งานสามารถหยุดการใช้บัญชีชั่วคราวหากรู้สึกเหนื่อย แล้วค่อยกลับมาอีกครั้งโดยที่ไม่ต้องลบบัญชี ข้อมูลอยู่ครบเหมือนเดิม
ในด้านของผู้ใช้งาน Dr. Spann แนะนำว่า ควรจำกัดเวลาการใช้แอปหาคู่ให้อยู่ที่ประมาณ 30 นาทีต่อวันเท่านั้น เนื่องจากการสำรวจ พบว่า ผู้ใช้งานโดยเฉลี่ย ใช้เวลาเกือบ 51 นาทีต่อวันในแอปหาคู่ โดยผู้หญิงใช้เวลาเฉลี่ย 52 นาที ซึ่งมากกว่าผู้ชายเล็กน้อยที่ 49 นาที
Dr. Spann เสริมด้วยว่า การใช้เวลานานเกินกว่า 30 นาทีต่อวันอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบิร์นเอาท์ เพราะฉะนั้น ผู้ใช้งานต้องใช้งานแอปหาคู่ในปริมาณที่พอเหมาะ หากการใช้แอปทำให้หลุดพ้นจากกิจกรรมที่มีความหมายอื่นๆ ในชีวิต หรือทำให้รู้สึกว่าคุณไม่สามารถหยุดคิดถึงแอปเมื่อไม่ได้ใช้งาน นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า “คุณกำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟจากการใช้แอป”
ที่มา Forbes, Financial Times 1, Financial Times 2, AP News, Statista 1, Statista 2, Grand View Research, CNN, Tinder, Time, Business Insider, Market Research Future