สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า Apple จะใช้จอแสดงผล OLED หรือ เทคโนโลยีจอภาพไดโอดเปล่งแสงอินทรีย์ สำหรับ iPhone ทุกรุ่นที่จำหน่ายในปีหน้า และปีถัดไปหลังจากนั้น รวมถึง รุ่นราคาต่ำอย่าง iPhone SE ที่เปลี่ยนมาใช้หน้าจอ OLED จากเดิมที่ใช้จอแสดง LCD แสดงผลแบบดิจิตอล
ข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันจากทาง Apple แล้ว ทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ กระทบถึงซัพพลายเออร์แผงจอแสดงผล LCD สัญชาติญี่ปุ่นทั้งสองราย นั่นก็คือ Japan Display (JDI) และ Sharp ที่เคยมีส่วนแบ่งรวมกันถึง 70% ในหน้าจอ iPhone เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน บริษัทจากเกาหลีใต้และจีนเป็นผู้ผลิตหน้าจอ OLED รายใหญ่ ซึ่ง Apple เริ่มสั่งซื้อจอแสดงผล OLED สำหรับ iPhone SE รุ่นใหม่จาก BOE Technology Group ของจีนและ LG Display ของเกาหลีใต้แล้ว ทำให้ Samsung Electronics มีส่วนแบ่งตลาดหน้าจอ OLED ของ iPhone ประมาณครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ LG Display มีส่วนแบ่งประมาณ 30% และ BOE อีก 20%
โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถือเป็นจุดสิ้นสุดของหน้าจอ LCD สำหรับรุ่น iPhone SE ทำให้ภายในปีหน้า iPhone SE ที่ถูกวางจำหน่าย จะมาพร้อมจอแสดงผล OLED เช่นกัน รวมถึง iPhone รุ่นปกติ และรุ่น Pro ระดับพรีเมียม ซึ่ง JDI และ Sharp ไม่ได้ผลิตหน้าจอ OLED สำหรับสมาร์ทโฟนเป็นจำนวนมาก จึงคาดว่า ความต้องการหน้าจอ LCD สำหรับ iPhone จะสิ้นสุดลง
สำหรับจอแสดงผล OLED สร้างภาพโดยใช้สารประกอบอินทรีย์ในสีแดง เขียว และน้ำเงิน ซึ่งเปล่งแสงออกมาเอง โดยไม่ต้องใช้ไฟแบ็คไลท์ จึงสามารถแสดงสีสันที่สดใส และความคมชัดที่คมชัดกว่า LCD ได้ ด้วยความต้องการสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น เพื่อรับชมภาพยนตร์ เล่นกีฬา และเล่นเกม Samsung จึงเริ่มจำหน่ายจอแสดงผล OLED เพื่อแทนที่ LCD ตังแต่ปี 2009
ในปี 2015 JDI และ Sharp ส่งมอบจอ LCD ให้กับ iPhone เกือบ 200 ล้านจอต่อปี แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงนับตั้งแต่ที่ Apple เปลี่ยนมาใช้จอแสดงผล OLED ครั้งแรกใน iPhone X ในปี 2017 และได้เปลี่ยนจากจอ LCD มาเป็น OLED สำหรับรุ่นพรีเมียม ทำให้ในปี 2023 การส่องมอบจอ LCD เหลือเพียงประมาณ 20 ล้านจอ
Omdia บริษัทวิจัยตลาดในอังกฤษ รายงานว่า จอแสดงผล OLED จะแซงหน้าหน้าจอ LCD ในด้านจำนวนแผงที่จัดส่งให้กับสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรกในปีนี้ เนื่องจาก Apple คาดว่า จะลดการซื้อ LCD ลงอีก หลัง iPad และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็เริ่มใช้หน้าจอ OLED ขั้นสูงด้วย
ครั้งหนึ่ง JDI และ Sharp เคยพึ่งพา Apple อย่างมาก ในฐานะลูกค้าหลัก โดยเฉพาะในช่วงที่ยอดขาย iPhone เพิ่มสูงขึ้น บริษัทเหล่านี้ได้ขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของ Apple โดยเน้นไปที่จอ LCD สำหรับ iPhone เป็นหลัก อย่าง JDI เคยทำรายได้ถึง 60% จากการผลิตจอ LCD ให้ Apple
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยี OLED ส่งผลให้เกิดกำลังการผลิตจอ LCD ที่เกินความต้องการ ส่งผลกระทบต่อ JDI เป็นอย่างมาก และเผชิญกับการขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากความต้องการในจอ LCD ลดลง
ถึงแม้ JDI จะกำลังพัฒนาจอ OLED ที่ประหยัดพลังงาน แต่ปัจจุบันบริษัทส่งมอบจอ OLED ขนาดเล็กสำหรับผลิตภัณฑ์เช่น Apple Watch เท่านั้น ทำให้ JDI หันไปปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ โดยเน้นไปที่จอ LCD สำหรับแอปพลิเคชันในยานยนต์ ซึ่งยังคงมีความต้องการอยู่
ในทำนองเดียวกัน Sharp ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดเช่นกัน โดยบริษัทได้เริ่มลดขนาดธุรกิจจอ LCD ลง และหยุดการผลิตที่โรงงาน Sakai ในโอซาก้า ที่ผลิตจอ LCD ขนาดใหญ่สำหรับทีวี รวมถึงลดกำลังการผลิตที่โรงงาน Kameyama ในจังหวัดมิเอะ
การดำเนินการเหล่านี้ สะท้อนถึงความท้าทายที่ผู้ผลิตญี่ปุ่นต้องเผชิญในการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการจอ LCD ที่ลดลง และการครอบงำของเทคโนโลยี OLED ในตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค
ที่มา Nikkei Asia