‘โซเชียลมีเดีย’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คน จากการใช้งาน ตั้งแต่ลืมตาตื่นนอน จนกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศ ในยุคที่โลกกำลังก้าวสู่ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’
‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ ซึ่งรวมถึง บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีการเติบโตสูง สวนกระแสสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สอดคล้องกับจนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศไทยที่มีถึง 50 ล้านคน หรือมากถึง 71.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
โดย 30% ของเป็นกลุ่มคนอายุ 18-24 ปี และ 40% ของเป็นกลุ่มคนอายุ 25-34 ปี มองตอนเองเป็นคอนเทนต์ครีเตอร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ กลายเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับคนไทย
คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore เผยว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์เกือบ 9 ล้านคน แบ่งเป็นครีเอเตอร์แบบ Full-time กว่า 2 ล้านคน และ Part-time เช่น Micro-influencers ที่มีผู้ติดตามในช่วง 1,000-20,000 คน โดยทั้งหมดนี้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในไทยมากกว่า 45,000 ล้านบาทในปี 2567”
ส่วนคอนเทนต์ครีเอเตอร์ระดับโลก ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 200 ล้านคน จากจำนวนประชากรโลกกว่า 7,000 ล้านคน โดยมูลค่าตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลกในปี 2567 ถูกประมาณการไว้ที่ 5.5 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตถึง 16 ล้านล้านบาทภายในปี 2030 ซึ่งยังไม่รวมตลาดของประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม แม้คอนเทนต์ครีเอเตอร์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำการตลาด ทั้งการช่วยสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์และสินค้าหรือบริการในเชิงบวก (Brand Awareness) ช่วยสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) กับกลุ่มเป้าหมาย และช่วยกระตุ้นยอดขาย (Sales) แต่ ‘สุวิตา’ มองว่า ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน ขอบเขตของการนำเสนอเนื้อหาที่แน่ชัดที่นอกเหนือจากยอดเอนเกจเมนต์
ล่าสุด Tellscore ได้ร่วมมือกับ ‘ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา’ (FutureTales Lab by MQDC) และ ‘สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต’ (TIMS) ศึกษาแนวโน้มแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสื่อคอนเทนต์ ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ในอนาคต
โดยข้อมูลในปี 2567 พบว่า 88% ของ Gen Z ทั่วโลก เชื่อว่าการมีอยู่ของกลุ่มสังคมย่อยเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อชีวิตของพวกเขาอย่างมาก ทำให้การเติบโตของโซเชียลมีเดียเฉพาะทาง อย่าง Reddit, Discord, Roblox คาดว่า ส่งผลให้กลุ่มคนที่มีแนวคิด พฤติกรรม และงานอดิเรกคล้ายกัน มารวมตัวกันจนขยายเป็นชุมชนย่อยทางวัฒนธรรมและความเชื่อ
ซึ่งคอนเทนต์ที่ผลิตโดยผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย เช่น รีวิว บทความ และวิดีโอ ไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการมากกว่าคอนเทนต์จากแบรนด์ถึง 21% แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มคอนเทนต์แบบเปิด ซึ่งทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลมากขึ้นในโลกดิจิทัล ในปี 2567 การตลาดออนไลน์กว่า 62% พึ่งพาคอนเทนต์จากผู้ใช้งานโซเซียลมีเดีย
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-AI จะมีการเปลี่ยนแปลง จากผู้ช่วยสู่การเป็นเพื่อน ครู หรือคนในครอบครัว โดยคอนเทนต์จะมีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร และสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์-AI นวัตกรรมด้านภาษา และคอนเทนต์เฉพาะบุคคล จะเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างปฏิสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งขึ้น
ขณะที่การต่อสู้กับการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และข่าวปลอม มีผลกระทบต่อ ความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์ในสังคมดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลผิดเป็นสิ่งสำคัญ ต่อการสร้างความไว้วางใจจากผู้ชม ผลสำรวจใน ปี 2567 พบว่า 64% ของผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ทั่วโลก ได้รับข่าวปลอมอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
จากการศึกษาการมองการการณ์ไกลเบื้องต้น ทำให้ Tellscore ได้มุ่งสร้าง Ecosystem ผ่านการวิจัยเกี่ยวกับโอกาส และความท้าทายของอุตสาหกรรมนี้ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 20-30% แต่ยังขาดทิศทางที่ชัดเจน นิยามของคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ในบริบทของสื่อมวลชนยังคงไม่ชัดเจน
หากสามารถกำหนดนิยามและสร้างกลไกเชื่อมโยงกับสื่อมวลชนอย่างเหมาะสม จะสามารถช่วยคุ้มครองอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมนี้
Tellscore วิเคราะห์แนวโน้มของการทำคอนเทนต์เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและผู้บริโภค โดย ‘สุวิตา’ ระบุว่า จากปรากฏการณ์ ‘น้องหมีเนย’ หรือ Butterbear รวมถึง ‘น้องหมูเด้ง’ ที่เด้งไปทั่วโลก ได้นำไปสู่การดึงเม็ดเงินมหาศาลให้กับภาคท่องเที่ยว แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยอยู่ในภาวะ ‘เครียด’ โดยไม่รู้ตัว และต้องการคอนเทนต์ที่มอบความบันเทิง
ดังนั้น เทรนด์การทำคอนเทนต์ปี 2568 จะเพิ่มความท้าทายให้กับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์หลายคนก็ผันตัวมาเป็นแม่ค้าออนไลน์ด้วย ต้องสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความสนุก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความรู้ และโดนใจผู้ชมนำไปสู่การปิดการขาย
นอกจากปัจจัยด้านการนำเสนอเนื้อหาที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมายแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่จะสร้างรายได้ให้กับอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น คือ การเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งอินฟลูฯ ต้องก้าวให้ทัน เพราะแต่ละแพลตฟอร์ม จับกลุ่มผู้บริโภคต่างกัน รวมถึง การหาความรู้ด้านกลไกเศรษฐศาสตร์ เพื่อเข้าใจระบบเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงในการถูกหลอกให้รีวิวสินค้า หรือ ขายสินค้าที่ให้ค่าตอบสูงผิดปกติ