ทางการจีนสั่งปิด Deloitte หนึ่งในบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหญ่จากสหรัฐฯ เป็นเวลา 3 เดือน พร้อมเรียกปรับเป็นเงินจำนวน 211.9 ล้านหยวน หรือราว 1 พันล้านบาท เพราะพบว่า Deloitte ทำหน้าที่บกพร่องในการตรวจสอบบัญชีของบริษัท China Huarong Asset Management
จากการรายงานของ Bloomberg ทางการจีนพบว่า Deloitte ได้มีความผิดพลาดในการสอบทานบัญชีของ China Huarong Asset Management ในช่วงปี 2014-2019 หลังจากได้มีการเข้าไปตรวจสอบการทำงานในพื้นที่ การสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ และตรวจทานเอกสารที่เกี่ยวข้อง
China Huarong เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนที่ถูกก่อตั้งในปี 1999 เพื่อจัดการกับหนี้เสียหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย (ต้มยำกุ้ง) เมื่อปี 1997 และเป็น 1 ใน 4 บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน และมีธุรกิจหลักคือ การจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือ การรับซื้อหนี้เสียจากบริษัทที่กำลังปรับโครงสร้างมาเพื่อจัดการ ธุรกิจวาณิชธนกิจ หลักทรัพย์ กองทุน และอสังหาริมทรัพย์
ในปี 2021 China Huarong เคยประสบปัญหาผิดชำระหนี้ เพราะไม่มีสามารถทำกำไรได้มากพอมาชำระหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดในปี 2022 และทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเพื่ออุ้มบริษัทไว้ด้วยเม็ดเงินถึง 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โดยเบื้องต้นการออกมาสั่งพักการทำงานของบริษัทและสั่งปรับ Deloitte จะทำไปเพื่อทำโทษบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอจนทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ สื่อนอกเช่น The Economic Times และ Bloomberg มองว่าการลงโทษในครั้งนี้เป็นไปเพื่อ ‘ลดอำนาจของบริษัทตรวจสอบบัญชีจากสหรัฐฯ’ เพราะมีความกังวลว่าข้อมูลสำคัญของธุรกิจจีนอาจจะรั่วไหลไปยังคู่แข่งทางการค้าคือสหรัฐฯ ผ่านบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีเหล่านี้ได้
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐบาลจีน รวมไปกระทรวงการคลังได้ออกมาสั่งให้รัฐวิสากิจ หรือหน่วยงานในความดูแลของรัฐบาลจีน หยุดใช้บริการจาก ‘บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี Big 4’ หรือ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้แก่ PricewaterhouseCoopers (PwC), EY, Deloitte Touche Tohmatsu (Deloitte), และ KPMG เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล
โดยในปี 2021 บริษัท Big 4 ทำรายได้ในจีนรวมไปทั้งหมด 2.06 หมื่นล้านหยวน โดยคิดเป็นรายได้ของ Deloitte รายเดียว 4.2 พันล้านหยวน
ปัจจุบัน Deloitte เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์อุตสาหกรรมแห่งประเทศจีน (Industrial & Commercial Bank of China) และ China Unicom (China United Network Communications) ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีนที่มีฐานลูกค้าโทรศัพท์มือถือมากถึง 270 ล้านคน
ที่มา: Bloomberg, The Economic Times